แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้จะต้องร้องภายในกำหนดระยะเวลาตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง กำหนดไว้ คือภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รับสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการ ซึ่งกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้แล้ว แต่มายื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเกินกำหนดเวลา 7 วันนับแต่วันดังกล่าว เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งจัดกลุ่มเจ้าหนี้เสียใหม่ตามคำร้องคัดค้านได้
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42 ตรี แผนฟื้นฟูกิจการต้องกำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน การที่แผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้การชำระหนี้ในกลุ่มเอเป็นการชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียนซึ่งมีผู้ให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่กิจการของกลุ่มลูกหนี้ตามวงเงินสินเชื่อใหม่ที่มีขึ้นตลอดอายุของแผนฯ จะได้รับชำระคืนเป็นลำดับแรกจากกระแสเงินสดของการบริหารกิจการของลูกหนี้ในวงเงินไม่เกิน 40 ล้านบาท ซึ่งธนาคาร ก. เป็นเจ้าหนี้รายเดียวที่ให้เงินทุนหมุนเวียนใหม่จำนวน 15 ล้านบาท หากไม่มีเงินทุนหมุนเวียนใหม่เพื่อปรับสภาพคล่องทางการเงินกิจการของลูกหนี้ก็จะมีปัญหาและต้องปิดกิจการก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการแผนฟื้นฟูกิจการจึงจำเป็นต้องจัดให้เจ้าหนี้เงินทุนหมุนเวียนรายใหม่ดังกล่าวได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ส่วนหนี้ของธนาคาร ก. จำนวน 15,138,768 บาท ซึ่งมิใช่เงินทุนหมุนเวียนใหม่คงได้รับการชำระหนี้ในกลุ่มอีเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงิน แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยมาตรา 90/42 ตรี
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/58(2) หมายความว่า การดำเนินการแบ่งทรัพย์สินจะต้องเป็นไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ในมาตรา 130(1) ถึง (6) ส่วนหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการ มิใช่ว่าหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) จะต้องแบ่งส่วนเท่า ๆ กัน มิฉะนั้นแล้วการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ก็จะไม่มีประโยชน์เมื่อเจ้าหนี้ไม่มีประกันทุกรายได้รับการจัดสรรชำระหนี้ต้นเงินเต็มจำนวนแล้ว ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการได้คำนึงถึงหลักการและทรัพย์ที่เป็นภาระจำนองหรือทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักในการประกอบกิจการย่อมได้รับการจัดสรรชำระหนี้ในเรื่องเงื่อนเวลาและดอกเบี้ยดีกว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ แต่สิทธิของเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันเพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการสามารถปฏิบัติไปได้โดยลูกหนี้ไม่ต้องปิดกิจการแผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยมาตรา 90/58(2)
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งให้นายเกรียง สูริบุตร เป็นผู้ทำแผน ต่อมาเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รายงานว่าในการประชุมเจ้าหนี้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 เพื่อปรึกษาว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติพิเศษยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ที่มีการแก้ไขแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46(2) ขอให้ศาลนัดพิจารณาแผนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ส่งแจ้งความกำหนดวันพิจารณาให้ผู้ทำแผน ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ทั้งหลายทราบโดยชอบแล้วตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/56
เจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านว่า เจ้าหนี้เป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) ซึ่งได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มอีและกลุ่มเอฟ แต่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มเจ้าหนี้สถาบันการเงินเช่นเดียวกันกลับได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มเอ กลุ่มอีและกลุ่มเอฟ ทั้งที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อรายใหม่ นอกจากนี้เจ้าหนี้ในกลุ่มเช่าซื้อ (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ไม่มีประกันก็ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มซี กลุ่มอี และกลุ่มเอฟในขณะที่เจ้าหนี้ในกลุ่มเช่าทรัพย์ (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 8) ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มอีและกลุ่มเอฟ ทั้งที่ทรัพย์ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาเช่าทรัพย์ต่างเป็นเครื่องจักรที่จำเป็นในการใช้ผลิตสินค้าเช่นเดียวกัน แผนฟื้นฟูกิจการจึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี เพราะมิได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันอยู่ในกลุ่มเดียวกัน และแผนฟื้นฟูกิจการไม่ชอบด้วยมาตรา 90/58 ประกอบมาตรา 90/46(2) เนื่องจากมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการฉบับนี้เป็นมติตามมาตรา 90/46(2) แต่ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนนี้หาได้เป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายทั้งนี้เพราะเจ้าหนี้ไม่มีประกันในแต่ละกลุ่มได้รับชำระหนี้ไม่เท่าเทียมกันทั้งลำดับก่อนหลังและสัดส่วนที่ได้รับชำระหนี้เพื่อให้ผลการลงมติสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรา 90/58(2)
