แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยทำสัญญาให้โจทก์รับทำการขายส่งสุราประเภทเสียภาษีรายเท ของโรงงานสุรา องค์การสุราของจำเลย ถ้าเดือนใดโจทก์เสียภาษีต่ำกว่าเดือนละ 5,499 เท โจทก์จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบจำนวนที่กำหนดไว้นั้น โดยโจทก์ต้องนำเงินค่าปรับไปชำระแก่จำเลยภายในวันที่ 22 ของเดือนถัดไป แต่ต่อมาเมื่อปรากฏว่าจำเลยยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระค่าปรับหลังจากวันที่ 22 ของเดือนถัดไป จึงถือได้ว่าจำเลยได้สละข้อสัญญาดังกล่าวเสียแล้ว ดังนั้นการที่โจทก์ชำระค่าปรับคลาดเคลื่อนไปจากเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จึงถือว่าโจทก์ผิดสัญญาหาได้ไม่ และเมื่อฟังได้ว่าจำเลยยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ชำระค่าปรับได้ภายในวันที่ 28 ของเดือนถัดไปอีก 2 เดือนจำเลยก็จะเรียกให้ชำระค่าปรับสำหรับเดือนพฤษภาคม 2509 ก่อนวันที่ 28 กรกฎาคม 2509 ไม่ได้ อย่างไรก็ดีเมื่อจำเลยมิได้ถือเอาการที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระค่าปรับในวันที่ 28 ตามที่กำหนดกันใหม่ มาเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญากับโจทก์ แต่คงยึดเอาข้อกำหนดในที่ประชุมกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2509เป็นหลักว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญา เพราะไม่ปฏิบัติการชำระค่าปรับตามข้อกำหนดในที่ประชุมดังกล่าวเช่นนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้รับทราบข้อกำหนดใหม่ในที่ประชุมเลย ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาตามข้อกำหนดในที่ประชุมนั้น การที่จำเลยถือเอาเหตุนี้มาบอกเลิกสัญญากับโจทก์จึงเป็นการไม่ควร เมื่อโจทก์ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการเลิกสัญญาประการใด จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน สำนวนแรกโจทก์นัดว่าจำเลยทำสัญญาให้โจทก์รับทำการขายส่งสุราประเภทเสียภาษีรายเทของโรงงานสุราองค์การสุราของจำเลย โดยมีข้อกำหนดว่าถ้าเดือนใดโจทก์เสียภาษีต่ำกว่าเดือนละ5,599 เท โจทก์จะต้องเสียค่าปรับเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบจำนวนที่กำหนดไว้นั้น โดยโจทก์จะต้องนำเงินค่าปรับไปชำระแก่จำเลยภายในวันที่ 22 ของเดือนถัดไปและต่อมาจำเลยยอมผ่อนเวลาให้ชำระค่าปรับ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2508 เป็นต้นไปภายในวันที่ 28 ของเดือนถัดไปอีก 2 เดือน แต่เจ้าหน้าที่ของจำเลยกลับกลั่นแกล้งโจทก์บังคับให้โจทก์ชำระเงินก่อนถึงกำหนดที่เปลี่ยนแปลงใหม่ดังกล่าว และบอกเลิกสัญญากับโจทก์ก่อนถึงกำหนดที่ตกลงกัน ทำให้โจทก์เสียหาย จึงขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหาย 4,970,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยยินยอมให้โจทก์ยืดเวลาชำระเงินค่าปรับโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
