คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3569/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ในขณะเกิดเหตุ โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาฯ และตามมาตรา 48 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ฉบับเดียวกันนั้น กำหนดให้โจทก์มีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่บริหารราชการเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบายของสภาโจทก์ และให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างโจทก์และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการโจทก์ ถือได้ว่าปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้แทนนิติบุคคลโจทก์ ฉะนั้นความประสงค์ของโจทก์ย่อมแสดงออกโดยปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์
ตามหนังสือศาลากลางจังหวัดชลบุรี ฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2535 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปให้ทราบว่า จำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ และหลังจากนั้นคณะกรรมการสอบสวนจึงได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วรายงานความคืบหน้าของผลการสอบสวนให้โจทก์ทราบ แล้วโจทก์จึงได้รายงานให้ทางจังหวัดทราบต่อไปเป็นระยะๆ นั้น ล้วนแต่เป็นขั้นตอนของการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดก่อนที่จะสรุปผลการสอบสวนว่า มีใครเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาและมีใครบ้างที่ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งด้วย ฉะนั้นถึงแม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่ปลายปี 2538 ก็ตาม แต่ขณะนั้นการสอบสวนผู้ร่วมกระทำผิดและผู้พึงต้องร่วมรับผิดทางแพ่งยังไม่ปรากฏแน่ชัด จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จก็ต่อเมื่อคณะกรรมการสอบสวนสรุปผลการสอบสวนและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเห็นควรดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ใด และมีผู้ใดที่ต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งแล้ว ดังนั้น จึงต้องถือว่าวันที่ปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ลงนามรับทราบรายงานผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 เป็นวันที่โจทก์ทราบการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งในวันดังกล่าว
จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรต่างๆ โดยมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงาน ซึ่งตามมาตรฐานตำแหน่งและระเบียบในการปฏิบัติงานสายการบังคับบัญชา และระเบียบคำสั่งต่างๆ ของกระทรางต้นสังกัดกำหนดอำนาจหน้าที่ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่กำกับดูแลบังคับบัญชาและควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ทั้งยังมีระเบียบให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงานจะต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดด้วย จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นและส่งมอบเงินหรือเช็คในแต่ละวันหากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบตามอำนาจหน้าที่และระเบียบคำสั่งดังกล่าวอย่างเคร่งครัดก็ยากที่จำเลยที่ 1 จะยักยอกเงินที่รับมาในตำแหน่งหน้าที่ไปได้ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีส่วนประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายด้วย ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินคืนโจทก์ 73,891.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 51,450 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินคืนโจทก์ 603,169.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 438,485 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ร่วมกันใช้เงินคืนโจทก์ 73,891.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 51,450 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 พฤษภาคม 2540) จนกว่าจะชำระเงินเสร็จ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกันรับผิดใช้เงินคืนโจทก์ 603,169.