แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา มิใช่ว่าจะเป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) จึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี
วันที่ 1 มีนาคม 2534 โจทก์และ ส. ทำพิธีสมรสและอยู่กินฉันท์สามีภริยาวันที่ 6 ตุลาคม 2535 โจทก์และ ส. ซื้อที่ดินและอาคารพาณิชย์พิพาท ระหว่างนั้นโจทก์และ ส. มีบุตรด้วยกัน 3 คน โดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2536 ส. ได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาท วันที่ 22 เมษายน 2537 โจทก์และ ส. จดทะเบียนสมรสกัน วันที่ 10 มีนาคม 2540 โจทก์และ ส. ได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไป การขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์และ ส. ใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ และผู้ขายเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย อยู่กินด้วยกันมาตลอดโดยฝ่ายหนึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่เป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เลขที่ 02009090-25461007-006-00013 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.2/8/25/47 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2547
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษาให้แก้ไขการประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 02009090-25461007-006-00013 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ สภ.2/อธ.2/8/25/47 ลงวันที่ 22 มีนาคม 2547 โดยให้โจทก์รับผิดในค่าภาษีและเงินเพิ่มรวมเป็นจำนวน 171,600 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 โจทก์และนายสมชาย ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 209464 และ 209465 ตำบลสวนหลวง (บางจาก) อำเภอพระโขนง จังหวัดกรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 2 คูหา เลขที่ 1653 และ 1655 ต่อมาวันที่ 22 เมษายน 2537 โจทก์และนายสมชายจดทะเบียนสมรสกัน และวันที่ 10 มีนาคม 2540 โจทก์และนายสมชายได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้นายสมบูรณ์และนางยุนีย์ ผดุงวัฒนธรรม ในราคา 5,200,000 บาท โจทก์และนายสมชายไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงได้ประเมินให้เสียภาษีโดยให้นายสมชายในฐานะผู้จัดการคณะบุคคลเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ 156,000 บาท เงินเพิ่ม 156,000 บาท และภาษีบำรุงเทศบาล 31,200 บาท รวมเป็นเงินภาษีที่ต้องชำระทั้งสิ้น 343,200 บาท ตามหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 นายสมชายผู้จัดการคณะบุคคลได้อุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เห็นว่า นายสมชายมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอาคารพาณิชย์ เกิน 1 ปี ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงวินิจฉัยให้ปลดภาษีสำหรับนายสมชาย และวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์สำหรับโจทก์ โดยให้โจทก์ชำระภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะคณะบุคคลต่อจำเลยตามจำนวนที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 เป็นเงิน 343,200 บาท
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยอุทธรณ์ว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยปลดภาษีสำหรับนายสมชายจะเป็นผลให้โจทก์ได้รับประโยชน์เท่ากับส่วนที่นายสมชายได้รับการปลดภาษีกึ่งหนึ่งตามที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์อ้างว่า คณะบุคคลเป็นหน่วยภาษีต่างหากจากบุคคลธรรมดาที่ประมวลรัษฎากรบัญญัติขึ้นเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากรอันเป็นรายได้ของรัฐ เมื่อคณะบุคคลมีเงินได้พึงประเมินจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชำระภาษีในฐานะคณะบุคคล และบุคคลในคณะบุคคลไม่ใช่ลูกหนี้ร่วม การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ปลดภาษีสำหรับนายสมชายไม่ใช่เป็นการปลดหนี้ แต่มีผลเพียงให้นายสมชายไม่มีหน้าที่ต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะต่อไปเท่านั้น แต่โจทก์ยังคงต้องรับผิดชำระภาษีธุรกิจเฉพาะในฐานะคณะบุคคลต่อจำเลยเต็มจำนวนโดยไม่มีการแบ่งแยก นั้น เห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 91/4 การประกอบกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ฯลฯ
(6) การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร ไม่ว่าอสังหาริมทรัพย์นั้นจะได้มาโดยวิธีใดก็ตาม ทั้งนี้ เฉพาะที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา…” ซึ่งในขณะที่โจทก์และนายสมชายจดทะเบียนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปนั้น พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244) พ.ศ. 2534 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า “ให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือ
หากำไรตามมาตรา 91/2 (6) แห่งประมวลรัษฎากร มีดังต่อไปนี้ ฯลฯ… (6) การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เข้าลักษณะตาม (1) (2) (3) (4) หรือ (5) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เว้นแต่…” แสดงว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มา มิได้เป็นการขายเป็นทางค้าหรือหากำไรเสมอไป พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าวจึงได้กำหนดข้อยกเว้นไว้บางกรณี การที่โจทก์และนายสมชายได้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องมาแล้วขายให้แก่บุคคลอื่นไป แม้จะถือว่าเป็นการขายตามประมวลรัษฎากร มาตรา 91/1 (4) ที่ได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์และนายสมชายทำพิธีสมรสและอยู่กินฉันท์สามีภริยามาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2534 ตามภาพถ่ายงานมงคลสมรส เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 2 เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2535 โจทก์และนายสมชายซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาคารพาณิชย์มาและจดจำนองไว้กับธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ระหว่างนั้นโจทก์และนายสมชายมีบุตรด้วยกัน 3 คน โดยทั้งหมดอาศัยอยู่ในอาคารพาณิชย์ดังกล่าว ต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2536 นายสมชายได้ย้ายทะเบียนบ้านเข้ามาอยู่ในอาคารพาณิชย์พิพาทตามสำเนาภาพถ่ายทะเบียนบ้าน เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 (แผ่นที่ 2) และเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2537 โจทก์และนายสมชายจดทะเบียนสมรสกัน ตามสำเนาภาพถ่ายใบสำคัญการสมรส เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 (แผ่นที่ 1) ต่อมาโจทก์และนายสมชายได้ขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไปเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540 ดังนั้น การขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์และนายสมชายใช้เป็นสถานที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ และผู้ขายเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายอยู่กินด้วยกันมาตลอดโดยฝ่ายหนึ่งมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมิใช่เป็นการขายที่เป็นทางค้าหรือหากำไรจึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรจึงไม่อาจพิพากษาให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยได้
อนึ่ง ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นอุทธรณ์มีเพียง 171,600 บาท ซึ่งจะต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 4,290 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เสียเกินมา 4,290 บาท แก่จำเลย”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่เสียเกินมาแก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.