คดีที่สองจำเลยในสำนวนแรกมาเป็นโจทก์ ฟ้องโจทก์สำนวนแรกเป็นจำเลยที่ 1 และบริษัทสหธนาคารกรุงเทพเป็นจำเลยที่ 2 ว่า จำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาโดยชำระค่าภาษีสุราต่ำกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นเงิน 1,314,614บาท 40 สตางค์ จึงขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินดังกล่าวและจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิด 739,065 บาท 60 สตางค์ เท่าที่ค้ำประกัน
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดนัดผิดสัญญาไม่ชำระค่าปรับดังที่โจทก์อ้าง แต่ถ้าศาลเห็นว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามฟ้องก็ขอให้หักกลบลบหนี้กับคดีสำนวนแรก
จำเลยที่ 2 ให้การว่ายังไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหรือไม่ จำเลยที่ 2จึงยังไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน โจทก์จึงยังไม่มีสิทธิฟ้อง
ในการรวมพิจารณาศาลฎีกาให้เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนคดีหรือเป็นโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ตามลำดับ และเรียกโจทก์คดีแรกเป็นจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 3,800,688 บาท 80 สตางค์กับดอกเบี้ย และยกฟ้องในสำนวนคดีหลัง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้โจทก์ทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,169,331บาท 20 สตางค์ ให้โจทก์ที่ 2 รับผิด 739,065 บาท 60 สตางค์ เท่าที่ค้ำประกันพร้อมทั้งดอกเบี้ย และยกฟ้องสำนวนคดีแรก
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ทั้งสองในชั้นต้นว่า จำเลยได้ตกลงผ่อนเวลาชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่ ซึ่งโจทก์และจำเลยนำสืบโต้เถียงกันอยู่ เมื่อได้พิเคราะห์ถึงกรณีความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่โรงงานสุราของจำเลย ซึ่งปล่อยให้น้ำที่บรรจุไว้ในถังข้างเคียงรั่วมาปนกับน้ำสุราที่บรรจุอยู่ ทำให้โจทก์ที่ 1 ถูกจับและหนังสือพิมพ์ลงโฆษณาการจับกุมโจทก์ที่ 1 ว่าเอาสุราผสมน้ำขาย ทำให้โจทก์ที่ 1 เสียหาย ประกอบกับก่อนเดือนสิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นเดือนก่อนที่โจทก์ที่ 1 ถูกจับฐานมีน้ำสุราปนน้ำโจทก์ที่ 1 ก็ไม่ได้ชำระค่าปรับตามกำหนดนั้น คือค่าปรับเดือนสิงหาคม 2508ชำระวันที่ 8 ตุลาคม 2508 และค่าปรับเดือนกันยายน ตุลาคม และพฤศจิกายน2508 โจทก์ที่ 1 ก็ยังไม่ได้ชำระ พฤติการณ์ส่อสมไปตามที่โจทก์นำสืบว่า ได้มีการตกลงกันด้วยว่าให้รอฟังคำสั่งจากสำนักนายกรัฐมนตรีก่อน ส่วนค่าปรับเดือนธันวาคม 2508 และเดือนต่อ ๆ ไปโจทก์ที่ 1 ก็ได้ชำระภายในวันที่ 28 ของเดือนถัดไปอีก 2 เดือน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.11 การที่กรมสรรพาสามิตจำเลยได้ยอมรับชำระค่าปรับจากโจทก์ที่ 1 โดยดีเช่นนี้รูปคดีจึงน่าเชื่อว่าจำเลยได้ตกลงผ่อนเวลาชำระค่าปรับให้แก่โจทก์ที่ 1 ดังที่โจทก์นำสืบอย่างไรก็ดีแม้ตามสัญญาข้อ 2.1 จะได้ระบุให้ชำระค่าปรับกรณีเสียภาษีสุราต่ำกว่าจำนวนโควต้าน้ำสุราที่กำหนดไว้ภายในวันที่ 22 ของเดือนถัดไปก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยได้ตกลงยอมผ่อนเวลาให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าปรับหลังจากวันที่ 22 ของเดือนถัดไปเช่นนี้แล้ว จึงฟังได้ว่าจำเลยได้สละสัญญาข้อ 2.1 เสียแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์ที่ 