แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือการพาททรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม แต่ไม่มีรายละเอียดว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในลักษณะใด อย่างไร อันถือได้ว่าเป็นการใช้รถจักรยานยนต์ในการกระทำความผิดโดยตรง เพราะความผิดฐานนี้สามารถเป็นความผิดโดยสมบูรณ์ได้โดยหาจำต้องใช้รถจักรยานยนต์ด้วยเสมอไปไม่ การบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการบรรยายฟ้องเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ที่ใช้เฉพาะในการเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองเท่านั้น แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจฟังว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดอันศาลจะมีอำนาจริบได้ ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 มีสิทธิเรียกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2550 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันเข้าไปในอาคารสำนักงานของบริษัทสุราษฎร์โปรเกรสซีฟ กรุ๊ป จำกัด ผู้เสียหายแล้วร่วมกันใช้คีมเหล็กตัดรื้อบานหน้าต่างติดขอบอะลูมิเนียม 9 บาท ราคา 45,500 บาท และเส้นอะลูมิเนียม 3 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสิ่งกีดกั้นสำหรับคุ้มครองบุคคลหรือทรัพย์จนหลุดออก นำมากองรวมไว้และลักทรัพย์ดังกล่าวไป โดยในการร่วมกันลักทรัพย์ จำเลยทั้งสองใช้รถจักรยานยนต์ 1 คัน เป็นยานพาหนะเพื่อความสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไป เหตุเกิดที่ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้พร้อมบานหน้าต่างติดขอบอะลูมิเนียม 9 บาท เส้นอะลูมิเนียมหนัก 3 กิโลกรัม ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ลักไป คีมเหล็กด้ามสีแดง 1 อัน และรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ระนอง ค – 3818 จำนวน 1 คัน ซึ่งเป็นทรัพย์ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง บานหน้าต่างติดขอบอะลูมิเนียมและเส้นอะลูมิเนียมและเส้นอะลูมิเนียม ผู้เสียหายรับคืนไปแล้วส่วนคีมเหล็กกับรถจักรยานยนต์เจ้าพนักงานเก็บรักษาไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 336 ทวิ ริบคีมเหล็กด้ามสีแดงและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (3) (7) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุกคนละ 9 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี 6 เดือน ริบคีมเหล็กด้ามสีแดงและรถจักรยานยนต์ของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ ให้จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 4 ปี เมื่อลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่งแล้วคงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 มีว่า รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดอันจะต้องริบหรือไม่ เห็นว่า การริบทรัพย์สินเป็นโทษอย่างหนึ่ง จึงเท่ากับจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าศาลกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ไม่ชอบ ปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 สำหรับปัญหาที่จำเลยที่ 1 ฎีกา เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้รถจักรยานยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ไม่มีรายละเอียดว่า จำเลยทั้งสองได้ใช้รถจักรยานยนต์ในการกระทำความผิดลักทรัพย์ในลักษณะใด อย่างไรอันถือได้ว่าเป็นการใช้รถจักรยานยนต์ในการกระทำความผิดโดยตรง เพราะความผิดฐานนี้สามารถเป็นความผิดโดยสมบูรณ์ได้โดยหาจำต้องใช้รถจักรยานยนต์ด้วยเสมอไปไม่ การบรรยายฟ้องของโจทก์เช่นนี้จึงเป็นการบรรยายฟ้องเพื่อให้ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 ทวิ ที่ใช้เฉพาะในการเพิ่มโทษจำเลยทั้งสองเท่านั้น แม้จำเลยทั้งสองจะให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจฟังว่ารถจักรยานยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิด อันศาลจะมีอำนาจริบได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ที่ศาลล่างมีคำพิพากษาให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลางมานั้นจึงไม่ชอบ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ให้คืนแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8