แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุว่า ผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้น แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้น ผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลมาเบิกความลอยๆ ว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากล้วนเป็นพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับของผู้คัดค้านไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตายโดยเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ. ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องนับถือศาสนาอิสลาม เป็นบุตรของนายเจ๊ะเล๊ะ กับนางสีตีนิง นางไอเสาะ ผู้ตาย เป็นพี่สาวร่วมบิดามารดาเดียวกับบิดาผู้ร้อง ผู้ตายสมรสกับพันตำรวจตรีอ้น ไม่มีบุตรด้วยกัน ผู้ตายอุปการะเลี้ยงดูนางสาวเฉลาศรี เสมือนเป็นบุตร วันที่ 31 มกราคม 2519 พันตำรวจตรีอ้นถึงแก่ความตาย ทรัพย์มรดกของพันตำรวจตรีอ้นจึงตกทอดแก่ผู้ตาย วันที่ 6 พฤษภาคม 2543 ผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยโรคชรา ขณะมีชีวิตอยู่ผู้ตายกับพันตำรวจตรีอ้นมีทรัพย์สินได้แก่ ที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 147, 148, 149, 372 หมู่ที่ 2 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ข.) เลขที่ 7473 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ที่ดินโฉนดเลขที่ 1793 ตำบลเบตง อำเภอเบตง จังหวัดยะลา และบ้าน 1 หลัง ผู้ตายไม่มีทายาทชั้นบุตร ทรัพย์มรดกทั้งหมดจึงตกทอดแก่บิดาผู้ร้องซึ่งเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย แต่บิดาผู้ร้องถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ผู้ร้องและน้องอีก 2 คน จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่ ผู้ร้องมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกและไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องขอและมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางสาวเฉลาศรี ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนางไอเสาะหรือแอเสาะ ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ให้ผู้ร้องใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนผู้คัดค้าน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่านางไอเสาะหรือแอเสาะ ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2543 ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ร.6 โดยไม่ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดกไว้การจัดการมรดกของผู้ตายมีเหตุขัดข้อง ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องหรือผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ที่ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้คัดค้านมีเพียงสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.1 และ ค.2 มานำสืบยังไม่พอฟังว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรเกิดจากผู้ตายนั้น เห็นว่า ตามสำเนาทะเบียนบ้านทั้งสองฉบับระบุชื่อผู้ตายว่าเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดของผู้คัดค้าน เอกสารดังกล่าวเป็นสำเนาอันรับรองถูกต้องแห่งเอกสารมหาชนซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำขึ้นหรือรับรอง จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ผู้คัดค้านเป็นฝ่ายอ้างเอกสารย่อมไม่มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานอื่นมาสืบถึงความบริสุทธิ์หรือความถูกต้องแห่งเอกสารนั้นดังที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกาอีกแต่อย่างใด แต่ผู้ร้องเป็นฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายัน กลับมีหน้าที่ต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสารนั้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 127 ดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องมีเพียงพยานบุคคลคือตัวผู้ร้องนายหะยีตาเล๊ะ และนางสุภาภรณ์หรือซอรีฮะห์ มาเบิกความลอยๆ เท่านั้นว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรคนจีนที่ผู้ตายขอมาเลี้ยง โดยพยานผู้ร้องทุกปากต่างมิได้รู้เห็นเหตุการณ์ขณะผู้ตายขอผู้คัดค้านมาเลี้ยงดูเป็นบุตรดังที่เบิกความ เพียงทราบจากคำบอกเล่าของผู้อื่น แม้นายหะยีตาเล๊ะจะเบิกความว่าพยานทราบเพราะสอบถามจากผู้ตายดังที่ผู้ร้องอ้างมาในฎีกา ก็เป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ เช่นกัน พยานผู้ร้องทั้งหมดเป็นพยานบอกเล่าจึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ว่าสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย ค.1 และ ค.2 ไม่บริสุทธิ์หรือไม่ถูกต้อง จึงต้องฟังว่าเอกสารดังกล่าวถูกต้องแล้วเมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้ตายเป็นมารดาผู้ให้กำเนิดผู้คัดค้านตามที่ระบุไว้ในเอกสารดังกล่าว ผู้คัดค้านจึงเป็นผู้สืบสันดานที่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายในลำดับที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 มีผลให้ผู้ร้องที่อ้างว่าเป็นผู้รับมรดกแทนที่บิดาซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย ซึ่งเป็นทายาทในลำดับที่ 3 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตายเลยตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่งแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอ และตั้งให้ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้ออื่นของผู้ร้องไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