คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2246/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง มาตรา 22 ทวิ นั้น ไม่จำต้องใช้ถ้อยคำเคร่งครัดตามตัวบทกฎหมาย แต่ต้องแปลความไปในทางที่ให้เป็นผลมากกว่าไร้ผลและต้องถือตามเจตนารมณ์ของผู้พิพากษาที่อนุญาตให้อุทธรณ์ด้วย เมื่อมีคำสั่งว่า “อุทธรณ์ของโจทก์มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงรับรองให้อุทธรณ์” และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในวันเดียวกัน ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้พิพากษาที่รับรองได้อนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว จึงต้องรับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ บัญญัติว่า “ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 22 ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวง พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักงานอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัย ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป” เห็นว่า การแปลความบทบัญญัติดังกล่าวต้องแปลความไปในทางที่ให้เป็นผลมากกว่าไร้ผล ประกอบกับกรณีเป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาที่จะอนุญาตให้อุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ จึงต้องถึงเจตนารมณ์ของผู้อนุญาตด้วย ดังนี้ การอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงจึงไม่จำต้องใช้ถ้อยคำเคร่งตามตัวบทกฎหมาย สำหรับคดีนี้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นสั่งในคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า “อุทธรณ์ของโจทก์มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จึงรับรองให้อุทธรณ์” และมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ในวันเดียวกัน เป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้รับรองได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ จึงมีคำสั่งรับอุทธรณ์ แสดงให้เห็นว่าเป็นการอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงแล้ว
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share