1 จะได้ชำระค่าปรับคลาดเคลื่อนไปจากเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเดิม จึงถือว่าโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาหาได้ไม่ และการชำระค่าปรับสำหรับเดือนพฤษภาคม 2509 ซึ่งเป็นเหตุพิพาทกันในคดีนี้ จำเลยจะเรียกให้โจทก์ที่ 1 ชำระก่อนวันที่ 28 กรกฎาคม 2509 ไม่ได้ คดีจะถือว่าโจทก์ที่ 1 ผิดสัญญาได้ก็ต่อเมื่อโจทก์ที่ 1 ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2509 นั้น สำหรับกรณีเกี่ยวกับการชำระค่าปรับภายในวันที่ 28 กรกฎาคม 2509 นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ได้นำเงินค่าปรับประจำเดือนพฤษภาคม 2509 ไปชำระให้แก่จำเลยที่แผนกรับเงินกองการสุรา กรมสรรพสามิต ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2509 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่รับเงินของจำเลยไม่อยู่ โดยไปช่วยงานศพมารดานายจรูญ ประกาศสุธการ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตที่อำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเสีย จึงไม่มีเจ้าหน้าที่รับเงินไว้ในวันนั้น ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้โดยละเอียดแล้ว จึงไม่จำต้องกล่าวซ้ำ อย่างไรก็ดีวันรุ่งขึ้นโจทก์ที่ 1 ก็ยังได้นำเงินค่าปรับดังกล่าวเป็นเช็คเงินสดไปชำระอีก นายสายหัวหน้ากองการสุรายอมออกใบนำส่งเช็คให้เพื่อให้เอาเช็คไปมอบให้แก่กองคลัง ก็พอดีโจทก์ที่ 1 ทราบว่าจำเลยได้เสนอขอเลิกสัญญาไปยังกระทรวงการคลังแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กรกฎาคม 2509 ซึ่งเป็นความจริง โจทก์ที่ 1 เห็นว่าจำเลยทำไม่ถูก จึงเอาเช็คและใบนำส่งกลับคืนมาแล้วร้องเรียนขอความเป็นธรรมไปยังกระทรวงการคลังทันทีว่า จำเลยขอเลิกสัญญากับโจทก์ก่อนกำหนด ซึ่งกระทรวงการคลังก็ได้รับพิจารณาคำร้องของโจทก์ที่ 1 ด้วยดี ดังนี้ พฤติการณ์ของโจทก์ที่ 1 ดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงถึงเจตจำนงอันแน่วแน่ที่จะชำระค่าปรับนั้นแก่จำเลยโดยสุจริต ภายในกำหนดเวลาที่ตกลงผ่อนผันกันใหม่ มิได้จงใจผิดสัญญาไม่ชำระค่าปรับแต่อย่างใด และหาใช่เป็นการเพทุบายของโจทก์ที่ 1 ที่ไม่ประสงค์จะชำระค่าปรับดังจำเลยกล่าวอ้างและนำสืบไม่ ตรงข้ามการที่จำเลยรายงานกระทรวงการคลังเพื่อขอเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 ก่อนวันที่หนี้ถึงกำหนดชำระนั้น กลับเป็นการแสดงว่ามีการกลั่นแกล้งจะเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 สนับสนุนข้อนำสืบของโจทก์ที่ว่าเจ้าหน้าที่ของจำเลยมีสาเหตุกับโจทก์ที่ 1 จริงดังกล่าวแล้วข้างต้นนั่นเอง จึงเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้โจทก์ยับยั้งการชำระเงินค่าปรับไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อรอฟังผลที่โจทก์ที่ 1 ร้องเรียนไปยังกระทรวงการคลัง ซึ่งในที่สุดเป็นผลให้รายงานของจำเลยในครั้งนั้นไม่ได้รับอนุมัติ เพราะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสั่งให้นัดประชุมพิจารณาเรื่องนี้ใหม่ การชำระค่าปรับที่ต้องขลุกขลักติดค้างนั้นเห็นได้ว่า เกิดจากความผิดของจำเลยเอง เพราะถ้าจำเลยไม่รายงานขอเลิกสัญญาไปยังกระทรวงการคลัง