คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4259/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 เป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและทรัพย์หรือเอกสารใดซึ่งเป็นของทางราชการหรือของรัฐนั้น อยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นที่จะปกครองหรือรักษาไว้ถูกทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์ หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงและนับว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย หากโจทก์ซึ่งเป็นราษฎรจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยก็เป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา136, 137, 157, 158, 328, 83, 86, 91 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 328, 83 สำหรับจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136, 83 ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า “คงมีปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์มาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่า โจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 หรือไม่ เห็นว่า กรณีการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 158 นั้น เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 2 หมวด 2 ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ผู้กระทำความผิดเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ และทรัพย์หรือเอกสารใดซึ่งเป็นของทางราชการหรือของรัฐนั้นอยู่ในหน้าที่ของเจ้าพนักงานผู้นั้นที่จะปกครองหรือรักษาไว้ เมื่อตนทำให้เสียหายทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือทำให้ไร้ประโยชน์หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำเช่นนั้น ดังนี้ ย่อมเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐเป็นผู้ได้รับความเสียหายจากเจ้าพนักงานผู้กระทำความผิดตามบทบัญญัติมาตรานี้โดยตรงและนับว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหากโจทก์จะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย โจทก์ก็เป็นเพียงผู้เสียหายโดยพฤตินัย มิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย ดังนี้ศาลฎีกาเห็นว่า อำนาจฟ้องผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 158 เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเท่านั้นที่จะฟ้องร้องเอาโทษแก่ผู้กระทำความผิด ราษฎรไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง”
พิพากษายืน

Share