แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หญ้าไม่ใช่พืชไร่ตามความหมายของคำนิยามศัพท์ของมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ การเช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ของโจทก์จึงมิใช่การเช่านาอันจะต้องมีการควบคุมตามมาตรา 22 ทั้งจะขยายความให้มีความหมายถึงการประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น นอกจากการเช่านาตามคำนิยามศัพท์ของคำว่าเกษตรกรรม มาตรา 5 หาได้ไม่ ดังนั้น เมื่อการเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นนอกจากการเช่านา แต่ขณะนี้ยังไม่มีการตรา พ.ร.ฎ.ควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นการเช่าที่ดินของโจทก์จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. นี้ โจทก์จะอ้างว่ามีสิทธิเช่าที่ดินพิพาทต่อไปจนครบ 6 ปี หาได้ไม่ เพราะกำหนดระยะเวลาการเช่า 6 ปี ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 26 ใช้เฉพาะการเช่านาอย่างเดียว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 บอกเลิกการเช่าจึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ส่งมอบที่ดินที่เช่าให้แก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน 328,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 306,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
ระหว่างพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 3 ซึ่งถึงแก่ความตายก่อนฟ้องออกจากสารบบความ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างสืบพยานโจทก์ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ตามคำร้องลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2545 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต ต่อมาระหว่างสืบพยานจำเลย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ของโจทก์ ตามคำร้องลงวันที่ 17 เมษายน 2546 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 31 มกราคม 2543) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 7 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ส่วนอุทธรณ์คำสั่งให้ยก คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ 700 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกนั้นให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาจึงให้ตั้งจำเลยที่ 7 บุตรจำเลยที่ 4 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 4 ผู้มรณะ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติโดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2538 โจทก์เช่าที่ดินพิพาท 4 แปลง ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามฟ้องซึ่งเป็นที่นาเพื่อปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์โดยไม่ได้กำหนดเวลาการเช่าไว้ แต่มีการทำสัญญาเช่ากันใหม่ปีต่อปีถึงปี 2540 โจทก์ประกอบเกษตรกรรมทดลองปลูกหญ้าพันธุ์ต่างประเทศในปี 2538 ภายหลังทำสัญญาเช่าฉบับแรก มีการเก็บเกี่ยวหญ้าไปขายและแจกบ้าง ต่อมาวันที่ 10 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 บอกเลิกการเช่าที่ดินพิพาทและให้โจทก์นำพืชผลของโจทก์ออกไปภายในเดือนธันวาคม 2541 โจทก์ทราบการบอกเลิกแล้ว ครั้นวันที่ 31 มกราคม 2542 จำเลยทั้งเจ็ดเข้าไปไถที่ดินพิพาท ทำให้หญ้าและต้นไม้ของโจทก์เสียหาย สำหรับค่าเสียหายซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ 20,000 บาท โจทก์ไม่ฎีกา
จึงเป็นอันยุติ
โจทก์ฎีกาข้อกฎหมายว่า พระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 ครอบคลุมถึงการเช่าที่ดินเพื่อประโยชน์ด้านการเพาะปลูกข้าว พืชไร่ พืชสวน ผลไม้ พืชหลัก เลี้ยงสัตว์บกสัตว์น้ำ ทำนาเกลือ และกิจการอื่น ตามมาตรา 5 และ 21 โจทก์ย่อมมีสิทธิเช่าที่ดินพิพาทจนครบ 6 ปี ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวการบอกเลิกการเช่าของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องอ้างว่าการเช่าที่ดินพิพาทเป็นการเช่านาตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 จึงต้องพิจารณาตามคำนิยามศัพท์ของมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ ดังกล่าว ซึ่งบัญญัติว่า “นา” หมายความว่า ที่ดินที่เช่าเพื่อทำนาทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ “ทำนา” หมายความว่า การเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ และ “พืชไร่” หมายความว่าพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและอายุสั้น หรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือนเมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่า ต้นหญ้าพันธุ์ต่างประเทศที่โจทก์ปลูกในที่ดินพิพาทมิได้มีอายุสั้น ปลูกครั้งเดียวก็ดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวใบหญ้าได้เป็นเวลานาน ศาลฎีกาจึงเห็นว่า หญ้าไม่ใช่พืชไร่ตามความหมายของคำนิยามดังกล่าวการเช่าที่ดินพิพาทเพื่อปลูกหญ้าเลี้ยงสัตว์ของโจทก์จึงมิใช่การเช่านาอันจะต้องมีการควบคุมตามมาตรา 22 ทั้งจะขยายความให้มีความหมายถึงการประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่น นอกจากการเช่านาตามคำนิยามศัพท์ของคำว่า “เกษตรกรรม” ตามมาตรา 5 หาได้ไม่ เพราะมาตรา 63 บัญญัติว่า “ในกรณีที่มีการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประเภทใดนอกจากการเช่านา… เมื่อรัฐบาลเห็นสมควรให้การเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทนั้นมีการควบคุมตามพระราชบัญญัตินี้… ก็ให้มีอำนาจกระทำได้โดยตราพระราชกฤษฎีกา” ดังนี้ เมื่อการเช่าที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นนอกจากการเช่านา แต่ปรากฏว่าขณะนี้ยังไม่มีการตราพระราชกฤษฎีกาควบคุมการเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรมประเภทอื่นการเช่าที่ดินของโจทก์จึงไม่อยู่ในความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้ โจทก์จะอ้างว่ามีสิทธิเช่าที่ดินพิพาทต่อไปจนครบ 6 ปี หาได้ไม่ เพราะกำหนดระยะเวลาการเช่า 6 ปี ซึ่งบัญญัติไว้ในมาตรา 26 ใช้เฉพาะการเช่านาอย่างเดียว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 บอกเลิกการเช่าชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