เหตุยับยั้งไม่ชำระค่าปรับย่อมไม่เกิด และเป็นที่แน่ว่าจำเลยจะได้รับชำระค่าปรับตามข้อตกลงผ่อนผันกันใหม่นั้นอย่างไม่มีปัญหาอย่างไรก็ดี แม้โจทก์ที่ 1 จะยังไม่ได้ชำระค่าปรับในวันที่ 28 ตามที่กำหนดกันใหม่จำเลยก็มิได้ถือเอาเหตุอันนี้มาเป็นข้อสำคัญในการบอกเลิกสัญญากับโจทก์ตามฟ้องของจำเลยแต่อย่างใด จำเลยคงยึดเอาข้อกำหนดในที่ประชุมของกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2509 เป็นหลักการสำคัญในการฟ้องว่า โจทก์ที่ 1ประพฤติผิดสัญญา โดยจำเลยได้อ้างว่าได้บอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2509 เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติการชำระค่าปรับตามข้อกำหนดในที่ประชุมของกระทรวงการคลัง ปัญหาตามฟ้องของจำเลยเกี่ยวกับเรื่องนี้โจทก์ที่ 1 และจำเลยต่างนำสืบโต้เถียงกันว่า โจทก์ที่ 1 ได้รับทราบข้อกำหนดและเงื่อนไขในการชำระค่าปรับก่อนที่จะมีการบอกเลิกสัญญากันแล้วหรือยังโดยจำเลยนำสืบว่าในวันนัดประชุมที่กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม2509 นั้น โจทก์ได้เข้าประชุมด้วย แต่โจทก์นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าประชุมและไม่เคยรับทราบผลการประชุมข้อเท็จจริงเรื่องนี้ปรากฏตามบันทึกรายงานการประชุมตามเอกสารหมาย ล.30 ว่า มีผู้เข้าประชุมรวม 4 คน คือ 1.นายเสริมวินิจฉัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง 2.นายบุญมา วงศ์สวรรค์ ปลัดกระทรวงการคลัง 3. ม.ร.ว.ทันพงษ์ กฤดากร อธิบดีกรมสรรพสามิต 4.นายสาย รัตนสมบัติ หัวหน้ากองการสุรา ที่ประชุมได้มีมติให้โจทก์ปฏิบัติการดังนี้
1. ให้นำเงินค่าปรับงวดเดือนมิถุนายน 2509 เป็นเงิน 192,755 บาท20 สตางค์ พร้อมกับดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี และค่าปรับงวดเดือนกรกฎาคม2509 เป็นเงิน 193,555 บาท 20 สตางค์ มาชำระภายในวันที่ 22 สิงหาคม 2509ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ก็ให้บอกเลิกสัญญา
2. เมื่อปฏิบัติตามข้อ 1. แล้ว ในวันที่ 24 สิงหาคม 2509 บริษัทฯ จะต้องหาธนาคารมาค้ำประกันเงินค่าปรับที่ค้างเก่างวดเดือนกันยายน 2508 จำนวน207,955 บาท 20 สตางค์ ตุลาคม 2508 จำนวน 198,355 บาท 20 สตางค์พฤศจิกายน 2508 จำนวน 198,355 บาท 20 สตางค์ และพฤษภาคม 2509จำนวน 178,355 บาท 20 สตางค์ รวมเดือนเป็นเงิน 783,020 บาท 80 สตางค์พร้อมทั้งดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากวันถึงกำหนดชำระของแต่ละจำนวนส่วนแบบหนังสือค้ำประกันให้ใช้ตามแบบที่กรมสรรพสามิตกำหนด ถ้าไม่จัดให้ธนาคารเป็นผู้ค้ำประกันก็ให้บอกเลิกสัญญา
3. เงินค่าปรับและดอกเบี้ยตามข้อ 2 บริษัทฯ จะต้องชำระให้กรมสรรพสามิตภายในวันที่ 30 กันยายน 2509 ถ้าไม่ชำระตามกำหนดนี้ก็ให้บอกเลิกสัญญา
