คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3254/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายและเป็นผู้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมาย แต่เมื่อผู้ตายได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านแล้ว ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามป.พ.พ. มาตรา 1608 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย.

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เป็นบุตรของนางทุมมา ซึ่งถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใด และไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องเคยไปติดต่อขอรับมรดกในส่วนของผู้ตายที่สำนักงานที่ดินแล้ว เจ้าหน้าที่ปฏิเสธไม่ยอมจัดการให้ผู้ร้องมีความประสงค์ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องไม่เคยเป็นคนล้มละลาย ผู้ไร้ความสามารถ หรือผู้เสมือนไร้ความสามารถ ขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินในส่วนที่เป็นสิทธิของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้าน พินัยกรรมกำหนดให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้มีอำนาจหน้าที่จัดการทำศพของผู้ตาย ผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้น มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายให้ยกคำคัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านนำสืบว่า ผู้ตายมีบุตร 7 คน รวมทั้งผู้ร้องและนางหวันหรือคำหวันมารดาผู้คัดค้านด้วย มารดาผู้คัดค้านถึงแก่ความตายไปก่อนผู้ตาย ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13มิถุนายน 2527 ผู้ตายมีสิทธิครอบครองร่วมกับบุคคลอื่นในที่ดินสองแปลงตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 818 และ 859 ตำบลนาโป่งอำเภอเมืองเลย จังหวัดเลย ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้ร้องมีว่าผู้ร้องสมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ก่อนวินิจฉัยปัญหานี้ เห็นสมควรวินิจฉัยว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ก่อนตายหรือไม่ ในข้อนี้ผู้ร้องเบิกความว่าผู้ร้องไม่ทราบว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ส่วนผู้คัดค้านเบิกความว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินส่วนที่เป็นของผู้ตายให้แก่ผู้คัดค้านตามเอกสารหมาย ร.ค.1 พินัยกรรมฉบับดังกล่าวมีนางจิตรา สอนสุภาพ เป็นผู้เขียนกับมีนายสมภาร สอนสุภาพ กำนัน และนายเรียน ศรีพล ผู้ช่วยกำนันเป็นพยาน พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ผู้คัดค้านนอกจากเบิกความยืนยันว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว ผู้คัดค้านยังมีนางจิตรา นายสมภารและนายเรียนมาเบิกความสนับสนุน ไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสามของผู้คัดค้านมีสาเหตุโกรธเคืองกับผู้ร้องมาก่อน ประกอบกับพยานในพินัยกรรมมีตำแหน่งเป็นกำนัน และผู้ช่วยกำนันตำบลท้องที่ นับว่าเป็นพยานคนกลางซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในผลแห่งคดี จึงทำให้พยานหลักฐานของผู้คัดค้านมีน้ำหนัก เชื่อได้ว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ตามเอกสารหมาย ร.ค.1จริง เมื่อพิเคราะห์พินัยกรรมฉบับดังกล่าวแล้ว เห็นว่าพินัยกรรมมีข้อกำหนดให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และเป็นผู้รับมรดกที่เป็นของผู้ตายทั้งหมดตามคำร้อง แม้ผู้ร้องเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย และเป็นผู้ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายแต่เมื่อผู้ตายได้ทำพินัยกรรมจำหน่ายทรัพย์มรดกทั้งหมดให้ผู้คัดค้านแล้ว ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1608 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย…”
พิพากษายืน.

Share