คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย ได้ขอเบิกเงินสมทบจากจำเลยเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปฝึกอบรมยังต่างประเทศเนื่องจากโจทก์ได้รับทุนจากต่างประเทศ และจำเลยได้อนุมัติให้โจทก์ยืมเงินทดรองจ่ายไป การที่โจทก์ขอเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลยเป็นผลโดยตรงจากความผูกพันในฐานะ ลูกจ้างและนายจ้าง หนี้ที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากการที่โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกันในฐานะ ลูกจ้างและนายจ้าง มิใช่หนี้อื่นตาม ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30 จำเลยมีสิทธินำเงินโบนัสที่จะต้องจ่ายแก่โจทก์มาหักกับหนี้ดังกล่าวได้โดย ไม่ต้องคำนึงว่าเงินโบนัสเป็นค่าจ้างหรือไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย เมื่อปี 2530 โจทก์เป็นผู้ได้รับทุนฝึกอบรมของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันโจทก์ได้ขอเบิกเงินสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศจากจำเลยตามระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศพ.ศ. 2530 ข้อ 13, 14, 20, 21 เนื่องจากผู้ให้ทุนให้ความช่วยเหลือน้อยกว่าสิทธิที่โจทก์จะพึงมีซึ่งจำเลยได้อนุมัติสั่งจ่ายให้โจทก์รวมเป็นเงิน 448,516.66 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2531จำเลยได้มีคำสั่งที่ 660/2531 ให้โจทก์ชดใช้เงินจำนวน448,516.66 บาท แก่จำเลย โดยอ้างว่าโจทก์ไม่มีสิทธิขอเบิกเงินสมทบจำนวนดังกล่าวตามระเบียบปฏิบัติงานองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศ พ.ศ. 2530 และมีคำสั่งให้ระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2530 เป็นเงิน 29,228.15 บาทและระงับการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2531 เป็นเงิน 37,112.86 บาทเพื่อชดใช้เงินสมทบดังกล่าว เนื่องจากเงินโบนัสเป็นค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามสัญญาจ้าง และงินสมทบจำเลน 448,516.66บาท เป็นเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับตามสิทธิในการเดินทางไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ จำเลยไม่มีสิทธิที่จะหักหรือระงับการจ่ายเงินโบนัสของโจทก์เพื่อชดใช้เงินสมทบ ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 660/2531 และให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสประจำปี2530 กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 34,343.15 บาท เงินโบนัสประจำปี 2531กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 38,042.86 บาท กับดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์มิได้รับคำสั่งจากจำเลยให้เดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศตามระเบียบปฏิบัติงานขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ว่าด้วยการเดินทางไปปฏิบัติงานต่างประเทศ พ.ศ. 2530 โจทก์ไม่มีสิทธิเบิกเงินสมทบจำนวน448,516.66 บาท จำเลยได้มีคำสั่งที่ 660/2531 ให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวแล้ว แต่โจทก์ไม่ยอมคืนให้ จำเลยจึงนำเงินโบนัสที่จำเลยจะต้องจ่ายให้โจทก์ประจำปี 2530 และปี 2531 รวมจำนวน66,341.01 บาทมาหักกลบลบหนี้กัน คงเหลือหนี้ที่โจทก์ยังค้างชำระจำเลยเป็นเงิน 382,175.65 บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน16,720.18 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ และให้โจทก์ใช้เงินจำนวน 398,895.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 382,175.65, 382,175.65 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ให้โจทก์ชำระเงินยืมทดรองจ่ายจำนวน 359,981.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2531 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลย
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์อุทธรณ์ว่า เงินโบนัสถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง การที่จำเลยนำเงินโบนัสของโจทก์ไปหักชำระหนี้อื่นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 30ระบุว่า ในการจ่ายค่าจ้าง ค่าล่วงเวลาและค่าทำงานในวันหยุดนายจ้างจะนำหนี้อื่นมาหักมิได้ ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางรับฟังว่า โจทก์ขอเบิกเงินสมทบเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปฝึกอบรมจากจำเลยตามที่โจทก์ได้รับทุนของรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ซึ่งจำเลยได้อนุมัติให้โจทก์ยืมเงินทดรองจ่ายเป็นจำนวนเงิน 448,516.66 บาท การที่โจทก์ขอเบิกเงินจำนวนดังกล่าวจากจำเลย เห็นได้ว่าเป็นผลโดยตรงจากความผูกพันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย เมื่อจำเลยเรียกร้องให้โจทก์คืนเงินที่ขอเบิกไปจากจำเลยเนื่องจากโจทก์ไม่มีสิทธิอันถือได้ว่า เงินที่โจทก์ต้องคืนให้แก่จำเลยเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากการที่โจทก์จำเลยปฏิบัติต่อกันในฐานะลูกจ้างและนายจ้างมิใช่เป็นหนี้อื่นตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 30 ดังนั้น ไม่ว่าเงินโบนัสจะเป็นค่าจ้างหรือไม่ก็ตามจำเลยก็มีสิทธิที่จะนำมาหักกับจำนวนเงินที่โจทก์เป็นหนี้จำเลยดังกล่าวได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าเงินโบนัสเป็นค่าจ้างหรือไม่ ศาลแรงงานกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share