ศาลฎีกาพิจารณาปัญหาข้อนี้แล้วเห็นว่า หากนายจำรัส ตันติวณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 1 ได้เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2509 ด้วยจริง บันทึกตามเอกสารหมาย ล.30 ก็น่าจะจดลงไว้ตรงหัวข้อผู้เข้าประชุมว่า มีนายจำรัส ตันติวณิชย์ ด้วยอีกผู้หนึ่งเป็นคนที่ 5 ไม่น่าจะจดว่าผู้เข้าประชุมมีเพียง 4 คน โดยไม่ระบุชื่อนายจำรัส ตันติวณิชย์ ลงไว้เหมือนผู้เข้าประชุมคนอื่น และเห็นว่าเป็นการผิดวิสัยที่ทางราชการจะเชิญให้นายจำรัส ตันติวณิชย์ ซึ่งมีส่วนได้เสียโดยตรงเกี่ยวกับการชำระค่าปรับเข้าร่วมนั่งประชุมฟังการถกเถียงด้วย เพราะเป็นเรื่องราชการโดยตรง ไม่น่าจะยอมให้นายจำรัส ตันติวณิชย์ มีส่วนได้ถกเถียงว่าควรจะให้ตนชำระค่าปรับอย่างไร ในบันทึกการประชุมตามเอกสารหมาย ล.30 ก็ไม่มีลายมือชื่อนายจำรัส ตันติวณิชย์ เซ็นรับรองความถูกต้องหรือรับทราบข้อกำหนด ยิ่งกว่านั้นพยานจำเลยยังเบิกความเจือสมเป็นประโยชน์แก่โจทก์อีก คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เบิกความว่า การประชุมในวันนั้นเป็นการประชุมเฉพาะกรมสรรพสามิตกับกระทรวงการคลัง ไม่เคยที่จะเรียกคู่สัญญามาวางเงื่อนไข เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่โดยเฉพาะ และอธิบดีกรมสรรพสามิตเบิกความว่าในการประชุมของทางราชการ ผู้มีส่วนได้เสียจะเข้าประชุมด้วยไม่ นอกจากนี้พยานจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับทราบมติที่ประชุมอย่างไรก็เบิกความแตกต่างขัดกันในสารสำคัญ เช่นอธิบดีกรมสรรพสามิต เบิกความว่าที่ประชุมลงมติเสร็จการประชุมแล้วจึงเรียกนายจำรัสเข้าไป แล้วแจ้งมติที่ประชุมให้นายจำรัสทราบและปฏิบัติ แต่ปลัดกระทรวงการคลังเบิกความว่า เริ่มการประชุมมีผู้เข้าประชุม 6 คน ได้มีการซักไซ้เล่เลียงกันก่อนแล้วจึงเขียนเงื่อนไข ผู้ถูกซักไซ้คือนายจำรัสกับอธิบดีกรมสรรพสามิต และหัวหน้ากองการสุรา นายจำรัสกลับพร้อมกับคนอื่น ๆ ภายหลังเลิกประชุมแล้วแสดงว่านายจำรัสเข้าประชุมด้วยตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนหัวหน้ากองการสุรากลับเบิกความว่า นายจำรัสกับนายมนตรีเดินตามรัฐมนตรีเข้าไปในห้องประชุม รัฐมนตรีพูดทักทายและพูดกับคนทั้งสองอยู่ราว 15 นาที ก็ลากลับออกจากห้องประชุมไปทั้งสองคน แต่อธิบดีกรมสรรพสามิตว่าใช้เวลาในการประชุมจนเสร็จประมาณ45 นาทีถึง 1 ชั่วโมง พยานจำเลยตอนนี้เบิกความแตกต่างกันและขัดกันเองถึงเพียงนี้ แล้วจะให้ศาลรับฟังว่านายจำรัส ตันติวณิชย์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์ที่ 1 ได้รับทราบเงื่อนไขให้ชำระเงินค่าปรับ ซึ่งถ้าไม่ปฏิบัติตามนั้น กระทรวงการคลังก็ให้กรมสรรพสามิตเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 ได้อย่างไร อนึ่ง นายจรูญ ประกาศสุขการ รองอธิบดีกรมสรรพสามิตพยานจำเลยยังเบิกความอีกว่า การสั่งให้ผู้ขายส่งสุราปฏิบัติการหากไม่ปฏิบัติจะถูกเลิกสัญญานั้น เป็นเรื่องสำคัญมากตามระเบียบของกรมจะต้องทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานแสดงว่าผู้รับได้รับหนังสือนั้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าเท่าที่จำเลยนำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับทราบข้อกำหนดในการประชุม 3 ข้อดังกล่าวข้างต้นแล้ว ตรงกันข้ามรูปคดีน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่า วันประชุมนายจำรัสและนายมนตรีพยานโจทก์ได้ไปพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แต่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย เพราะจุดประสงค์ในการไปก็เพื่อจะขอทราบเรื่องที่ร้องเรียนไว้มากกว่า