แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 4 ไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงยอมรับทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันนี้กับจำเลยที่ 3 ทั้งๆ ที่น่าจะทราบดีว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 4 โดยไม่เปิดเผยชื่อตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำให้แทนตนก็ได้ สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีผลบังคับใช้ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์นำรถยนต์คันนี้ไปใช้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้ว และตามสัญญาประกันภัย หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 2.6 ระบุว่าการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดแต่จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์กำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิดเมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน บฉ 3535 ประจวบคีรีขันธ์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ฉ – 2505 กรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 3 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ฉ – 2505 กรุงเทพมหานคร โดยได้ทำสัญญาประกันวินาศภัยไว้กับจำเลยที่ 4 และจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ต่างเป็นนายจ้างหรือตัวการของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 โจทก์ขับรถของโจทก์คันหมายเลขทะเบียนข้างต้นไปตามถนนเพชรเกษมจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์มุ่งหน้าไปทางจังหวัดเพชรบุรี เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุบริเวณหมู่ที่ 2 ตำบลไร่ใหม่ กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขณะนั้นฝนกำลังตก จำเลยที่ 1 ซึ่งขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ฉ – 2505 กรุงเทพมหานคร ตามหลังรถยนต์ของโจทก์ด้วยความเร็วสูงได้ขับแซงทางด้านซ้ายของรถโจทก์ แล้วหักหลบรถจักรยานยนต์ซึ่งอยู่ในช่องทางซ้าย เข้ามาในช่องเดินรถของโจทก์โดยไม่ใช้ความระมัดระวัง โจทก์จึงต้องบังคับรถหลบไปทางด้านขวาเพื่อมิให้ชนกับรถที่จำเลยที่ 1 ขับ ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหลักหมุนไปกระแทกกับเสาไฟฟ้าซึ่งวางอยู่ที่ขอบถนนด้านซ้ายเสียหลักพลิกคว่ำ ส่วนรถที่จำเลยที่ 1 ขับเสียหลักพุ่งตกลงไปในช่องกลางถนน รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายต้องเสียค่าซ่อมแซมรถเป็นเงิน 163,940 บาท รถของโจทก์หลังจากถูกชนแล้วเสื่อมราคาและเสื่อมสภาพลงคิดเป็นค่าเสียหาย 70,000 บาท และโจทก์ยังขาดประโยชน์จากการที่ไม่ได้ใช้รถยนต์ในระหว่างที่ทำการซ่อมแซมเป็นเวลา 60 วัน โดยโจทก์ต้องจ้างรถยนต์รับจ้างไปบรรทุกสินค้ามาขายในร้านของครอบครัวโจทก์ และต้องเสียค่ายานพาหนะในการเดินทางไปทำงานของโจทก์เป็นเงินวันละ 500 บาท คิดเป็นค่าเสียหาย 30,000 บาท ทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ของโจทก์ 1 เครื่อง ราคา 20,820 บาท ได้สูญหายไปในขณะเกิดเหตุด้วย โจทก์ขอคิดค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่เพียง 15,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 278,940 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์แล้วจำเลยที่ 1 เพิกเฉยโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในเงินค่าเสียหายข้างต้น นับแต่วันเกิดเหตุถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 20,920 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 299,860 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 278,940 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 4 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2543 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ตกเป็นพับ
จำเลยที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 4 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จำเลยที่ 4 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว โจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงถึงที่สุด ต่อมาเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 ด้วย โจทก์จะกลับมาฎีกาขอให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 4 อีกมิได้ เพราะมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาของโจทก์ในข้อนี้คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ ตามคำให้การของจำเลยที่ 4 ยอมรับว่าจำเลยที่ 4 ได้รับประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ฉ – 2505 กรุงเทพมหานคร ไว้จริงโดยรับประกันภัยไว้ในประเภทรับประกันภัยค้ำจุนจากจำเลยที่ 3 แต่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะผู้เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และไม่ได้มีส่วนได้เสียในรถยนต์คันนี้ เห็นว่า ข้อเท็จจริงซึ่งรับฟังเป็นยุติแล้วว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 5 ฉ – 2505 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ยอมรับทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนไว้โดยมิได้โต้แย้งและมิได้ต่อสู้ว่าถูกจำเลยที่ 3 ฉ้อฉลให้เข้าใจผิด ตามปกติทั่วไปผู้รับประกันภัยรถยนต์จะต้องตรวจดูทะเบียนรถยนต์เพื่อให้ทราบว่าเป็นรถของผู้เอาประกันภัยหรือไม่และเป็นรถที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ การที่จำเลยที่ 4 ยอมรับทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันนี้ไว้จากจำเลยที่ 3 โดยไม่ปรากฏว่าถูกจำเลยที่ 3 ฉ้อฉลหลอกลวงแสดงว่าจำเลยที่ 4 ยอมรับสัญญาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวโดยเชื่อว่าเจ้าของรถยนต์ยินยอมให้จำเลยที่ 3 นำมาประกันซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า “จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของรถและเป็นภรรยาของข้าฯ นายละมุล จำเลยที่ 3 ในคดีนี้ ข้าฯ ไม่รู้จัก เกี่ยวกับรถที่ข้าฯ ขับไปนั้นมีอยู่ช่วงหนึ่งเพื่อนของข้าฯ ชื่อเล่นว่าเป๋ได้ยืมไปใช้ และเป็นช่วงที่ประกันภัยขาดอายุข้าฯ จึงมอบหมายให้นายเป๋ทำประกันภัยไว้ ซึ่งนายเป๋คนนี้จะเป็นจำเลยที่ 3 ตามที่โจทก์ฟ้องมาหรือไม่ ข้าฯ ก็ไม่ทราบ เพราะไม่รู้จักชื่อจริงของนายเป๋” และจำเลยที่ 4 ไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงยอมรับทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันนี้กับจำเลยที่ 3 ทั้งๆ ที่น่าจะทราบดีว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 4 โดยไม่เปิดเผยชื่อตัวการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำไว้แทนตนก็ได้ สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีผลบังคับใช้ได้การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์นำรถยนต์คันนี้ไปใช้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้ว และตามสัญญาประกันภัยหมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 2.6 ระบุว่าการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง หมายความว่า นอกจากรับผิดในกรณีที่ผู้เอาประกันภัยทำละเมิดต่อผู้อื่นแล้ว จำเลยที่ 4 ยังยอมรับผิดในกรณีที่จำเลยที่ 2 หรือที่ 3 ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ทำละเมิดเองแต่ผู้อื่นเป็นผู้ทำละเมิดโดยผู้นั้นได้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เอาประกันภัยด้วยดังนั้นแม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งอยู่ในฐานะผู้เอาประกันภัยจะไม่ต้องรับผิดในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้นก็ตามจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้รับประกันภัยก็ต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนต่อบุคคลภายนอก หากฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับขี่รถยนต์คันดังกล่าวขับขี่โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเป็นฝ่ายทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 4 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า ศาลฎีกาสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนในคดีให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 142,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ โจทก์ไม่อุทธรณ์ แสดงว่าโจทก์พอใจในคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่กำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาโดยไม่ได้แก้ไขจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้น้อยลงแต่อย่างใด โจทก์จึงไม่มีสิทธิฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษากำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ใหม่ได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาข้อนี้ของโจทก์มาศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดต่อโจทก์ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งมีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์เพียงแต่กำหนดวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิด ประกอบกับหนี้หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์ไม่ได้ทวงถามให้จำเลยที่ 4 ชำระหนี้ กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้มาก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 142,000 บาท ร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่สำหรับดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 4 ต้องชำระแก่โจทก์ให้นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 9,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์