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 438,485 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…สำหรับจำเลยที่ 1 นั้นขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา และไม่ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่ได้นำสืบโต้แย้งกันฟังยุติได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นราชการบริหารส่วนท้องถิ่นขณะฟ้องมีนายทรงศักดิ์ ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ โจทก์มีหน้าที่จัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีอื่นๆ ในเขตเมืองพัทยา เป็นรายได้ของเมืองพัทยาตามกฎหมาย เหตุทุจริตคดีนี้เกิดเมื่อระหว่างปี 2534 ถึงปี 2535 ขณะนั้นจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่จัดเก็บรายได้ 3 ปฏิบัติงานในงานผลประโยชน์ ฝ่ายพัฒนารายได้ การคลัง มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีอากรต่างๆ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้อำนวยการกองคลัง ในช่วงปี 2534 และมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้อำนวนการกองคลัง ในช่วงปี 2535 ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นหัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้ และจำเลยที่ 5 เป็นหัวหน้างานผลประโยชน์ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามลำดับชั้นต่อมาระหว่างวันที่ 3 ถึง 6 กรกฎาคม 2534 จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินที่มีผู้นำมาชำระภาษีให้แก่โจทก์ไปจำนวนรวม 51,450 บาท และระหว่างวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2535 จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินที่มีผู้นำมาชำระภาษีให้แก่โจทก์ไปอีกจำนวนรวม 438,485 บาท
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในประเด็นแรกว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่นั้น เห็นว่า โจทก์มีนายศุภวัฎ นิติกรของโจทก์ในขณะเกิดเหตุซึ่งได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดีนี้ตามคำสั่งจังหวัดชลบุรีที่ 2057/2535 และจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ความว่า การรับชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินเทศบาลและเมืองพัทยา พ.ศ.2528 และตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การปรับปรุงระบบการเงินและบัญชีเทศบาลและเมืองพัทยาและหนังสือกระทรวงมหาดไทยเรื่อง หลักเกณฑ์การรับเงินเป็นเช็คหรือตั๋วแลกเงินของเทศบาลและเมืองพัทยาโดยกำหนดขั้นตอนการรับชำระภาษีโรงเรือน เริ่มจากโจทก์จะออกประกาศตามแบบ ภ.ร.ด. 1 ประกาศให้ประชาชนมายื่นแบบเพื่อชำระภาษีโรงเรือน ณ ที่ทำการโจทก์ ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เมื่อประชาชนมาชำระภาษีโรงเรือนจะต้องยื่นแบบ ภ.ร.ด. 2 แล้วเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดเก็บรายได้จะทำการประเมินภาษีของผู้ที่มายื่นแบบชำระภาษีให้ทราบว่าต้องเสียภาษีรายละเท่าใดหากผู้มายื่นพร้อมชำระก็ให้ฝ่ายจัดเก็บรายได้รับชำระในวันนั้น หากไม่พร้อมชำระในวันยื่นแบบก็สามารถนำเงินมาชำระได้ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่แจ้งให้ทราบ หากชำระเป็นเงินสดเจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดเก็บรายได้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่ผู้รับเงินจะต้องออกใบเสร็จรับเงินตามแบบ ภ.ร.ด. 12 ให้แก่ผู้ชำระในวันนั้น หากชำระเป็นเช็คก็ต้องปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงมหาดไทย โดยต้องประทับตรายางไว้ที่ใบเสร็จรับเงินว่าใบเสร็จดังกล่าวจะเป็นอันสมบูรณ์ใช้ได้ต่อเมื่อเช็คนั้นได้รับชำระเงินแล้ว และในแต่ละวันเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับเงินนั้นจะต้องเก็บรักษาเงินหรือเช็คที่รับไว้ ตั้งแต่เวลา 8.30 นาฬิกาจนถึงเวลา 15 นาฬิกา และหลังจากเวลา 15 นาฬิกาแล้วก็จะต้องนำเงินหรือเช็คทั้งหมดส่งให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของโจทก์พร้อมหลักฐานใบสำคัญนำส่งเงินตามแบบจำนวน 2 ฉบับ ระบุรายละเอียดว่าในวันนั้นๆ ได้รับเงินชำระภาษีรายใดเป็นเงินเท่าใดหรือเช็คกี่ฉบับ เป็นเงินเท่าใด และสำเนาใบเสร็จรับเงินแบบ ภ.