คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3548/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่ายการใช้ไฟฟ้าไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไปจริง แต่มิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งการติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบก็ไม่ได้แสดงแน่ชัดว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาแต่เมื่อใด การที่โจทก์คิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังโดยดูจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงแต่คาดคะเนเอง ไม่อาจฟังเอาแน่นอนว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังตั้งแต่เดือนดังกล่าวจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2538 ที่พบความชำรุดบกพร่อง โจทก์คงมีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องใหม่ให้จำเลยที่ 1
โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าแก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโรงงานผลิตฟิล์มของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าเพิ่มและใช้ไฟฟ้าที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ แอลบี-8695 ขนาด 200 แอมแปร์ 24,000 โวลต์ 3 ยก 3 สาย ติดตั้งที่เลขที่ 73/3 หมู่ที่ 4 ถนนบางนา-ตราด กม.13 ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ตกลงว่าจะชำระเงินค่าธรรมเนียมการใช้ไฟฟ้า ค่าไฟฟ้าตามอัตราที่โจทก์กำหนดจนกว่าจะบอกเลิกการใช้ไฟฟ้าเป็นลายลักษณ์อักษรและจะปฏิบัติตามข้อบังคับการบริการและใช้ไฟฟ้าของโจทก์ โจทก์ได้อนุมัติตามคำขอของจำเลยที่ 1 โดยติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเพิ่มดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2538 พนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวที่ใช้วัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 แสดงค่าหน่วยและค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดลดลงผิดปกติ จึงได้ตรวจสอบพบว่าสายคอนโทรล (สายควบคุม) เส้นสีเขียววัดกระแสไม่ขึ้นเนื่องจากสายคอนโทรลเส้นสีดำช็อตขาดภายใน (กล่องต่อสายซีที.เฟส 3) เป็นผลให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าไม่ถูกต้อง จากนั้นโจทก์ได้นำเครื่องวัดมาตรฐานไปทำการติดตั้งเปรียบเทียบตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2539 ปรากฏว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าดังกล่าวแสดงจำนวนหน่วยมากกว่าเครื่องวัดเทียบ 185.35 เปอร์เซ็นต์ แสดงค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดมากกว่าเครื่องวัดเทียบช่วงออนพีค 180 เปอร์เซ็นต์ ช่วงพาเชียลพีค 177.78 เปอร์เซ็นต์ ช่วงออฟพีค 175 เปอร์เซ็นต์ และผลเทียบแสดงค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูญเสียสูงสุด (กิโลวาร์) น้อยกว่าเครื่องวัดเทียบ 8.33 เปอร์เซ็นต์ และจากการตรวจสอบสถิติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 พบว่าค่าพลังงานไฟฟ้าเริ่มลดลง ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 และค่าความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดเริ่มลดลงผิดปกติตั้งแต่เดือนกันยายน 2537 เป็นต้นมา แสดงว่าเครื่องวัดกิโลวัตต์แสดงค่าไม่ถูกต้องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 ทำให้โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินเรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 ไม่ถูกต้องน้อยกว่าความเป็นจริงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 ถึงวันที่ 29 เมษายน 2539 ดังนั้นโจทก์จึงคำนวณค่าไฟฟ้าที่จำเลยที่ 1 ใช้ไปในช่วงระยะเวลาดังกล่าวใหม่ให้ถูกต้องปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มให้แก่โจทก์อีกเป็นเงินจำนวน 12,225,592 บาท จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 4,228,200 บาท และจำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ในวงเงินไม่เกิน 1,783,200 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มโดยให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดในวงเงินที่ค้ำประกันแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี คิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 12,818,450 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในวงเงิน 4,305,524 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในวงเงิน 1,814,712 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงที่จะปฏิบัติตามข้อบังคับใดๆ ของโจทก์ มาตรวัดหน่วยไฟฟ้าที่โจทก์ติดตั้งเพื่อวัดปริมาณการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำรุดและโจทก์ไม่เคยแจ้งเรื่องความชำรุดให้จำเลยที่ 1ทราบ หากชำรุดตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 โจทก์ควรทราบหลังจากนั้นไม่นานนัก และการนำเครื่องวัดมาตรฐานไปติดตั้งเปรียบเทียบก็กระทำล่าช้าโดยปราศจากเหตุผล จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เหตุที่การใช้กระแสไฟฟ้าในช่วงดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ลดลง เนื่องจากในช่วงดังกล่าวจำเลยที่ 1 ลดกำลังการผลิตลง การประเมินของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าเพิ่ม จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับการบอกกล่าวทวงถามจากโจทก์จึงไม่ใช่ผู้ผิดนัด โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าไฟฟ้าให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว สัญญาค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2538 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ค่าไฟฟ้าตามฟ้องจึงเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 2 เข้าผูกพันตามสัญญา จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์นำเครื่องวัดมาตรฐานไปติดตั้งเปรียบเทียบห่างจากวันที่ตรวจพบความบกพร่องกว่า 1 ปี เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 12,225,592 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกินจำนวน 592,858 บาท ทั้งนี้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดในต้นเงินไม่เกินจำนวน 4,228,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 77,324 บาท และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในต้นเงินไม่เกินจำนวน 1,783,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวน 31,512 บาท กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสามค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นิติบุคคลตามพระราชบัญญัติการไฟฟ้านครหลวง พ.