ผู้ทำแผนยื่นคำชี้แจงว่า เหตุที่แผนฟื้นฟูกิจการจัดให้เจ้าหนี้ในกลุ่มเช่าซื้อ (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 7) ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มซี กลุ่มอีและกลุ่มเอฟ แต่ให้เจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) และเจ้าหนี้ในกลุ่มเช่าทรัพย์ (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 8) ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มอีและกลุ่มเอฟ เนื่องจากลูกหนี้จำเป็นต้องใช้เครื่องจักรที่เช่าซื้อมาประกอบการผลิตสินค้าซึ่งก่อให้เกิดรายได้ แม้ขณะนี้กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรที่เช่าซื้อยังมิได้ตกเป็นของลูกหนี้ก็ตาม แต่เมื่อลูกหนี้ได้ชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนหรือชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้นแล้ว กรรมสิทธิ์ในเครื่องจักรก็จะตกเป็นของลูกหนี้ทันที และเหตุที่ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มเอนอกเหนือจากกลุ่มอีและกลุ่มเอฟ ทั้งนี้เพราะธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้ให้วงเงินสินเชื่อจำนวน 15,000,000 บาท นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการจนถึงปัจจุบันและต่อไปในอนาคต จึงถือได้ว่าเป็นหนี้เงินทุนหมุนเวียนใหม่เฉพาะหนี้จำนวน 15,000,000 บาท เท่านั้นที่จะได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มเอ ส่วนหนี้อีกจำนวน 15,138,768 บาท ยังคงได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มอีและกลุ่มเอฟเท่าเทียมกับเจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) รายอื่น นอกจากนี้เจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มอื่นไม่ว่าจะเป็นเจ้าหนี้ในกลุ่มเช่าซื้อ เจ้าหนี้ในกลุ่มที่มีทรัพย์ของบุคคลภายนอกจดทะเบียนจำนองเป็นประกันและเจ้าหนี้ในกลุ่มที่ไม่มีทรัพย์ของบุคคลภายนอกเป็นประกันล้วนได้รับชำระหนี้ในส่วนที่เป็นต้นเงินเต็มจำนวนทุกราย หากจะแตกต่างกันไปบ้างก็เฉพาะในเรื่องของเงื่อนเวลาและดอกเบี้ยที่ได้รับหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการจนถึงการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ทั้งนี้โดยคำนึงถึงหลักการในเรื่องทรัพย์ที่เป็นภารจำนองหรือทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการที่จะได้รับการชำระหนี้ภายในเงื่อนเวลาและดอกเบี้ยที่ดีกว่าเจ้าหนี้ไม่มีหลักประกันใด ๆ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ
เจ้าหนี้อุทธรณ์ โดยอธิบดีผู้พิพากษาศาลล้มละลายกลางอนุญาตให้อุทธรณ์เป็นหนังสือ
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า “ที่เจ้าหนี้อุทธรณ์เป็นประการแรกว่า แผนฟื้นฟูกิจการได้แยกเจ้าหนี้ในกลุ่มเจ้าหนี้เช่าซื้อให้ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มซี กลุ่มอีและกลุ่มเอฟ ในขณะที่เจ้าหนี้ไม่มีประกันในกลุ่มอื่น ๆ ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มอีและกลุ่มเอฟเท่านั้น อาทิเช่น เจ้าหนี้ในกลุ่มเจ้าหนี้เช่าทรัพย์ซึ่งให้เช่าทรัพย์ที่จำเป็นในการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับทรัพย์ที่เช่าซื้อก็คงได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มอีและกลุ่มเอฟ ถือได้ว่าเจ้าหนีไม่มีประกันที่มีสิทธิเรียกร้องหรือผลประโยชน์ที่มีสาระสำคัญเหมือนกันหรือทำนองเดียวกันได้รับการปฏิบัติไม่เท่าเทียมกัน เห็นว่า อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ดังกล่าวเป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิในการร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ทวิ วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า “เจ้าหนี้รายใดเห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามวรรคหนึ่ง อาจยื่นคำร้องขอต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม และศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องโดยเร็ว คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด” เช่นนี้ การร้องคัดค้านการจัดกลุ่มเจ้าหนี้จะต้องร้องภายในกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ กล่าวคือ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้การจัดกลุ่มเจ้าหนี้เป็นอันยุติก่อนที่จะมีการประชุมเจ้าหนี้เพื่อปรึกษาลงมติว่าจะยอมรับแผนหรือไม่ หรือจะแก้ไขอย่างไร เมื่อปรากฏว่าเจ้าหนี้ได้รับสำเนาแผนฟื้นฟูกิจการซึ่งได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ในหน้า 33 ถึงหน้า 