คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2748/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติไว้กว้างๆ ว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรม ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงถึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนดังเช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนั้น ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตาม พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ได้นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ทุกอนุมาตราประกอบกัน เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน โดยวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้าคือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในโครงการนี้ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา 28 (2) แห่ง พ.ร.บ.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน 354,044,152.50 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปีของเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินจำนวน 121,616,610 บาท และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของค่าที่ดินเสื่อมราคาจำนวน 150,707,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยนำเงินค่าทดแทนที่ตั้งเสาไฟฟ้า เนื้อที่ 3 ไร่ 95.22 ตารางวา เป็นเงิน 592,830 บาท มาวางต่อศาล โจทก์รับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาล วันที่ 11 สิงหาคม 2542
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงิน 10,655,505 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสินโดยยอดเงิน 9,490,125 บาท นับแต่วันที่ 4 กันยายน 2540 และยอดเงิน 1,165,380 บาท นับแต่วันที่ 9 กันยายน 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยสูงสุดต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10 ต่อปีตามขอ และให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ กำหนดค่าทนายความรวม 30,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีชั้นอุทธรณ์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 1653, 10406 และ 10407 ตำบลคลองสิบสอง อำเภอหนองจอก กรุงเทพมหานคร แปลงแรกเนื้อที่ 10 ไร่ 03 ตารางวา แปลงที่สองเนื้อที่ 31 ไร่ 3 งาน 16 ตารางวา และแปลงที่สามเนื้อที่ 31 ไร่ 3 งาน 61 ตารางวา เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2534 จำเลยประกาศกำหนดเขตสำรวจสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ 500 กิโลโวลต์ จากสถานีไฟฟ้าย่อยไทรน้อยไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยหนองจอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2534 เป็นเหตุให้สายส่งไฟฟ้าดังกล่าวพาดผ่านที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงที่ดินโฉนดเลขที่ 1653 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 19.20 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 10406 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 37.50 ตารางวา ที่ดินโฉนดเลขที่ 10407 ถูกเขตเดินสายส่งไฟฟ้าเนื้อที่ 28 ไร่ 16 ตารางวา คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน กรุงเทพมหานคร มีมติในการประชุมครั้งที่ 1 ให้กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์โดยอาศัยราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมปี 2535 ถึงปี 2538 เป็นฐานในการคำนวณเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดิน ซึ่งคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ 2 ให้ปรับราคาประเมินที่ดินเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 100 และคณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ มีมติในการประชุมครั้งที่ 3 ให้ปรับราคา ประเมินที่ดินเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 50 ทำให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 10406 และ 10407 มีราคาตารางวาละ 3,000 บาท ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 1653 มีราคาตารางวาละ 4,500 บาท เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ แต่เนื่องจากมิได้มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองที่ดินส่วนที่ถูกเขตเดินสายไฟฟ้าพาดผ่าน จึงไม่จ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้เต็มราคาประเมินที่ดิน แต่ถือจ่ายให้เป็นอัตราร้อยละของราคาประเมินที่ดินที่กำหนดไว้ 4 ประเภท คือ
1. ที่ตั้งเสาไฟฟ้า จ่ายให้เต็มร้อยละ 100 ของราคาประเมินที่ดิน
2. ที่บ้าน จ่ายให้ร้อยละ 90 ของราคาประเมินที่ดิน
3. ที่สวน จ่ายให้ร้อยละ 70 ของราคาประเมินที่ดิน
4. ที่นา จ่ายให้ร้อยละ 50 ของราคาประเมิน
คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดิน ให้แก่โจทก์ดังนี้ ที่ดินโฉนดเลขที่ 10406 จ่ายเป็นประเภทที่นาร้อยละ 50 เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน 37.50 ตารางวา เป็นเงิน 2,156,250 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 10407 จ่ายเป็นประเภทที่นาร้อยละ 50 เนื้อที่ 28 ไร่ 16 ตารางวา เป็นเงิน 16,824,000 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 1653 จ่ายเป็นประเภทที่สวนร้อยละ 70 เนื้อที่ 3 งาน 36.60 ตารางวา เป็นเงิน 1,060,290 บาท และจ่ายประเภทที่นาร้อยละ 50 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 82.60 ตารางวา เป็นเงิน 2,435,850 บาท โจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 10406 และ 10407 เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2540 และได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 1653 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2540 แต่โจทก์ไม่พอใจจำนวนเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินดังกล่าว จึงฟ้องเป็นคดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยให้ใช้ราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 10406 และ 10407 อัตราตารางวาละ 4,500 บาท และใช้ราคาประเมินที่ดินโฉนดเลขที่ 1653 อัตราตารางวาละ 6,000 บาท เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ ที่ดินโฉนดเลขที่ 10406 และ 10407 จ่ายประเภทที่นาร้อยละ 50 ทั้งสองแปลง รวมเนื้อที่ 31 ไร่ 2 งาน 53.50 ตารางวา เป็นเงิน 28,470,375 บาท ที่ดินโฉนดเลขที่ 1653 จ่ายประเภทที่สวนร้อยละ 70 เนื้อที่ 3 งาน 36.60 ตารางวา เป็นเงิน 1,413,720 บาท และจ่ายประเภทที่นาร้อยละ 50 เนื้อที่ 2 ไร่ 2 งาน 82.60 ตารางวา เป็นเงิน 3,247,800 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 33,131,895 บาท หักจากเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินที่โจทก์ได้รับไปแล้วจำนวน 22,482,390 บาท จึงให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์เพิ่มขึ้นอีก 10,655,505 บาท จำเลยฎีกา… พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์สมควรได้รับเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทั้งสามแปลงตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ โดยจำเลยฎีกาสรุปได้ว่า ที่ดินทั้งสามแปลงของโจทก์มีสภาพเป็นที่นายังไม่ได้ปรับปรุงพัฒนาที่ดิน และตั้งอยู่ในถนนซอยประชาสำราญ 1 ห่างจากถนนใหญ่คือ ถนนประชาสำราญประมาณ 1 กิโลเมตร ห่างจากโครงการบ้านจัดสรรเกร็ดฟ้าคันทรีคลับประมาณ 2.5 กิโลเมตร และห่างจากโครงการวิคตอเรียปาร์คประมาณ 4 กิโลเมตร สภาพที่ดินทั้งสองโครงการดังกล่าวมีการพัฒนาปรับสภาพที่ดินและปลูกบ้านแล้ว ส่วนโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สวนกุหลาบวิทยาลัย ปทุมธานี อยู่ห่างจากโครงการวิคตอเรียปาร์คประมาณ 700 เมตร ไม่สามารถนำราคาที่ดินทั้งสองโครงการดังกล่าวมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่โจทก์ คณะกรรมการกำหนดค่าทดแทนทรัพย์สินฯ กำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินทั้งสามแปลงให้แก่โจทก์เหมาะสมและเป็นธรรมแล้ว เห็นว่า พระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 บัญญัติว่า “ให้ กฟผ. จ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองหรือผู้ทรงสิทธิอื่น ในกรณีดังต่อไปนี้
(1) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งเสาเพื่อเดินสายส่งไฟฟ้าหรือสายจำหน่ายไฟฟ้า
(2) การใช้ที่ดินปักหรือตั้งสถานีไฟฟ้าย่อยหรืออุปกรณ์อื่น
(3) การใช้ที่ดินที่ประกาศกำหนดเป็นเขตเดินสายไฟฟ้า
(4) การกระทำตามมาตรา 29 (3)…” บทบัญญัติดังกล่าวได้บัญญัติไว้กว้างๆว่า ให้จำเลยจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรม ไม่ได้บัญญัติถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้คำนึงถึงในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนอย่างเป็นธรรมไว้เหมือนดังเช่นพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติหลักเกณฑ์ไว้ว่าให้กำหนดโดยคำนึงถึง
(1) ราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาดของอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนตามที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกาที่ออกตามมาตรา 6
(2) ราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่มีการตีราคาไว้เพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่
(3) ราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
(4) สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์นั้น และ
(5) เหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืน
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกเวนคืนและสังคม ดังนั้น ในการกำหนดและจ่ายเงินค่าทดแทนตามความเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511 มาตรา 30 ได้นั้น จึงควรคำนึงถึงปัจจัยอื่นๆ ในทำนองเดียวกันกับที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2530 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) ถึง (5) ทุกอนุมาตราประกอบกัน เพื่อใช้เป็นฐานในการกำหนดเงินค่าทดแทนการใช้ที่ดินให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์สิน โดยวันอันเป็นฐานที่ตั้งในการพิจารณาราคาของอสังหาริมทรัพย์และสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในแนวเขตเดินสายส่งไฟฟ้า คือ วันที่ประกาศกำหนดเขตสำรวจทั่วไปเพื่อเลือกแนวหรือที่ตั้งระบบไฟฟ้าในโครงการนี้ในราชกิจจานุเบกษาตาม มาตรา 28 (2) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ.2511…”
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share