คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2548

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (4) บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือเงินบำนาญ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี กรณีไม่อาจนำอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 มาบังคับได้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าเมื่อปี 2520 จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งสุดท้ายพนักงานรถพ่วงย่านบางซื่อ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 10,230 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน ต่อมาวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกสอบสวน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 ซึ่งในการสอบสวนวินัยโจทก์ คณะกรรมการสอบสวนวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีความผิด แต่คณะกรรมการฝ่ายการเดินรถต้นสังกัดของโจทก์ มีความเห็นให้โจทก์ออกจากงาน โจทก์อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์มีคำสั่งยืนตามคำสั่งของคณะกรรมการฝ่ายการเดินรถ คือ ให้โจทก์ออกจากงาน ภายหลังโจทก์ออกจากงานแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือติดต่อขอรับเงินตามสิทธิของโจทก์และตามข้อบังคับจำเลย ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 จำเลยได้จ่ายค่าชดเชยและคืนเงินกองทุนสงเคราะห์ให้โจทก์ แต่ไม่ยอมจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ให้แก่โจทก์ โจทก์มีระยะเวลาทำงานกับจำเลยเป็นเวลา 15 ปีเศษ มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือนโดยเฉลี่ยในอัตราเดือนละ 5,400 บาท นับตั้งแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 จนถึงวันฟ้อง รวมระยะเวลา 119 เดือน (9 ปี 11 เดือน) เป็นเงิน 642,600 บาท โจทก์ติดตามทวงถามแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธการจ่าย อ้างว่าโจทก์ยื่นเรื่องขอรับเงินบำนาญล่าช้าเกินกว่า 3 ปี โจทก์ได้ร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมแต่ได้รับแจ้งว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะยื่นเรื่องขอรับเงินล่าช้าเกินกว่า 3 ปี ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ต่อมาโจทก์ร้องเรียนต่อสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้รับแจ้งว่าจำเลยได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์แล้ว โจทก์เห็นว่าค่าชดเชยดังกล่าวไม่ใช่เงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ตามระเบียบของจำเลยและโจทก์เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่ข้าราชการพลเรือนไม่อาจนำพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาใช้บังคับกรณีโจทก์ได้ โจทก์จึงสามารถยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ได้ภายใน 10 ปี จำเลยจึงต้องจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ให้แก่โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จำนวน 642,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ที่จำเลยจะต้องจ่ายให้แก่โจทก์ในแต่ละงวดในทุกสิ้นเดือน จนกว่าจะชำระให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,610 บาท โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง จากการสอบสวนผู้เกี่ยวข้องปรากฏว่ามีมูลความจริง ฝ่ายการเดินรถจึงมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน คณะกรรมการสอบสวนได้ทำการสอบสวนเสนอเรื่องมาตามลำดับขั้นตอน จนเรื่องเข้าที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานด้านปกครอง เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2536 ที่ประชุมมีมติให้โจทก์ออกจากงานฐานมีมลทินหรือมัวหมองในกรณีที่ถูกกล่าวหา ฝ่ายการเดินรถจึงมีคำสั่งพักงานโจทก์และให้โจทก์ออกจากงานตามมติดังกล่าวตามลำดับตามคำสั่งลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 และลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ร้องทุกข์ขอความเห็นต่อคณะกรรมการรถไฟซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2536 มีมติเห็นชอบตามที่จำเลยได้พิจารณาและได้ดำเนินการไปแล้ว ให้ยกคำร้องโจทก์ ต่อมาวันที่ 15 ธันวาคม 2536 โจทก์นำคดีไปฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลาง ฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่ง อัตราค่าจ้าง สวัสดิการ และผลประโยชน์อื่น ๆ เช่นเดิมหรือดีกว่าและให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างจนถึงวันที่รับโจทก์กลับเข้าทำงาน หากไม่สามารถรับโจทก์เข้าทำงานได้ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 1,023,000 บาท กับค่าชดเชยเป็นเงิน 61,380 บาท จำเลยให้การปฏิเสธ ระหว่างสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อนโจทก์จำเลยร่วมกันแถลงว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะมีมลทินมัวหมอง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งโจทก์จะไปขอรับเงินดังกล่าวจากจำเลย โดยทนายจำเลยจะพาโจทก์ไปในวันนั้น โจทก์จึงฟ้องถอน โดยจำเลยไม่ค้าน ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้องและจำหน่ายคดีจากสารบบความ คดีถึงที่สุด ตามคดีหมายเลขแดงที่ 1058/2538 การที่โจทก์มาฟ้องคดีนี้โดยอาศัยมูลเหตุเดียวกันจึงเป็นการฟ้องซ้ำ ต้องห้ามตามกฎหมาย จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือของโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และไม่ถือว่าเป็นการยื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเพราะการขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน ตามระเบียบข้อบังคับจำเลย โจทก์จะต้องใช้แบบยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียวหรือรายเดือนตามที่จำเลยกำหนดและเสนอเรื่องราวผ่านต้นสังกัดมาตามขั้นตอนเท่านั้น