แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การเป็นตัวแทนเชิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 821 ย่อมหมายถึง การที่ตัวการไม่ปรารถนาออกมาผูกนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอก แต่กฎหมายบังคับให้ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้วจำเลยที่ 1 จึงหาใช่เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 12,493,150.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน 10,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์โอนสินทรัพย์ตามฟ้องให้แก่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์กรุงไทยธนกิจ จำกัด (มหาชน) โอนต่อให้ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ธนาคาร จำกัด (มหาชน) เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 16 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541) ต้องไม่เกิน 2,493,150.69 บาท ตามที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ผู้รับโอนสินทรัพย์ของธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ผู้ร้อง ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่คัดค้าน
จึงอนุญาตให้บริษัทสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด ผู้ร้อง เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1ต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสอง หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาวงเงินสินเชื่อและออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำไปขายลดแก่โจทก์ในฐานะเป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทราบดีและจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจากโจทก์ แต่เป็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจำเลยที่ 1 จึงไม่ได้เป็นลูกหนี้โจทก์ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ในข้อนี้โจทก์นำสืบว่าหลังจากโจทก์รับซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าวแล้ว โจทก์ชำระเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินให้จำเลยที่ 1 ไปครบถ้วนแล้วตามใบสำคัญรับเงิน/ใบสำคัญจ่ายเงิน เมื่อครบกำหนดชำระตามตั๋วสัญญาใช้เงินดังกล่าว จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์แต่ไม่ชำระต้นเงินแล้วออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่มาขายลดเพื่อชำระหนี้ต้นเงินแทนตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับเดิมให้โจทก์เช่นนี้เรื่อยมารวม 6 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับลงวันที่ 15 มกราคม 2540 จำนวนเงิน 10,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี นำมาขายลดแก่โจทก์ แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระต้นเงิน คงชำระดอกเบี้ยถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 และผิดนัดชำระดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 นำสืบว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาวงเงินสินเชื่อกับโจทก์ เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประสบภาวะขาดทุนจำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินอื่น ดังนั้น กรรมการจำเลยที่ 2 รวมทั้งจำเลยที่ 1 จึงตกลงให้นำหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ประมาณ 7,000,000 หุ้นไปจำนำไว้แก่โจทก์โดยตกลงว่าจะให้มีการเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นเดิมเป็นจำเลยที่ 1 นายไพบูลย์ และนายชัยรัตน์ โดยให้ถือหุ้นคนละ 1,000,000 หุ้น เพราะตามสัญญาที่จำเลยที่ 2 กู้เงินจากสถาบันการเงินเดิมมีข้อตกลงว่าจำเลยที่ 2 จะก่อหนี้เพิ่มหรือจะนำหุ้นซึ่งยังมิได้มีการขายไปจำนำแก่บุคคลอื่นไม่ได้ จึงต้องใช้จำเลยที่ 1 และบุคคลดังกล่าวทำแทน ซึ่งโจทก์เชื่อถือโดยให้จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 2 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำสัญญาดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1ไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์ และภายหลังทำสัญญาจำเลยที่ 2 ได้ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตลอดมา ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่สืบพยาน เห็นว่า โจทก์มีนายศักดิ์สิทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นพยานเบิกความยืนยันประกอบสัญญาวงเงินสินเชื่อ สัญญาค้ำประกัน ใบสำคัญรับเงิน/ใบสำคัญจ่ายเงิน สำเนาตั๋วสัญญาใช้เงิน หนังสือขอขายลดตั๋วเงินและตั๋วสัญญาใช้เงินว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาวงเงินสินเชื่อกับโจทก์ในวงเงิน 10,000,000 บาท โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แล้วจำเลยที่ 1 นำตั๋วสัญญาใช้เงิน 10,000,000 บาท มาขายลดแก่โจทก์และรับเงินไปครบถ้วนแล้วแต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระต้นเงินคงชำระแต่ดอกเบี้ยแล้วออกตั๋วสัญญาใช้เงินฉบับใหม่แทนการชำระต้นเงินนำมาขายลดแก่โจทก์ ทำเช่นนี้เรื่อยมาถึงครั้งที่ 7 เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินลงวันที่ 15 ตุลาคม 2539 สัญญาจะใช้เงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปีแก่โจทก์ในวันที่ 15 มกราคม 2540 แต่เมื่อครบกำหนดชำระเงิน จำเลยที่ 1 ไม่ชำระต้นเงินคงชำระดอกเบี้ยถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2540 แล้วไม่ชำระอีก ส่วนจำเลยที่ 1 อ้างตนเองและนำนายไพบูลย์ มาเบิกความเป็นพยานยืนยันว่าจำเลยที่ 1 และนายไพบูลย์เป็นกรรมการและเป็นผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 2 เนื่องจากจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการขาดทุนและไม่สามารถไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินได้ กรรมการของจำเลยที่ 2 จึงตกลงให้นำหุ้นของจำเลยที่ 2 ที่ยังเหลืออยู่มาใส่ชื่อจำเลยที่ 1 นายไพบูลย์ และนายชัยรัตน์ คนละ 1,000,000 หุ้น แล้วเชิดจำเลยที่ 1 นายไพบูลย์ และนายชัยรัตน์ให้เป็นตัวแทนเข้าทำสัญญาวงเงินสินเชื่อกับโจทก์ และออกตั๋วสัญญาใช้เงินนำไปขายลดแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินจากโจทก์แต่เป็นจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินจากโจทก์และเป็นผู้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ สำหรับข้อเท็จจริงในส่วนที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 หรือไม่นั้น จำเลยที่ 1 คงมีแต่คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และนายไพบูลย์เท่านั้น โดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นมาสนับสนุน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่มีหลักฐานมายืนยันเช่นกันและแม้จะฟังได้ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นก็ยังไม่พอฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 จริง ทั้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 821 บัญญัติว่า บุคคลผู้ใดเชิดบุคคลอีกบุคคลหนึ่งออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี รู้แล้วย่อมให้บุคคลอีกคนหนึ่งเชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนก็ดี ท่านว่าบุคคลผู้นั้นจะต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริตเสมือนว่าบุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเป็นตัวแทนของตน ดังนั้น การเป็นตัวแทนเชิดย่อมหมายถึงการที่ตัวการไม่ปรารถนาออกมาผูกนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกแต่กฎหมายบังคับให้ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกผู้สุจริต เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่แล้ว ตามพฤติการณ์ดังกล่าวจึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 ตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง นอกจากนี้ ยังเห็นอีกว่าแม้จะฟังตามที่จำเลยที่ 1 อ้างอีกว่าจำเลยที่ 2 ตกลงให้นำหุ้นของจำเลยที่ 2 มาใส่ชื่อจำเลยที่ 1 จำนวน 1,000,000 หุ้น แล้วให้จำเลยที่ 1 กระทำการดังกล่าวกับโจทก์โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงินจากโจทก์ก็ตาม ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ หาใช่เป็นเรื่องตัวแทนเชิดดังที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใดไม่คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระเงินแก่โจทก์ชอบแล้วฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