ซึ่งพอนายจำรัสกับพวกทราบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่ากำลังจะประชุมกันในวันนั้นก็พากันกลับ จนกระทั่งถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2509 โจทก์ที่ 1 จึงได้รับโทรเลขจากผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ขอเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2509 เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์มิได้รับทราบข้อกำหนด 3 ข้อมาก่อนเลย และการบอกเลิกสัญญานั้น โจทก์ก็ได้รับทราบเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2509 ซึ่งเป็นการล่วงเลยเวลาที่กำหนดให้โจทก์ชำระค่าปรับคือในวันที่ 22 สิงหาคม 2509 ตามข้อกำหนดข้อ 1 เสียแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ผิดสัญญา การที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ฉะนั้น เมื่อโจทก์ที่ 1 ได้รับความเสียหายเกี่ยวกับการเลิกสัญญาประการใด จำเลยย่อมต้องรับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ เรื่องค่าเสียหายของโจทก์นั้น โจทก์เรียกค่าเสียหายแบ่งออกเป็นสองตอนคือ นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2509 ซึ่งเป็นเดือนที่จำเลยบอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 จนถึงเดือนธันวาคม 2511 (น่าจะเป็นเดือนตุลาคม 2511) ตอนหนึ่ง และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2511 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาอีกตอนหนึ่ง โดยโจทก์ที่ 1 นำสืบว่า แม้โจทก์ที่ 1 จะได้ประมูลจำนวนโควต้าน้ำสุราสูงถึง 5,499 เท ต่อเดือน และถูกปรับเป็นเงินเท่ากับค่าภาษีสุราจนครบจำนวนที่กำหนดไว้ก็ตาม แต่โจทก์ที่ 1 ก็มิได้ขาดทุนหากแต่ยังได้กำไร ทั้งนี้เพราะโจทก์ที่ 1 ได้ขายส่งน้ำสุราแก่ร้านสาขาตามอำเภอในท้องที่ 7 อำเภอเป็นน้ำสุรา 2,500 เท ต่อเดือน ซึ่งถ้าร้านสาขาจำหน่ายน้ำสุราไม่ครบจำนวนที่ตกลงกัน ก็จะต้องเสียค่าปรับให้แก่โจทก์ที่ 1 เทละ 80 บาท ต้นทุนค่าน้ำสุราที่โจทก์ที่ 1 ซื้อมารวมกับค่าภาษีตกเทละ 109 บาท 80 สตางค์ โจทก์ขายส่งแก่ร้านสาขาจำหน่ายสุราเทละ 200 บาท โจทก์ที่ 1 ได้กำไรจากการขายส่งแก่ร้านสาขาเทละ 90 บาท กำไรที่ได้เป็นรายเทค่าปรับจากร้านสาขา เมื่อหักค่าภาษีรายเทออกเฉลี่ยแล้วจะได้กำไรเดือนละ 51,000 บาท เมื่อหักค่าใช้จ่ายของบริษัทแล้ว โจทก์ที่ 1 จะได้กำไรสุทธิประมาณเดือนละ 30,000 บาท คิดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2509 จะเป็นกำไรทั้งหมดประมาณ 6 แสนบาทเศษ สำหรับค่าเสียหายตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2511 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2512 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญา โจทก์ที่ 1 นำสืบว่าตามปกติการค้าสุราในระยะ 5 ปีที่ประมูลได้ ปีสุดท้ายจะเป็นปีที่ได้กำไรมากที่สุด โดยวิธีกักตุนสุราไว้ให้เต็มจำนวนโควต้าที่ประมูลไว้ เพราะเมื่อผู้อื่นประมูลการขายส่งสุราครั้งต่อไปได้จะต้องซื้อสุราที่ขายส่งคนก่อนซื้อไว้ หากไม่ซื้อผู้ขายส่งคนก่อนก็มีสิทธิขายสุราของตนได้เองจนหมด กล่าวคือตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2511 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2512 รวม 14 เดือน โจทก์ที่ 1 