คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1431/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5 บัญญัติว่า ไม่สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักร ไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก.ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใดให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาเมื่อไม้ยางนาถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยพระราชบกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 ไม้ยางนาจึงเป็นไม้อื่นตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจร่วมกันแปรรูปไม้ยางนาโดยใช้เลื่อยเลื่อยออกเป็นแผ่น รวม 9 แผ่น ปริมาตรเนื้อไม้ 1.52 ลูกบาศก์เมตร แล้วจำเลยร่วมกันมีไม้หวงห้ามดังกล่าวไว้ในความครอบครองภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ โดยมิได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานและมิได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48, 73, 74, 74 ทวิ,74 จัตวา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5, 17, 18 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518มาตรา 19, 28 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 116 ข้อ 4 และฉบับที่ 116 ข้อ 2 ริบของกลาง

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ไม้ยางนาของกลางเป็นไม้หวงห้ามโดยพระราชกฤษฎีกา จึงเป็นไม้หวงห้ามประเภทอื่น พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7, 48, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา(ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5, 17, 18 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19, 28ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 116 ข้อ 4 และฉบับที่ 11 ข้อ 2 ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 73 วรรคแรกฐานแปรรูปไม้หวงห้าม จำคุกคนละ 4 เดือนและปรับคนละ 800 บาท ฐานมีไม้แปรรูปหวงห้าม จำคุกคนละ 2 เดือน และปรับคนละ 600 บาท รวมจำคุกคนละ 6 เดือนและปรับคนละ 1,400 บาท ลดโทษคนละกึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 700 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ของกลางริบ

โจทก์อุทธรณ์ว่า ไม้ยางนาของกลางเป็นไม้ยางตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งต้องลงโทษตามมาตรา 73 วรรคสองศาลชั้นต้นลงโทษต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5 บัญญัติว่า”ไม้สักและไม้ยางทั่วไปในราชอาณาจักรไม่ว่าจะขึ้นอยู่ที่ใด เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ไม้อื่นในป่าจะให้เป็นไม้หวงห้ามประเภทใด ให้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา”และได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2505 มาตรา 4 บัญชีที่ 3อันดับ 106 กำหนดให้ไม้ยางนาเป็นไม้หวงห้าม ตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 ถ้าไม้ยางกับไม้ยางนาเป็นไม้อย่างเดียวกัน ก็หาจำเป็นจะต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้เช่นนี้อีกไม่ ดังนั้น เมื่อไม้ยางนาที่โจทก์ฟ้องถูกกำหนดให้เป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. โดยพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ไม้ยางนาจึงเป็นไม้อื่นตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 7 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 5

พิพากษายืน

Share