ศ.2501 มีวัตถุประสงค์ในการจัดให้ได้มาและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอใช้ไฟฟ้าจากโจทก์ โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเลขที่ พิเศษ แอลบี-8695 ให้จำเลยที่ 1 ที่โรงงานเลขที่ 73/3 หมู่ 4 ถนนบางนา-ตราด ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระค่าไฟฟ้าแก่โจทก์ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2538 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่ติดตั้งสายควบคุมเส้นสีเขียววัดกระแสไม่ขึ้น เนื่องจากสายควบคุมเส้นสีดำเกิดลัดวงจร
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสามต้องร่วมกันรับผิดชำระค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมย้อนหลังแก่โจทก์หรือไม่ เพียงใดได้ความจากนายนภดลและนายนิโรจน์พยานโจทก์ว่า หลังจากตรวจพบว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าชำรุด ต่อมาเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2539 โจทก์ได้ติดตั้งเครื่องวัดหน่ายไฟฟ้าเปรียบเทียบและจากการตรวจวัดเปรียบเทียบระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม 2539 ถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2539 พบว่าค่าความต้องการพลังไฟฟ้าและค่าหน่วยพลังไฟฟ้าคลาดเคลื่อนดังปรากฏตามรายงานแบบติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าน้อยลงไป ซึ่งนางพยอมและนายเจริญ พยานโจทก์เบิกความได้ความว่าจากการตรวจสอบประวัติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.15 พบว่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 ลดลงผิดปกติตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 จากก่อนหนี้นี้ประมาณ 800,000 หน่วย เหลือเพียงประมาณ 600,000 หน่วย โจทก์จึงคิดค่าไฟฟ้าใหม่ตั้งแต่วันดังกล่าวและเรียกให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมตามใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าเอกสารหมาย จ.6 แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระแก่โจทก์ เห็นว่า การที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเกิดชำรุดบกพร่องดังโจทก์นำสืบ เชื่อว่าทำให้เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าลดลง แม้โจทก์จะติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบล่าช้าไปบ้างหลังตรวจพบความชำรุดบกพร่อง แต่ความล่าช้าก็น่าเชื่อว่ามาจากโจทก์ต้องไปดำเนินการซื้อหาเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าที่มีขนาดและชนิดเดียวกันเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเดิมที่ชำรุดบกพร่องและใช้เฉพาะแต่โรงงานขนาดใหญ่ซึ่งใช้กำลังไฟฟ้าจำนวนมากมาจากต่างประเทศจึงยังไม่พอฟังว่าเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 1 ได้ลดการผลิตทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ดังกล่าว เชื่อว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงหน่วยการใช้ไฟฟ้าไม่ตรงกับที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้ไปจริง อย่างไรก็ตาม การที่เครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเกิดชำรุดบกพร่องมิได้เกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ทั้งการติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเปรียบเทียบก็ไม่ได้แสดงแน่ชัดว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าแสดงค่าหน่วยการใช้ไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาแต่เมื่อใด การที่โจทก์คิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังโดยดูจากประวัติการใช้ไฟฟ้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงแต่คาดคะเนเอง ไม่อาจฟังเอาแน่นอนว่าเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าคลาดเคลื่อนมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2537 โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังตั้งแต่เดือนดังกล่าวจนถึงวันที่ 12 มกราคม 2538 ที่พบความชำรุดบกพร่อง โจทก์คงมีสิทธิคิดค่าไฟฟ้าย้อนหลังนับแต่วันที่ 12 มกราคม 2538 ถึงวันที่ 21 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ติดตั้งเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าเครื่องใหม่ให้จำเลยที่ 1 คิดเป็นเงิน 11,363,743.50 บาท ตามใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าและบันทึกข้อความเอกสารหมาย จ.6 และ จ.14 จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินที่ตนค้ำประกัน ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อมา คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ขายกระแสไฟฟ้าแก่จำเลยที่ 1 เพื่อใช้ในการประกอบกิจการจากโรงงานผลิตฟิล์มของจำเลยที่ 1 ย่อมถือได้ว่า เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องค่าไฟฟ้าของโจทก์จึงเข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามความในตอนท้ายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) แต่มีอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 11,363,743.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี น้บแต่วันที่ 11 มีนาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้อง (ฟ้องวันที่ 7 พฤศจิกายน 2540) ไม่เกิน 592,858 บาท โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 4,228,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่เกิน 77,324 บาท และให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในต้นเงิน 1,783,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 5 สิงหาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยก่อนฟ้องไม่เกิน 31,512 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share