จะซื้อน้ำสุราครบจำนวนโควต้าเดือนละ 5,499 เท จะเป็นน้ำสุรา 76,000 กว่าเท ราคาต้นทุนทั้งน้ำสุราและภาษีเทละ 109 บาท 80 สตางค์ ขายเทละ 200 บาท จะได้กำไรเทละ 90 บาท 20 สตางค์ จึงรวมเป็นกำไร 6 ล้าน 9 แสนบาทเศษ ความข้อนี้พยานจำเลยก็รับรองว่าเป็นวิธีปฏิบัติในการค้าสุราซึ่งมีการกักตุนสุราไว้ขายในปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาจริง ทั้งสถิติการซื้อสุราของผู้ขายส่งสุราปีสุดท้ายตามเอกสารที่โจทก์ที่ 1 อ้างศาลหมาย จ.18 ถึง จ.21 เห็นได้ว่ามีการซื้อสุราเป็นจำนวนหลายหมื่นเท ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว สำหรับกรณีของโจทก์นี้ หากจำเลยไม่บอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ยังคงดำเนินการต่อไปจนถึงปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาโจทก์ที่ 1 ย่อมจะกักตุนน้ำสุราไว้ขายเองกำไรเป็นครั้งสุดท้ายก่อนเลิกค้าสุรากับจำเลยโดยไม่ต้องสงสัย สรุปแล้วตามที่โจทก์ที่ 1นำสืบมาดังกล่าวแล้วข้างต้นทั้งหมดนั้น มีเหตุผลเชื่อว่าหากจำเลยไม่บอกเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1 ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแล้ว โจทก์ที่ 1 น่าจะได้กำไรมีจำนวนใกล้เคียงกับที่โจทก์ที่ 1 นำสืบได้ ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยให้เหตุผลอย่างอื่นไว้โดยละเอียดอีกด้วย เห็นว่าไม่ต้องกล่าวซ้ำ จำเลยนำสืบหักล้างให้เห็นเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ประกอบกับเมื่อจำเลยเลิกสัญญากับโจทก์ที่ 1แล้วเปิดประมูลใหม่ ซึ่งในครั้งนี้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิประมูล ผู้ประมูลได้คนใหม่ก็กำหนดโควต้าถึงเดือนละ 5,333 เทใกล้เคียงกับที่โจทก์ที่ 1 ประมูลไว้เดิม ทั้ง ๆที่เหลือเวลาน้อยลงแล้ว แสดงว่าการขายส่งสุราของโจทก์ที่ 1 ต้องมีกำไรแน่จึงเป็นความเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 1 แต่คดีนี้โจทก์ที่ 1 ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนับตั้งแต่วันบอกเลิกสัญญาจนถึงปีสุดท้ายแห่งอายุสัญญาเป็นเงินทั้งสิ้น 4,970,000 บาท เท่านั้น อย่างไรก็ดีศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกักตุนสุราไว้ขาย โจทก์ที่ 1 จะต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก และหากผู้ขายส่งที่ประมูลได้ใหม่ไม่รับซื้อน้ำสุราที่กักตุนไว้หมดก็จะต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายมากเหมือนกัน เมื่อคำนวณโดยถี่ถ้วนแล้วเห็นควรให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 รวมเป็นเงิน 3 ล้านบาท เมื่อคิดหักกลบลบหนี้กับเงินค่าปรับที่โจทก์ที่ 1 ยังไม่ได้ชำระแก่จำเลยอยู่รวมเป็นเงิน 1,169,331 บาท 20 สตางค์ ออกแล้วจำเลยจึงต้องชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ 1อีกเป็นเงิน 1,830,668 บาท 80 สตางค์ (หนึ่งล้านแปดแสนสามหมื่นหกร้อยหกสิบแปดบาทแปดสิบสตางค์) ส่วนโจทก์ที่ 2 ผู้ค้ำประกันไม่ต้องรับผิดต่อจำเลย เพราะโจทก์ที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เว้นแต่ยอดเงินที่จำเลยต้องชำระให้โจทก์ ให้แก้เป็นจำนวนหนึ่งล้านแปดแสนสามหมื่นหกร้อยหกสิบแปดบาทแปดสิบสตางค์ ตามที่กำหนดใหม่