คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9742/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับจำเลยและจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2542 โดยจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายเป็นเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี 2 กรรม ต่อมาจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีก 38 กรรม หลังจากข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรม จำเลยมิได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด ผู้เสียหายคงอยู่บ้านและไปทำงานได้ตามปกติดังนี้ ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรมแล้ว แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละเดือนจำนวนหลายครั้ง และในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งแต่ละกรรมเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสียหายไม่สามารถไปไหนได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276, 277, 285, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 276 วรรคแรก, 277 วรรคแรก, 285 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุไม่เกิน15 ปี ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานจำคุกกระทงละ 8 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 16 ปีฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งเป็นผู้สืบสันดาน จำคุกกระทงละ 8 ปีรวม 38 กระทง จำคุก 304 ปี รวมจำคุกจำเลยมีกำหนด 320 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา อันเป็นเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยมีกำหนด 160 ปี แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว คงจำคุกจำเลยมีกำหนด50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90(3) (ที่ถูกมาตรา 91(3))

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลชั้นต้นรับฎีกาจำเลยเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายว่าศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยหลายกรรม โดยเรียงกระทงลงโทษจำนวน 40 กระทง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ส่วนฎีกาจำเลยในปัญหาข้อเท็จจริงศาลชั้นต้นไม่รับเพราะต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกซึ่งจำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น คดีจึงขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวเท่านั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนี้ศาลฎีกาจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้เสียหายเกิดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2524 มิได้เป็นภริยาของจำเลย แต่เป็นผู้สืบสันดานของจำเลย โดยเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยซึ่งเกิดจากนางรำพัน ขำสม ผู้เสียหายพักอาศัยอยู่กับจำเลย และจำเลยได้ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายตั้งแต่ปี 2539 ถึงปี 2542 โดยจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายเป็นเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี 2 กรรมต่อมาจำเลยข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอีก 38 กรรม หลังจากข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละกรรมดังกล่าวข้างต้น จำเลยมิได้ควบคุมหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายไว้ในสถานที่เกิดเหตุเพื่อกระทำชำเราผู้เสียหายในครั้งต่อไปแต่อย่างใด ผู้เสียหายคงอยู่บ้านและไปทำงานได้ตามปกติ ข้อเท็จจริงฟังได้เช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้เสียหายย่อมพ้นจากภยันตรายอันเกิดจากการกระทำความผิดของจำเลยในแต่ละกรรมแล้วดังนั้น แม้จำเลยจะกระทำชำเราผู้เสียหายในแต่ละเดือนจำนวนหลายครั้งและในแต่ละครั้งจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาเดียวกันคือกระทำชำเราก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยในแต่ละครั้งแต่ละกรรมเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายคนละวันต่างวาระกัน และมิได้กระทำต่อเนื่องกันโดยหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้เสียหายไว้จนผู้เสียหายไม่สามารถไปไหนได้การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91บัญญัติให้ศาลลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะที่เป็นเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานและมิใช่ภริยาของตน 2 กรรม และข่มขืนกระทำชำเราหญิงอายุเกิน 15 ปี ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานและมิใช่ภริยาของตน 38 กรรมดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยโดยเรียงกระทงลงโทษรวม 40 กระทง จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว หาใช่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่จำเลยฎีกาไม่ ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share