คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3897/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินโดยคำนวณจากราคาปานกลางของที่ดินและอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้าย พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจึงต้องคำนึงถึงที่ตั้ง ขนาดเนื้อที่ และลักษณะการใช้ที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ก็บัญญัติฟให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลง ดังนี้ การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25 จึงต้องถือตามจำนวนเงินค่าภาษีที่มีการโต้แย้งการประเมินเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินแต่ละแปลงแยกจากกันเป็นแต่ละข้อหา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 3561, 3562, 3563, 1188 และ 1574 เนื้อที่รวม 175 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ตั้งอยู่ที่ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ระหว่างปี 2528 ถึงปี 2544 โจทก์เสียภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราที่เจ้าของที่ดินเป็นผู้ทำประโยชน์ด้วยตนเอง คิดเป็นเงินค่าภาษีปีละ 877.85 บาท เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2545 โจทก์ส่งเงินเพื่อชำระเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ไปให้จำเลยจำนวน 877.85 บาท แต่จำเลยส่งเงินคืนโจทก์และแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 ในอัตราปีละ 66,913.29 บาท โจทก์ไม่พอใจการประเมินจึงอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเลยได้ดำเนินการโดยชอบแล้ว จึงวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์เห็นว่าโจทก์ได้ทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมาตั้งแต่ปี 2526 จนถึงปัจจุบันโดยทำนาปลูกข้าวและต่อมาได้ทำนาบัว แต่มีที่ดินบางส่วนที่ไม่อาจเพาะปลูกได้เพราะมีสภาพน้ำเน่าเสียเนื่องจากชุมชนบริเวณรอบที่ดินดังกล่าวปล่อยน้ำเสียลงในที่ดินของโจทก์ ช่วงที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยไปตรวจสอบสภาพที่ดินล่วงเลยระยะเวลาเก็บเกี่ยวไปแล้ว กำลังรอการไถปรับสภาพที่ดินเพื่อปลูกบัวและพันธุ์พืชอื่น โจทก์ไม่ได้ปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าดังที่จำเลยกล่าวอ้าง การที่โจทก์นำต้นโสนแอฟริกันมาปลูกในที่ดินก็เพื่อปรับปรุงและฟื้นสภาพที่ดินให้ดีขึ้นเพื่อโจทก์จะได้ใช้ที่ดินในการเกษตรกรรมได้สมประโยชน์มากขึ้น การประเมินภาษีของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีจึงคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ปท 0018/45179 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 และการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 ตามหนังสือแจ้งการประเมินที่ ปท 52202/126 ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 โดยให้จำเลยเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 ในอัตราปีละ 877.85 บาท หรืออัตราที่ถูกต้องเหมาะสมตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508
จำเลยให้การว่า เมื่อปี 2545 ซึ่งเป็นปีครบรอบที่เจ้าของที่ดินทุกรายต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 และเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยต้องตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ใหม่ เจ้าพนักงานสำรวจและพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ไปตรวจสอบสภาพการใช้ที่ดินของโจทก์ทั้ง 5 แปลง แล้วพบว่าสภาพที่ดินมีหญ้าและวัชพืชขึ้นหนาแน่นมาก ลักษณะพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งมีแอ่งน้ำเป็นบางส่วน ส่วนที่เป็นแอ่งน้ำมีบัวขึ้นประปรายตามลักษณะของแอ่งน้ำทั่วไป ไม่มีสภาพหรือลักษณะของการทำนาบัวหรือประกอบกสิกรรม กรณีจึงถือว่าเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน เว้นแต่ที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 เฉพาะบริเวณที่ติดกับคลองซอยที่ 1 โจทก์ได้ให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์ปลูกพืชล้มลุกเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงคำนวณและเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่โดยใช้ราคาปานกลางของที่ดินตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ฉบับลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2520 คิดเป็นเงินภาษีอัตราไร่ละ 195 บาท โดยพิจารณาลดหย่อนค่าภาษีแก่โจทก์จำนวน 100 ตารางวา เนื่องจากเป็นที่ดินของบุคคลหลายคนเป็นเจ้าของที่ดินรวมกัน และที่ดินบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 ซึ่งโจทก์ให้ผู้อื่นทำประโยชน์ปลูกพืชล้มลุกจำนวน 5 ไร่ กำหนดให้เสียภาษีกึ่งหนึ่ง อัตราไร่ละ 97.50 บาท คิดเป็นเงินภาษี 487.50 บาท ส่วนที่ดินที่เหลือ 170 ไร่ 1 งาน 29 ตารางวา ถือว่าเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าและไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน จึงต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเท่า คืออัตราไร่ละ 390 บาท คิดเป็นเงินภาษี 66,425.79 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 ปีละ 66,913.29 บาท เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีจำนวนดังกล่าว โจทก์ไม่พอใจการประเมินจึงอุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ในการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพที่ดินหรือไม่ ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2545 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ไปตรวจสอบสภาพที่ดินของโจทก์ พบว่าที่ดินมีหญ้าและวัชพืชขึ้นปกคลุมหนาทึบ ไม่ปรากฏชัดว่ามีร่องรอยการปลูกพืชหรือมีการทำประโยชน์ และตามหนังสือของสำนักงานเกษตรอำเภอลำลูกกา ฉบับลงวันที่ 25 มิถุนายน 2545 ให้ความเห็นว่า สภาพที่ดินของโจทก์ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกบัวและพืชล้มลุก คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงเสนอความเห็นให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ผลการตรวจสอบสภาพที่ดินของโจทก์ที่ไม่ปรากฏร่องรอยการเพาะปลูกหรือการทำประโยชน์ในที่ดิน โดยที่ดินบางส่วนมีบัวขึ้นอยู่ตามสภาพธรรมชาติ นอกจากจะสอดคล้องกับความเห็นของเกษตรอำเภอลำลูกกาซึ่งไปตรวจสภาพที่ดินเมื่อเดือนมิถุนายน 2545 ว่าสภาพที่ดินของโจทก์ไม่เหมาะสมกับการปลูกบัวและพืชล้มลุกแล้ว ยังสอดคล้องกับที่โจทก์กล่าวอ้างว่าไม่สามารถทำการเกษตรได้เนื่องจากสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปทำให้ไม่มีน้ำผ่านถึงที่ดินได้ และจากการตรวจสอบของเจ้าพนักงานสำรวจและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ไม่พบโรงเรือน ที่พักอาศัย รวมตลอดถึงเครื่องยนต์ เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์อื่นที่จำเป็นในการประกอบกสิกรรม นอกจากนี้การประเมินเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ในคดีนี้เป็นภาษีสำหรับปี 2545 ถึงปี 2548 พยานหลักฐานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2526 ถึงปี 2539 จึงไม่อาจนำมารับฟังได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินของจำเลยและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีจึงถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นธรรมแก่โจทก์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 3561, 3562, 3563, 1188 และ 1574 ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 1 ถึง 5 เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2545 โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 สำหรับที่ดินทั้ง 5 แปลง ดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 1 เจ้าพนักงานของจำเลยไปตรวจสอบสภาพที่ดินของโจทก์แล้วมีความเห็นว่า ที่ดินทั้ง 5 แปลง มีลักษณะเป็นที่ดินที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าโดยไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพของที่ดิน เว้นแต่บางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 1574 เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ ที่โจทก์ให้ผู้อื่นใช้ประโยชน์โดยปลูกพืชล้มลุก จึงประเมินให้โจทก์ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 โดยใช้ราคาปานกลางของที่ดินที่ประเมินไร่ละ 80,000 บาท ตามประกาศราคาปานกลางของที่ดินตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2520 เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 68 คำนวณภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 คิดเป็นเงินค่าภาษีที่โจทก์ต้องชำระสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 3561 จำนวน 2,194.73 บาท โฉนดเลขที่ 3562 จำนวน 2,427.75 บาท โฉนดเลขที่ 3563 จำนวน 2,430.68 บาท โฉนดเลขที่ 1188 จำนวน 45,552.98 บาท และโฉนดเลขที่ 1574 จำนวน 14,307.15 บาท รวมเป็นเงินค่าภาษีบำรุงท้องที่ปีละ 66,913.29 บาท โดยแจ้งการประเมินไปยังโจทก์ตามหนังสือที่ ปท. 52202/126 ลงวันที่ 19 เมษายน 2545 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 60 โจทก์อุทธรณ์คัดค้านการประเมินต่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีขอให้ยกเลิกการประเมินโดยอ้างว่าโจทก์ทำนาบัวในที่ดินทั้ง 5 แปลง ตลอดมา จึงควรเสียภาษีบำรุงท้องที่เป็นเงินปีละ 877.85 บาท ตามหนังสืออุทธรณ์ (ภ.บ.ท.12) เอกสารหมาย ล.2 แผ่นที่ 106 ถึง 108 ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ตามหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ ปท 0018/45179 ลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 เอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 81 ถึง 83
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการเดียวว่า โจทก์ใช้ที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ประกอบการกสิกรรมโดยทำนาบัวด้วยตนเองหรือไม่ เห็นว่า ภาษีบำรุงท้องที่เป็นภาษีที่จัดเก็บจากที่ดินโดยคำนวณจากราคาปานกลางของที่ดินและอัตราภาษีตามบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ท้ายพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ในการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจึงต้องคำนึงที่ตั้ง ขนาดเนื้อที่ และลักษณะการใช้ที่ดินแต่ละแปลง ซึ่งตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ก็บัญญัติให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินเป็นรายแปลง ดังนี้ การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทจึงต้องถือตามจำนวนเงินค่าภาษีที่มีการโต้แย้งการประเมินเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่ของที่ดินแต่ละแปลงแยกจากกันเป็นแต่ละข้อหา ปรากฏตามหนังสือแจ้งการประเมินเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 60 ว่าเจ้าพนักงานของจำเลยแจ้งการประเมินให้โจทก์ชำระภาษีบำรุงท้องที่ประจำปี พ.ศ.2545 ถึงปี พ.ศ.2548 เป็นรายปี สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 3561, 3562, 3563, 1188 และ 1574 เป็นเงินภาษี 2,194.73 บาท 2,427.75 บาท 2,430.68 บาท 45,552.98 บาท และ 14,307.15 บาท ตามลำดับ เมื่อผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานีพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว มีคำวินิจฉัยยืนตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินทุนทรัพย์ที่พิพาทแต่ละข้อหาในคดีจึงไม่เกิน 50,000 บาท อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมีน้ำหนักฟังได้ว่า โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินได้ประกอบกสิกรรมประเภทไม้ล้มลุกในที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ด้วยตนเองตลอดมา เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลภาษีอากรกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 แม้ศาลภาษีอากรกลางจะสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์มา ก็เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share