แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลย โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในประเทศไทย แล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2581 มาตรา 13 เมื่อสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยได้ตกลงกันว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานอยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยอันเป็นคู่สัญญา
สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลย กำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้อง หรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟ้องร้องคดี กระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้ เพราะเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งที่คู่กรณีตกลงให้บุคคลที่ไม่ใช่ตุลาการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแทนตุลาการในศาล จึงไม่ขัดต่อกฎหมายไทยและข้อเท็จจริงได้ความว่าไม่ขัดต่อกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีต่อศาลแรงงานกลางได้ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลจดทะเบียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายน 2541 จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสผู้บริหารสัญญา ในโครงการก่อสร้างระดับ 1 ระบบขนส่งทางด่วนมหานครระยะเริ่มต้นที่กรุงเทพมหานคร ได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐานเดือนละ 7,200 ดอลลาร์สหรัฐ รถยนต์ประจำตำแหน่งพร้อมคนขับและค่าครองชีพเดือนละ 55,000 บาท ต่อมาจำเลยเพิ่มเงินเดือนให้โจทก์เป็นปีละ 94,310 ดอลลาร์สหรัฐ ครั้นวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยให้สัญญาจ้างสิ้นสุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2545 ซึ่งเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขาดรายได้และผลประโยชน์ที่ทำงานไม่ครบกำหนดตามสัญญา เสียชื่อเสียงและไม่ได้รับค่าชดเชยจากการเลิกจ้าง ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าว 8,096,472 บาท หรือ 293,473 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ลงนามในสัญญาจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานจึงทำเป็นหนังสือขึ้นที่เมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา ข้อตกลงให้สัญญาจ้างแรงงานอยู่ภายใต้บังคับและการตีความของกฎหมายมลรัฐนิวเจอร์ซี่และกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 และไม่มีข้อความขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการตามที่กำหนดไว้ในสัยญาจ้างแรงงาน จำเลยไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยและค่าเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันที่จำเลยยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ โจทก์ยังไม่ให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาเพื่อระงับข้อพิพาท ขอให้ศาลแรงงานกลางจำหน่ายคดีเพื่อให้โจทก์ไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการก่อน
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 สัญญาจ้างแรงงานมีข้อความที่เอาเปรียบโจทก์เกินควร ทำให้โจทก์ได้รับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ มีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูปขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ข้อกำหนดในสัญญาจ้างแรงงานเป็นโมฆะ ไม่อาจใช้บังคับได้ ชอบที่ศาลแรงงานกลางจะรับคดีนี้ไว้พิจารณาต่อไป
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยกำหนดให้ระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการเมื่อโจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาระงับข้อพิพาทก่อน จึงไม่อาจฟ้องคดีต่อศาลแรงงานกลางให้วินิจฉัยได้ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงตามที่คู่ความทั้งสองฝ่ายแถลงรับกันว่า โจทก์เป็นบุคคลสัญชาติอังกฤษ มีหนังสือสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ตามเอกสารหมาย จล.1 โจทก์มีภูมิลำเนาตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จล.2 จำเลยเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนและมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาตามเอกสารหมาย จล.6 ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการอาวุโสผู้บริหารสัญญา โดยมีการทำสัญญาจ้างแรงงานเป็นหนังสือไว้ตามเอกสารหมาย จล.4 โจทก์ลงนามในสัญญาดังกล่าวในประเทศไทยแล้วจึงส่งสัญญาไปให้ผู้มีอำนาจของจำเลยลงนามที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ต่อมาวันที่ 15 ตุลาคม 2545 จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างกับโจทก์ โดยให้มีผลนับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2545 ตามเอกสารหมาย จล.5 ลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นชาวต่างประเทศที่จำเลยทำสัญญาจ้างให้ทำงานในประเทศในโครงการพิพาท จะมีข้อตกลงในสัญญาจ้างเรื่องอนุญาโตตุลาการและการใช้บังคับกฎหมายต่างประเทศทำนองเดียวกับโจทก์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ให้แก่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า โจทก์เป็นคนสัญชาติอังกฤษ จำเลยเป็นนิติบุคคลสัญชาติอเมริกัน จดทะเบียนและมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมือง อีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอมริกา สัญญาจ้างแรงงานที่โจทก์ทำกับจำเลยนี้โจทก์ได้ลงลายมือชื่อในประเทศไทยแล้วส่งสัญญาให้จำเลยลงลายมือชื่อในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงถือว่าสัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้ได้ทำขึ้นที่ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งต้องบังคับตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 13 ที่บัญญัติว่า “ปัญหาว่าจะพึงใช้กฎหมายใดบังคับสำหรับสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญหรือผลแห่งสัญญานั้น ให้วินิจฉัยตามเจตนาของคู่กรณี ในกรณีที่ไม่อาจหยั่งทราบเจตนาชัดแจ้งหรือโดยปริยายได้ ถ้าคู่สัญญาไม่มีสัญชาติอันดียวกัน ก็ให้ใช้กฎหมายแห่งถิ่นที่สัญญานั้นได้ทำขึ้น” เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยแล้ว ได้ตกลงกันในข้อ 21 ว่า ให้สัญญาจ้างแรงงานฉบับนี้อยู่ภายใต้บังคับและการตีความตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา จึงต้องบังคับตามกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ตามเจตนาของโจทก์และจำเลยอันเป็นคู่สัญญาและสัญาจ้างแรงงานดังกล่าวข้อ 20 กำหนดให้ข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งที่คู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้และข้อโต้เถียง สิทธิเรียกร้องหรือข้อพิพาทอันเกิดแต่หรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญานี้ให้ระงับโดยอนุญาโตตุลาการตามกฎหมายของสมาคมการอนุญาโตตุลาการของประเทศสหรัฐอเมริกาและให้ถือว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการเป็นเงื่อนไขบังคับก่อนของการดำเนินการฟ้องร้องคดี กระบวนการอนุญาโตตุลาการให้ดำเนินในเมืองอีสท์ ออเรนจ์ มลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือในสถานที่อื่นอันเป็นที่ยอมรับร่วมกันของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวสามารถใช้บังคับได้ เพราะเป็นวิธีการระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งที่คู่กรณีตกลงให้บุคคลที่ไม่ใช่ตุลาการทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแทนตุลาการในศาล ข้อตกลงนี้จึงไม่ขัดต่อกฎหมายไทยและศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าไม่ขัดต่อกฎหมายของมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย ดังนั้น โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามสัญญาโดยต้องให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอันเกิดจากสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยเสียก่อน เมื่อโจทก์ยังมิได้ดำเนินการให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาด โจทก์จึงยังไม่อาจเสนอคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ตามพระราชบัยญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ที่ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความนั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของโจทก์ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาลฎีกา จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย”
พิพากษายืน