ร.ด. 12 ที่ออกต้นฉบับให้แก่ผู้มายื่นชำระในวันนั้นๆ เพื่อให้หัวหน้างานผลประโยชน์ตรวจสอบเมื่อหัวหน้างานผลประโยชน์ทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะรายงานผลให้หัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้เพื่อตรวจสอบอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อหัวหน้าฝ่ายพัฒนารายได้ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งต่อให้ผู้อำนวยการกองคลังเพื่อตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งนอกจากนี้นายศุภวัฎยังได้เบิกความถึงพฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานจัดเก็บรายได้ 3 ซึ่งมีหน้าที่รับชำระภาษีโรงเรือนจากประชาชน ได้รับชำระเงินค่าภาษีโรงเรือนจากประชาชนแล้วไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ โดยอ้างว่าผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในใบเสร็จรับเงินไม่อยู่บ้าง หรือจำเลยที่ 1 จะนำใบเสร็จรับเงินไปให้ผู้ชำระภาษีที่บ้านภายหลังหรืออ้างว่ายื่นแบบเสียภาษีหรือจำนวนเงินไม่ถูกต้องจึงยังไม่ออกใบเสร็จรับเงินให้ บางครั้งออกใบเสร็จรับเงินให้ไปแล้วแต่ต่อมาก็ไปขอคืนโดยอ้างว่าจำนวนเงินไม่ถูกต้องต้องนำกลับมาแก้ไข แต่เมื่อได้ใบเสร็จรับเงินคืนมาแล้วกลับประทับตรายกเลิกและทำลายทิ้งเสีย และหากชำระด้วยเช็คจำเลยที่ 1 จะยังไม่ออกใบเสร็จรับเงินที่ต้องประทับตรายางว่า ใบเสร็จรับเงินจะเป็นอันใช้ได้ต่อเมื่อเช็คได้รับชำระเงินแล้วให้แก่ผู้ชำระภาษีในวันนั้น โดยจะเก็บเช็คนั้นไว้เองไม่นำส่งฝ่ายการเงิน หรือจะบอกให้ชำระเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าแล้วนำเช็คนั้นไปแลกกับเงินสดที่ได้รับชำระไว้แล้วนำไปใช้ประโยชน์ส่วนตัวแล้วจึงนำเช็คส่งให้ฝ่ายการเงินแทนเงินสดและเมื่อพยานได้นำใบสำคัญนำส่งเงินและสำเนาใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นมาตรวจสอบกับจำนวนเงินหรือเช็คที่จำเลยที่ 1 นำส่งฝ่ายการเงินในวันเดียวกันนั้นผลการตรวจสอบพบว่า มีรายละเอียดชื่อผู้ชำระภาษีและจำนวนเงินที่ชำระไม่ตรงกับจำนวนเงินหรือเช็คของวันนั้น พยานจึงเชื่อว่าเกิดการทุจริตทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินจึงได้ทำหนังสือรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีจึงมีหนังสือที่ ชบ.0016/318 ลงวันที่ 25 กันยายน 2535 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยพยานได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการและเลขานุการ ต่อมาคณะกรรมการได้ทำการสอบสวนรวบรวมข้อเท็จจริงแล้ว สรุปเป็นผลการสอบสวนจำนวน 5 ชุด และพยานได้ทำบันทึกข้อความเสนอปลัดเมืองพัทยาเห็นควรให้จัดทำหนังสือมอบอำนาจให้ไปแจ้งความดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 กับพวก และทำหนังสือทวงถามให้ผู้เกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชาตามสายงานรับผิดชอบในทางแพ่ง ซึ่งปลัดเมืองพัทยาได้ลงนามเห็นชอบและให้ดำเนินการตามเสนอเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดตำแหน่งและระเบียบในการปฏิบัติงานสายการบังคับบัญชาและระเบียบคำสั่งต่างๆ ของกระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดอำนาจหน้าที่ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่ต้องกำกับดูแลบังคับบัญชาและควบคุมการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ทั้งยังมีระเบียบให้ผู้บังคับบัญชาตามสายงานจะต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งกับผู้กระทำความผิดด้วย ดังนั้น จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงมีหน้าที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารหลักฐานต่างๆ ที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นและส่งมอบพร้อมกับเงินหรือเช็คในแต่ละวันโดยเฉพาะการชำระด้วยเช็ค สำเนาใบเสร็จรับเงินจะต้องประทับตรายางว่าใบเสร็จรับเงินจะใช้ได้ต่อเมื่อได้รับเงินตามเช็คนั้นแล้วด้วย แต่สำเนาใบเสร็จรับเงินที่ชำระด้วยเช็คที่จำเลยที่ 1 เสนอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ตรวจสอบ ไม่มีการประทับตรายางดังกล่าว ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ซักค้านโต้แย้งคัดค้านคำเบิกความของนายศุภวัฎว่าไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริงหรือตามระเบียบคำสั่งต่างๆ แต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 เป็นผู้บังคับบัญชาตามสายงานของจำเลยที่ 1 ในขณะเกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับการรับชำระเงินค่าภาษีโรงเรือน ทั้งเงินสด และเช็คตามที่จำเลยที่ 1 นำเสนอให้ตรวจสอบจริง ดังนั้น หากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบเอกสารต่างๆ ดังกล่าวตามอำนาจหน้าที่และตามระเบียบคำสั่งต่างๆ ของโจทก์โดยเคร่งครัด ไม่ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลย แล้วก็เชื่อว่ายากที่จำเลยที่ 1 จะทำการโดยทุจริตประพฤติมิชอบยักยอกเงินและเช็คที่ประชาชนนำมาชำระแก่โจทก์ไปได้เป็นเวลานานนับปีและได้เงินไปเป็นจำนวนมากก่อนที่จะถูกตรวจพบการทุจริต ซึ่งทางพิจารณาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ก็ไม่ได้นำสืบพยานให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ได้ใช้ความระมัดระวังควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยละเอียดรอบคอบตามระเบียบคำสั่งต่างๆ ของโจทก์โดยเคร่งครัดแล้วแต่อย่างใด ทั้งการทุจริตของจำเลยที่ 1 ก็หาได้มีแต่เพียงการออกไปรับเงินจากผู้เสียภาษีนอกสำนักงานของโจทก์แล้วไม่ได้นำเงินสดหรือเช็คนั้นมามอบให้โจทก์เพื่อนำเข้าบัญชีโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ จึงทำให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ไม่สามารถตรวจสอบได้ ตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โต้แย้งในฎีกาว่าไม่ได้ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่พฤติการณ์การกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่นายศุภวัฎเบิกความยังมีอีกหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีออกใบเสร็จรับเงินชำระค่าภาษีด้วยเช็ค จะต้องประทับตรายางว่าใบเสร็จรับเงินจะเป็นอันใช้ได้ต่อเมื่อได้รับเงินตามเช็คแล้วแต่กลับไม่มีการประทับตรายางดังกล่าว ซึ่งหากจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ใช้ความระมัดระวังละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบสำเนาใบเสร็จรับเงินตามที่จำเลยที่ 1 นำเสนอให้ตรวจสอบแล้วก็น่าจะต้องพบเห็นข้อบกพร่องดังกล่าวได้ พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 มีส่วนประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ทำให้โจทก์เสียหายด้วยแล้ว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาตามสายงานของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จงใจปฏิบัติหน้าที่ที่รับมอบหมายโดยทุจริต ยักยอกเงินค่าภาษีที่มีผู้นำมาชำระให้แก่โจทก์ไปเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ตามสายงาน มีส่วนประมาทเลินเล่อ ปล่อยปละละเลย ไม่ได้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับและคำสั่งต่างๆ ของโจทก์โดยเคร่งครัดแล้ว จึงต้องร่วมรับผิดด้วย ส่วนที่จำเลยที่ 4 นำสืบและฎีกาเป็นทำนองว่า เป็นผู้ตรวจพบการทุจริตก่อนเมื่อปี 2535 จึงได้ทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา ทั้งรายงานไปทางจังหวัดและสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินให้ทราบเรื่องและตามหนังสือถึงผู้อำนวยการกองคลังของโจทก์นั้น ถึงแม้จะฟังว่าเป็นการแสดงเจตนาบริสุทธิ์ของจำเลยที่ 4 ว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยก็ตาม แต่ก็ไม่ใช่เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าจำเลยที่ 4 ได้ใช้ความระมัดระวังในการควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ให้เป็นไปโดยเรียบร้อยตามอำนาจหน้าที่ของตนแต่อย่างใด เพราะการตรวจพบเป็นเรื่องปลายเหตุ แต่ต้นเหตุนั้นเกิดจากการที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ประมาทเลินเล่อปล่อยปละละเลย ไม่ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 มีช่องทางทุจริตยักยอกเงินภาษีไปได้ต่างหาก จำเลยที่ 4 จึงยังคงต้องร่วมรับผิดด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในข้อแรกนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่ เห็นว่า ในขณะเกิดเหตุ โจทก์เป็นนิติบุคคลจัดตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2521 และตามมาตรา 48 และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกันนั้น กำหนดให้โจทก์มีปลัดเมืองพัทยาทำหน้าที่บริหารราชการเมืองพัทยาให้เป็นไปตามนโยบายของสภาโจทก์ และให้ปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้ปกครองบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างโจทก์ และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการโจทก์กรณีจึงถือได้ว่าปลัดเมืองพัทยาเป็นผู้แทนนิติบุคคลโจทก์ ฉะนั้นความประสงค์ของโจทก์ย่อมแสดงออกโดยปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ จึงต้องถือว่าโจทก์เพิ่งรู้ตัวผู้จะพึงต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 ซึ่งเป็นวันที่ปลัดเมืองพัทยาลงนามทราบผลสรุปรายงานการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งของคณะกรรมการสอบสวน ดังนั้น อายุความละเมิด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง จึงนับแต่นั้นเป็นต้นไป ส่วนที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทราบเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามบันทึกข้อความการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ทุจริตในกองคลังเมืองพัทยา และรายงานการประชุมคณะกรรมการสอบสวนกรณีเจ้าหน้าที่ทุจริตในกองคลังเมืองพัทยา ครั้งที่ 6/2538 ตามที่แนบท้ายหนังสือที่ปลัดเมืองพัทยารายงานผลคืบหน้าของคณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี ฉบับลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2538 จึงน่าเชื่อว่าโจทก์รู้เรื่องการกระทำความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดตั้งแต่ปลายปี 2538 แล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทราบถึงการทำละเมิดและรู้ตัวผู้กระทำละเมิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ 1 ปี แล้วนั้น เห็นว่า ตามหนังสือศาลากลางจังหวัดชลบุรี ฉบับลงวันที่ 25 กันยายน 2535 ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเรื่องที่โจทก์มีหนังสือแจ้งไปให้ทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการ์ณส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ และหลังจากนั้นคณะกรรมการสอบสวนจึงได้ทำการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วรายงานความคืบหน้าของผลการสอบสวนให้โจทก์ทราบ แล้วโจทก์จึงได้รายงานให้ทางจังหวัดทราบต่อไปเป็นระยะๆ นั้นล้วนแต่เป็นขั้นตอนของการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงแน่ชัดก่อนที่จะสรุปผลการสอบสวนว่า มีใครเป็นผู้กระทำความผิดทางอาญาและมีใครบ้างที่ต้องร่วมรับผิดทางแพ่งด้วย ฉะนั้นถึงแม้โจทก์จะทราบการกระทำความผิดและรู้ตัวจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิดตั้งแต่ปลายปี 2538 ตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกามาก็ตาม แต่ขณะนั้นการสอบสวนผู้ร่วมกระทำผิดและผู้พึงต้องร่วมรับผิดทางแพ่งยังไม่ปรากฏแน่ชัด จนกว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จก็ต่อเมื่อคณะกรรมการสอบสวนสรุปผลการสอบสวนและแจ้งให้โจทก์ทราบว่าเห็นควรดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ใด และมีผู้ใดที่ต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งแล้ว ดังนั้น จึงต้องถือว่าวันที่ปลัดเมืองพัทยาซึ่งเป็นผู้แทนโจทก์ลงนามรับทราบรายงานผลการสอบสวนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2539 เป็นวันที่โจทก์ทราบการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องร่วมรับผิดในทางแพ่งในวันดังกล่าว อายุความละเมิด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง จึงนับแต่นั้นเป็นต้นไป หาใช่นับแต่ปลายปี 2538 ตามที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ฎีกาโต้แย้งไม่ การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2540 จึงยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share