ไม่สามารถทำเป็นหนังสือส่งถึงผู้ว่าการได้ การที่จะถือว่าออกจากงานด้วยเหตุใด การนับเวลา ตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม ซึ่งตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ มาตรา 10 กำหนดว่าสิทธิในการขอรับบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอายุความ 3 ปี ดังนั้น โจทก์จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนภายใน 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ออกจากงานมิฉะนั้นโจทก์หมดสิทธิได้รับเงินดังกล่าว โจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 เกินกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่โจทก์ออกจากงาน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเพราะมีมลทินหรือมัวหมอง โจทก์มีสิทธิ์ได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เป็นเงิน 632,600 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แต่ข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ว่าด้วยกองทุนผู้ปฏิบัติงานตามเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 17 ระบุว่า กรณีจะถือว่าออกจากงานด้วยเหตุอย่างใดตามข้อ 14 การนับเวลาทำงานตลอดจนวิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์ และวิธีการจ่ายเงินให้ถือปฏิบัติตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการโดยอนุโลม และพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ระบุว่า สิทธิในการขอบำเหน็จบำนาญปกติตามพระราชบัญญัตินี้ให้มีอายุความ 3 ปี เป็นกรณีที่ได้มีกฎหมายบัญญัติในเรื่องอายุความใช้สิทิเรียกร้องเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ไว้โดยเฉพาะผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีสิทธิ โจทก์ถูกให้ออกจากงานมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จากจำเลยตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 แต่เพิ่งยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 พ้นกำหนด 3 ปี นับแต่วันมีสิทธิ โจทก์จึงหมดสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ ซึ่งโจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ไม่ใช่ข้าราชการไม่อาจนำอายุความ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้ และข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 เพียงแต่ให้นำวิธีการนับเวลาทำงาน วิธีการคำนวณเงินสงเคราะห์และวิธีการจ่ายเงินในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาใช้เท่านั้น มิได้รวมถึงวิธีการยื่นแบบขอรับเงินสงเคราะห์ และอายุความ 3 ปีตามที่บัญญัติในพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 ด้วย กรณีของโจทก์ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 บังคับจำเลยจะกำหนดระยะเวลาการใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ของโจทก์ให้น้อยลงไม่ได้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/11 โจทก์จึงสามารถยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ได้ภายใน 10 ปี และโจทก์ได้ยื่นแล้วเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จำเลยจึงต้องจ่ายเงินดังกล่าวให้โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายนั้น โจทก์ได้ยื่นเรื่องราวขอรับเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 ตามเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งตามเอกสารดังกล่าวข้อ 10 โจทก์ได้แสดงความประสงค์ขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือนเดือนแรกที่กองการเงิน รฟ. เดือนต่อไปขอให้จ่ายผ่านธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) สาขาสระบุรี บัญชีเลขที่ 270 0887710 ซึ่งตามข้อบังคับการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับที่ 4.9 ข้อ 16 ระบุว่า “ผู้ปฏิบัติงานที่มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์เป็นรายเดือน โดยคำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำนาญข้าราชการจะเลือกขอรับเงินสงเคราะห์ครั้งเดียว โดยคำนวณตามวิธีจ่ายเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้” แสดงว่าโจทก์มิได้เลือกขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) จากจำเลย อันเป็นการเรียกร้องเงินในลักษณะทำนองเดียวกันกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลา เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (4) บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องเงินค้างจ่าย คือ เงินเดือน เงินปี เงินบำนาญ ค่าอุปการะเลี้ยงดู และเงินอื่น ๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับที่มีการกำหนดจ่ายเป็นระยะเวลาให้มีกำหนดายุความ 5 ปี เมื่อโจทก์เรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์รายเดือนหรือบำนาญ จึงมีกำหนดอายุความ 5 ปี กรณีไม่อาจนำอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 มาใช้บังคับได้เพราะมีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว โจทก์จึงต้องยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) ภายในกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่อาจใช้สิทธิเรียกร้องขอรับเงินดังกล่าวได้ซึ่งก็คือวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2536 แต่โจทก์ยื่นเรื่องราวขอรับเงินสงเคราะห์รายเดือน (บำนาญ) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2541 จึงขาดอายุความกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าข้อบังคับของจำเลยฉบับที่ 4.9 ข้อ 17 ทำให้ต้องใช้อายุความ 3 ปี ตามพระราชบัญญัติบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 มาตรา 10 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share