35 และเอกสารแนบท้าย 5 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2544 ตามสำเนาใบตอบรับในประเทศ การที่เจ้าหนี้เพิ่งยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลในวันที่ 18 เมษายน 2544จึงเกินกำหนดระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ตามมาตรา 90/42 ทวิวรรคสอง เจ้าหนี้จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งจัดกลุ่มเจ้าหนี้เสียใหม่ตามคำร้องคัดค้าน อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการต่อไปมีว่า แผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า สิทธิของเจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) เช่นเดียวกันไม่ได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน โดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายเดียวในกลุ่มสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) ที่ได้รับการจัดชำระหนี้ในกลุ่มเอ จำนวน 15,000,000 บาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อรายใหม่นั้น เห็นว่า ตามแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้การชำระหนี้ในกลุ่มเอเป็นการชำระหนี้เงินทุนหมุนเวียน ซึ่งมีผู้ให้สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนแก่กิจการของกลุ่มลูกหนี้ตามวงเงินสินเชื่อใหม่ที่มีขึ้นตลอดอายุของแผนฟื้นฟูกิจการจะได้รับชำระคืนเป็นลำดับแรกจากกระแสเงินสดของการบริหารกิจการของลูกหนี้ในวงเงินไม่เกิน 40,000,000 บาท ซึ่งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าหนี้รายเดียวทีให้เงินทุนหมุนเวียนใหม่จำนวน 15,000,000 บาท เพื่อให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องทางด้านการเงิน หากไม่มีเงินทุนหมุนเวียนใหม่เพื่อปรับสภาพคล่องทางด้านการเงิน กิจการของลูกหนี้ก็จะมีปัญหาและต้องปิดกิจการก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการ นอกจากนี้ในการขอใช้เงินทุนหมุนเวียนใหม่ ผู้ทำแผนได้ยื่นคำร้องขอทำธุรกรรมต่อศาลล้มละลายกลาง ซึ่งได้ไต่สวนและอนุญาตให้ใช้เงินทุนหมุนเวียนใหม่ในระหว่างการจัดทำแผนจำนวน 36,000,000 บาท แต่ผู้ทำแผนขอใช้เงินทุนหมุนเวียนใหม่เพียง15,000,000 บาท เท่านั้น แผนฟื้นฟูกิจการจึงจำเป็นต้องจัดให้เจ้าหนี้เงินทุนหมุนเวียนรายใหม่ดังกล่าวได้รับชำระก่อนเจ้าหนี้อื่น ๆ ส่วนหนี้ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 15,138,768 บาท ซึ่งมิใช่เงินทุนหมุนเวียนใหม่คงได้รับการชำระหนี้ในกลุ่มอีเช่นเดียวกับเจ้าหนี้ในกลุ่มสถาบันการเงิน (เจ้าหนี้กลุ่มที่ 3) ดังนั้น สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันจึงได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน แผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/42 ตรี แล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของเจ้าหนี้ประการสุดท้ายว่า แผนฟื้นฟูกิจการชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2) หรือไม่ เจ้าหนี้อุทธรณ์ว่า ในกรณีที่มติยอมรับแผนของที่ประชุมเจ้าหนี้เป็นมติตามมาตรา 90/46(2) ข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการจะต้องเป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย ซึ่งในการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เจ้าหนี้ไม่มีประกันทุกรายจะต้องได้รับชำระหนี้เท่าเทียมกันตามสัดส่วนจำนวนหนี้ของตนจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ ทั้งนี้เพื่อให้ผลการลงมติดังกล่าวสอดคล้องกับข้อกำหนดตามมาตรา 90/58(2) เห็นว่า ตามบทบัญญัติมาตรา 90/58(2) หมายความว่า การดำเนินการแบ่งทรัพย์สินจะต้องเป็นไปตามลำดับบุริมสิทธิที่กำหนดไว้ในมาตรา 130(1) ถึง (6) ส่วนหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) จะได้ส่วนแบ่งอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามการจัดกลุ่มเจ้าหนี้และข้อกำหนดในแผนฟื้นฟูกิจการมิใช่ว่าหนี้อื่น ๆ ตามมาตรา 130(7) จะต้องแบ่งเป็นส่วนเท่า ๆ กัน มิฉะนั้นแล้วการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ก็จะไม่มีประโยชน์ เมื่อเจ้าหนี้ไม่มีประกันตั้งแต่กลุ่มที่ 3 ถึงกลุ่มที่ 11 ทุกรายได้รับการจัดสรรการชำระหนี้ต้นเงินเต็มจำนวน จะลดหลั่นกันเฉพาะในเรื่องเงื่อนเวลาและดอกเบี้ยที่ได้รับหลังจากที่ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการจนถึงการชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ทั้งนี้แผนฟื้นฟูกิจการได้คำนึงถึงหลักการและทรัพย์ที่เป็นภารจำนองหรือทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักในการประกอบกิจการย่อมได้รับการจัดสรรชำระหนี้ในเรื่องเงื่อนเวลาและดอกเบี้ยดีกว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันใด ๆ แต่สิทธิของเจ้าหนี้ไม่มีประกันที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกัน เพื่อให้แผนฟื้นฟูกิจการสามารถปฏิบัติไปได้โดยลูกหนี้ไม่ต้องปิดกิจการ แผนฟื้นฟูกิจการจึงชอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58(2) ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของเจ้าหนี้ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน