คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3830/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ข้อตกลงซื้อขายหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 ข้อ 3 วรรคแรก มีข้อความว่า “ผู้ขายตกลงเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินของบริษัท ก. มีวงเงินค้ำประกัน 350,000,000 บาท ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534… และภายในวันที่ 3 เมษายน 2534 เช่นกัน ผู้ซื้อจะดำเนินการให้ธนาคารปลดผู้ขาย ส. และ ว. ออกจากเป็นผู้ค้ำประกัน และปลดจำนองทรัพย์สินซึ่งจำนองประกันหนี้สินของบริษัท ก. ทั้งหมด” วรรคสอง มีข้อความว่า “ถ้าหากล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ ผู้ซื้อและบริษัท ก. ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ขายเดือนละ 1,000,000 บาท ทุกๆ เดือนจนกว่าผู้ขายจะหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง” ซึ่งหมายความว่า โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนรายเดือนต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อหุ้นจากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองให้สำเร็จได้อันเป็นการผิดข้อตกลงแล้วเท่านั้น ค่าตอบแทนรายเดือนจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ระบุว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายเวลาที่กำหนดแล้ว ยังจะต้องดำเนินการเช่นนั้นอีกต่อไปจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก ซึ่งหากเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป
หลังจากพ้นกำหนดวันที่ 3 เมษายน 2534 โจทก์ที่ยอมรับเอาค่าตอบแทนของเดือนพฤษภาคม 2534 และต่อมาโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระสำหรับเดือนต่อไป ถือว่าโจทก์ที่ 1 แสดงต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ สทิธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองย่อมเป็นอันขาดไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 380 วรรคแรก
สิทธิของผู้ค้ำประกันที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ย่อมจะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 ส่วนสิทธิของผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระตาม มาตรา 724 บัญญัติให้ผู้จำนองที่เข้าชำระหนี้เสียเองแทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนองชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนที่ได้ชำระไป และถ้าว่าต้องบังคับจำนอง ผู้จำนองก็ชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์ทั้งสามเข้าชำระหนี้เสียเองแทนจำเลยที่ 1 หรือมีการบังคับจำนองทรัพย์สินที่จำนองแล้วหรือไม่ เมื่อโจทก์ทั้งสามไม่ได้เข้าชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้แทนจำเลยที่ 1 หรือธนาคารได้บังคับจำนองแล้ว สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จำนองจึงยังไม่เกิดขึ้น

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 ดำเนินธุรกิจพัฒนาที่ดินเพื่อจัดทำเป็นนิคมอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2533 โจทก์ที่ 1 เข้าซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1 ซึ่งได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 200,000 หุ้น เป็นเงิน 20,000,000 บาท โจทก์ที่ 1 ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่กรรมการของจำเลยที่ 1 เนื่องจากมีภารกิจหลายด้าน แต่ได้สนับสนุนกิจการของจำเลยที่ 1 โดยเป็นผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินของโจทก์ที่ 1 เอง 8 แปลง และดำเนินการให้โจทก์ที่ 2 จำนองที่ดิน 3 แปลง กับให้โจทก์ที่ 3 จำนองที่ดิน 1 แปลง เพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 ยังค้ำประกันหนี้อาวัลตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญา ใช้เงินของจำเลยที่ 1 อีกส่วนหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2534 โจทก์ที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 1 ตกลงขายหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000,000 บาท และโจทก์ทั้งสามจะค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 350,000,000 บาท ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะดำเนินการให้ธนาคารปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดจำนองทั้งหมดภายในวันดังกล่าว หากดำเนินการไม่สำเร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 1,000,000 บาท จนกว่าโจทก์ทั้งสามจะหลุดพ้นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง ในการนี้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ตกลงเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการตามข้อตกลงธนาคารจึงเรียกให้โจทก์ทั้งสามชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจำเลยทั้งหกต้องชดใช้เงินแก่โจทก์เดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2534 คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 7 เดือน เป็นเงินรวม 7,000,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดจำนองทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หากไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้โจทก์ทั้งสามต้องชำระหนี้แก่ธนาคารเพื่อปลดจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองทรัพย์สินจำนวนเท่าใด ให้โจทก์ทั้งสามบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งหกจนครบถ้วน และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์ 7,000,000 บาท กับอีกเดือนละ 1,000,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งหกจะปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดจำนองทรัพย์สินดังกล่าว
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะโจทก์ทั้งสามยังมิได้ชำระหนี้ให้แกธนาคารแทนจำเลยที่ 1 และบันทึกข้อตกลงตามฟ้องเป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยที่ 2 กระทำนอกอำนาจหน้าที่ในฐานะผู้แทนของจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย บันทึกข้อตกลงตามฟ้องเป็นสัญญาต่างตอบแทน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 1,000,000 บาท จนกว่าโจทก์ทั้งสามจะหลุดพ้นจากความรับผิดต่อธนาคาร ส่วนโจทก์ทั้งสามก็มีหน้าที่ต้องค้ำประกันและจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ตลอดไปจนกว่าการพัฒนาที่ดินของจำเลยที่ 1 จะสำเร็จตามวัตถุประสงค์ แต่โจทก์ทั้งสามใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โดยทำเรื่องแจ้งถอนการค้ำประกันและการจำนองไปยังธนาคาร และโจทก์ที่ 1 ไม่ยอมลงลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกันการออกตั๋วแลกเงิน หรือตั๋วสัญญาใช้เงินให้ธนาคารเพื่อกลั่นแกล้งไม่ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับเงิน เป็นเหตุให้ธนาคารระงับการให้สินเชื่อและการเบิกจ่ายเงินของจำเลยที่ 1 ทันที โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดข้อตกลง เหตุที่จำเลยทั้งหกยอมทำบันทึกข้อตกลง และสัญญาค้ำประกันตามฟ้อง เพราะโจทก์ที่ 1 ข่มขู่ว่าจะไม่ลงลายมือชื่อค้ำประกันการออกตั๋วแลกเงินและตั๋วสัญญาใช้เงิน ทั้งจะทำเรื่องอายัดการกู้เงินของจำเลยที่ 1 ต่อธนาคารซึ่งจะทำให้กิจการของจำเลยที่ 1 เสียหาย บันทึกข้อตกลงและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจึงเป็นโมฆียกรรม จำเลยทั้งหกขอถือเอาคำให้การเป็นการบอกล้างโมฆียกรรมดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองที่ได้ค้ำประกันและจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หากไม่สามารถดำเนินการได้ และโจทก์ทั้งสามได้ชำระหนี้แก่ธนาคารเพื่อให้ปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองไปเป็นเงินเท่าใด ก็ให้จำเลยทั้งหกชำระเงินแก่โจทก์ทั้งสามตามนั้น ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 15,000,000 บาท แก่โจทก์ที่ 1 และให้จำเลยทั้งหกร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสามชนะคดีโดยกำหนดค่าทนายความ 300,000 บาท
จำเลยทั้งหกอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสามที่ว่า หากจำเลยทั้งหกไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดจำนองทรัพย์สินที่จำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 กับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทำให้โจทก์ทั้งสามต้องชำระหนี้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด จำนวนเท่าใด เพื่อปลดจากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดจำนอง ให้โจทก์ทั้งสามบังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งหก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยทั้งหกใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 50,000 บาท แทนโจทก์
โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับเฉพาะฎีกาของโจทก์ทั้งสาม แต่ไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 เนื่องจากจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมที่ต้องวางในชั้นฎีกามาวางศาลภายในกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นขยายให้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ที่ 1 เข้าซื้อหุ้นและเป็นกรรมการคนหนึ่งของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นอกจากนี้โจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ยังจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่ธนาคารดังกล่าวต่อมาเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2534 โจทก์ที่ 1 ตกลงขายหุ้นของตนทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 20,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ยอมแบ่งผลกำไรจากการซื้อขายที่ดินให้แก่โจทก์ที่ 1 ต่างหากจากการขายหุ้นอีก 50,000,000 บาท และมีข้อตกลงระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า โจทก์ที่ 1 จะค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 350,000,000 บาท ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534 ซึ่งจำเลยที่ 2 จะต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ธนาคารปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองทรัพย์สินภายในกำหนดเวลาดังกล่าว หากดำเนินการไม่สำเร็จ จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะจ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เดือนละ 1,000,000 บาท จนกว่าโจทก์ทั้งสามจะหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน และผู้จำนองตามบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.11 แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการเพื่อปลดโจทก์ทั้งสามให้หลุดพ้นจากความรับผิดต่อธนาคารตามข้อตกลง และได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่โจทก์ที่ 1 เพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2534 เป็นเงิน 1,000,000 บาท โจทก์ที่ 1 จึงทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระตามบันทึกข้อตกลง และทวงถามให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันตามหนังสือทวงถามเอกสารหมาย จ.16 ถึง จ.20
คดีคงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเพียงว่า โจทก์ทั้งสามจะฟ้องขอให้บังคับคดีเอาจากทรัพย์สินของจำเลยทั้งหกสำหรับจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสามอาจต้องชำระหนี้ให้แก่ธนาคารกรุงไทย จำกัด แทนจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ เห็นว่า บันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 ข้อ 3 วรรคแรก มีข้อความว่า “ผู้ขายตกลงเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สินของบริษัทเกียรตินัฏฐชัย จำกัด มีวงเงินค้ำประกัน 350,000,000 บาท (สามร้อยห้าสิบล้านบาทถ้วน) ต่อไปจนถึงวันที่ 3 เมษายน 2534… และภายในวันที่ 3 เมษายน 2534 เช่นกันผู้ซื้อจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้ธนาคารกรุงไทย จำกัด ปลดผู้ขาย นายสุรเกียรติ และนางสาววิลัดดา ออกจากเป็นผู้ค้ำประกัน และปลดจำนองทรัพย์สิน… ซึ่งจำนองประกันหนี้สินของบริษัทเกี่ยรตินัฏฐชัย จำกัด ทั้งหมด…” วรรคสอง มีข้อความว่า “ถ้าหากล่วงเลยกำหนดเวลาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ซื้อไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวให้สำเร็จได้ ผู้ซื้อและบริษัทเกียรตินัฏฐชัย จำกัด ตกลงจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ผู้ขายเดือนละ 1,000,000 บาท (หนึ่งถ้วนบาทถ้วน) ทุกๆ เดือนจนกว่าผู้ขายจะหลุดพ้นจากความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนอง” ซึ่งหมายความว่า โจทก์ที่ 1 จะมีสิทธิเรียกค่าตอบแทนเดือนละ 1,000,000 บาท ต่อเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อหุ้นจากโจทก์ที่ 1 ไม่สามารถดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองให้สำเร็จได้ภายในเวลาที่กำหนดอันเป็นการผิดข้อตกลงแล้วเท่านั้น ค่าตอบแทนภายเดือนดังกล่าวจึงเป็นค่าเสียหายที่กำหนดกันไว้ล่วงหน้า อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้งตามข้อตกลงดังกล่าวก็มิได้ระบุว่า หากจำเลยที่ 2 ไม่สามารถดำเนินการให้สำเร็จได้ภายเวลาที่กำหนดแล้วยังจะต้องดำเนินการเช่นนั้นอีกต่อไปจนสำเร็จ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 สัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคแรก ซึ่งหากเจ้าหนี้แสดงต่อลูกหนี้ว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับแล้ว ก็เป็นอันขาดสิทธิเรียกร้องชำระหนี้อีกต่อไป คดีได้ความว่า หลังจากพ้นกำหนดวันที่ 3 เมษายน 2534 โจทก์ที่ 1 ยอมรับเอาค่าตอบแทนของเดือนพฤษภาคม 2534 และต่อมาโจทก์ที่ 1 ยังมีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.20 ทวงถามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าตอบแทนที่ยังค้างชำระสำหรับเดือนต่อไป ถือว่าโจทก์ที่ 1 แสดงต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 แล้วว่าจะเรียกเอาเบี้ยปรับ สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่ 1 ที่จะบังคับให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลดโจทก์ที่ 1 จากการเป็นผู้ค้ำประกันและปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้จำนองย่อมเป็นอันขาดไป ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวการที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองจึงไม่ชอบ เพราะมีผลให้จำเลยทั้งหกต้องรับผิดเกินความรับผิดตามกฎหมายปัญหานี้ปรากฏจากข้อเท็จจริงในคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเอง และเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) โจทก์ทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ เพื่อจะบังคับคดีเอาจากจำเลยทั้งหกสำหรับจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสามอาจต้องชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 โดยอาศัยบันทึกข้อตกลงเอกสารหมาย จ.10 ได้ ส่วนจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ของธนาคารซึ่งโจทก์ทั้งสามอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองนั้น สิทธิของผู้ค้ำประกันที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ย่อมจะเกิดมีขึ้นต่อเมื่อผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้วตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 ส่วนสิทธิของผู้จำนองทรัพย์สินของตนเพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นจะต้องชำระประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 724 บัญญัติให้ผู้จำนองที่เข้าชำระหนี้เสียเอง แทนลูกหนี้เพื่อจะปัดป้องมิให้ต้องบังคับจำนองชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนจากลูกหนี้ตามจำนวนที่ได้ชำระไป และถ้าว่าต้องบังคับจำนอง ผู้จำนองก็ชอบที่จะได้รับเงินใช้คืนากลูกหนี้ตามจำนวนซึ่งผู้รับจำนองจะได้รับใช้หนี้จากการบังคับจำนอง ดังนั้น โจทก์ทั้งสามจะไล่เบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่เพียงใด จึงขึ้นอยู่กับว่าโจทก์ทั้งสามเข้าชำระหนี้เสียเองแทนจำเลยที่ 1 หรือมีการบังคับจำนองทรัพย์สินที่จำนองแล้วหรือไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสามเข้าชำระหนี้ให้แก่ธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้แทนจำเลยที่ 1 หรือธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ได้บังคับจำนองแล้วแต่อย่างใด สิทธิไล่เบี้ยของโจทก์ที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและโจทก์ทั้งสามในฐานะผู้จำนองจึงยังไม่เกิดขึ้น โจทก์ทั้งสามชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เพื่อการไล่เบี้ยเมื่อได้เข้าชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 หรือได้มีการบังคับจำนองทรัพย์สินที่จำนองแล้วเท่านั้น ซึ่งไม่เป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีนี้ดังที่โจทก์ทั้งสามอ้างในฎีกาแต่อย่างใดที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล และมีเหตุที่ต้องยกคำขอของโจทก์ทั้งสามที่ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองดังเหตุผลที่วินิจัยไว้ข้างต้นด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ทั้งสามที่ให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันดำเนินการปลดโจทก์ทั้งสามจากการเป็นผู้ค้ำประกันและผู้จำนองเสียด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share