แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อายุความบอกล้างสัญญาประกันภัยตอนแรกของมาตรา 865 วรรคสองนั้นหมายถึงว่า ผู้รับประกันภัยต้องใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้
โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตซึ่งผู้ตายทำไว้กับบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2509 พร้อมด้วยรายงานของนายแพทย์โรงพยาบาลผู้รักษาผู้ตายครั้งสุดท้ายว่า ผู้ตายป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และตายด้วยโรคดังกล่าว และได้ระบุไว้ในรายงานนั้นอีกว่าผู้ตายเคยรับการผ่าตัดด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อ 2 ปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาก่อนผู้ตายเอาประกันชีวิตไว้กับบริษัทจำเลย เช่นนี้ถือว่าบริษัทจำเลยย่อมมีเหตุควรทราบได้แล้วว่าผู้ตายได้ปกปิดข้อความจริงดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2509 บริษัทจำเลยจะอ้างว่ารายงานแพทย์ดังกล่าวนั้น ยังไม่แน่นอน บริษัทจำเลยยังต้องสืบสวนต่อไปจนได้ความจริงแน่นอนเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2509 ว่าผู้ตายได้ป่วยและรับการผ่าตัดด้วยโรคดังกล่าวมิได้ เพราะอายุความกฎหมายกำหนดให้เริ่มนับแต่วันที่ทราบมูลอันจะบอกล้างได้เท่านั้นมิใช่เริ่มนับแต่วันที่ทราบความจริง ฉะนั้นเมื่อบริษัทจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2509 ซึ่งเป็นเวลาเกินหนึ่งเดือนแล้วกรมธรรม์ประกันชีวิตจึงมีผลบังคับบริษัทจำเลย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๘ นางนพรัตน์ วิงประวัติ ได้ทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัทอเมริกันอินเตอร์แนชชั่นแนลแอสชัวรันส์ จำกัด สาขานครสวรรค์ ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยแบบสะสมทรัพย์เป็นจำนวนเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาท มีกำหนดระยะเวลาประกัน ๒๐ ปี ต้องชำระเบี้ยประกันภัยทุกงวด ๓ เดือน งวดละ ๑,๘๘๖.๔๐ บาท ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันชีวิตเลขที่ ๓๑๘๙๕๒ โดยโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ตามกรมธรรม์
ต่อมานางนพรัตน์ผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ โจทก์ได้มอบหลักฐานต่าง ๆ แก่นางเบญจา วัยวุฒิ ผู้รักษาการแทนบริษัทสาขาจำเลยขอรับเงินตามกรมธรรม์ประกันชีวิต แต่จำเลยปฏิเสธความรับผิดโดยอ้างว่าถ้อยคำที่นางนพรัตน์ให้ไว้ในคำขอเอาประกันชีวิตและใบตรวจสุขภาพไม่เป็นความจริง ซึ่งเป็นการผิดคำรับรองอันถือว่าเป็นสารสำคัญแห่งกรมธรรม์ประกันชีวิตและเป็นความผิดของผู้เอาประกัน ก่อนบริษัทจำเลยจะรับประกันชีวิตก็ได้ส่งแพทย์ทำการตรวจร่างกายของผู้เอาประกันชีวิตแล้วหากผิดพลาดจากความจริงก็เป็นเพราะความผิดพลาดของแพทย์ของจำเลยซึ่งควรจะได้รู้หากได้ใช้ความระมัดระวังอันพึงคาดหมายได้แต่วิญญูชน จำเลยมิได้บอกล้างสัญญาภายในกำหนดระยะเวลา ๑ เดือนนับแต่วันที่โจทก์ได้แจ้งรายละเอียดสาเหตุการตายของผู้เอาประกันชีวิตให้ผู้รับประกันชีวิตทราบมูลอันจะบอกล้างได้ จึงถือว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับไปตามมาตรา ๘๖๕ วรรค ๒ จำเลยต้องรับผิดใช้เงินตามสัญญา ขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระเงินประกันชีวิตจำนวน ๑๒๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีถึงวันฟ้องเป็นเวลา ๕ เดือน เป็นเงิน ๓,๗๕๐ บาท กับต่อจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยรับประกันชีวิตนางนพรัตน์ วิงประวัติ ผู้ตายในวงเงินประกัน ๑๒๐,๐๐๐ บาท จำเลยได้รับแจ้งพร้อมหลักฐานจากโจทก์เพื่อเรียกร้องเงินประกันชีวิตเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ ว่านางนพรัตน์ตายด้วยโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๐๙ จำเลยสงสัยการตายของนางนพรัตน์หลังจากทำสัญญาประกันชีวิตเพียงปีเศษจึงสืบสวนสาเหตุและทราบความจริงเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๙ ว่าก่อนที่จะเอาประกันชีวิตไว้กับจำเลยนั้น นางนพรัตน์ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้เคยได้รับการบำบัดรักษาในโรงพยาบาลมาหลายครั้ง ทั้งยังเคยได้รับการผ่าตัดเกี่ยวกับโรคดังกล่าว เมื่อนายแพทย์ของจำเลยตรวจสุขภาพและสอบถามประวัติเพื่อพิจารณาคำขอเอาประกันชีวิตนั้น นางนพรัตน์รู้ตัวดีว่าเป็นโรคนี้อยู่แล้วแต่ละเว้นเสียไม่เปิดเผย ข้อความจริงเกี่ยวกับการที่ตนป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้และเคยได้รับการผ่าตัดมาแล้วให้แพทย์ของจำเลยทราบทั้งแจ้งเท็จว่าไม่เคยเจ็บป่วยใด ๆ มาก่อนและสุขภาพไม่ทรุดโทรม ซึ่งหากจำเลยรู้มาก่อนว่านางนพรัตน์ป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้และเคยได้รับการผ่าตัดมาแล้ว จำเลยก็จะไม่รับประกันชีวิตนางนพรัตน์โดยเด็ดขาด การที่นางนพรัตน์ปิดบังความจริงและแถลงข้อความอันเป็นเท็จแก่นายแพทย์ของจำเลยเป็นการฉ้อฉลให้จำเลยเข้าทำสัญญาด้วยนิติกรรมสัญญาประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะจำเลยเพิ่งทราบความจริง เมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๙ ภายหลังจากได้สืบสอบแล้ว และได้บอกล้างกรมธรรม์ไปยังโจทก์เมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นการบอกล้างภายในกำหนด ๑ เดือน กรมธรรม์สัญญาจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องใช้เงินตามกรมธรรม์สัญญา
ศาลชั้นต้นพิจารณา ๒ ประเด็น คือ
๑. นางนพรัตน์ปิดบังความจริงหรือแถลงข้อความเท็จเรื่องที่เคยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้แก่แพทย์ของจำเลยเมื่อขอเอาประกันจริงหรือไม่ และประเด็นข้อนี้ฟังได้ว่านางนพรัตน์ได้ปิดบังความจริงและแถลงข้อความเท็จเรื่องที่ตนเคยป่วยเป็นโรคมะเร็งในลำไส้มาก่อนต่อนายแพทย์ของจำเลยนิติกรรมประกันชีวิตจึงตกเป็นโมฆียะ
๒. จำเลยบอกล้างกรมธรรม์ประกันชีวิตภายในกำหนด ๑ เดือนนับแต่วันที่จำเลยได้ทราบมูลอันจะบอกล้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ วรรค ๒ หรือไม่ ประเด็นข้อนี้ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมเกิน ๑ เดือน นับแต่วันทราบมูลอันจะบอกล้างได้แล้ว สิทธิบอกล้างจึงระงับไป กรมธรรม์ประกันชีวิตมีผลบังคับจำเลยต้องใช้เงินให้โจทก์ พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ๑๒๓,๗๕๐ บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในต้นเงิน ๑๒๐,๐๐๐ บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยบอกล้างภายในกำหนด ๑ เดือน สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆะ
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ในชั้นฎีกามีประเด็นวินิจฉัยข้อเดียวว่า บริษัทจำเลยใช้สิทธิบอกล้างโมฆียะกรรมภายในกำหนด ๑ เดือนนับแต่วันที่บริษัทจำเลยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ หรือไม่
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว โจทก์ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ตามกรมธรรม์สัญญาประกันชีวิตที่นางนพรัตน์ผู้ตายทำไว้กับบริษัทจำเลยเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ โจทก์ได้ยื่นตามแบบฟอร์มของบริษัทจำเลย โดยเฉพาะโจทก์ได้ยื่นรายงานของนายแพทย์โรงพยาบาลวชิระผู้รักษานางนพรัตน์ผู้ตายครั้งสุดท้ายจนถึงแก่ความตาย ว่านางนพรัตน์ป่วยเป็นมะเร็งที่ลำไส้ใหญ่และตายเพราะมะเร็งลุกลามไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายนายแพทย์ได้ระบุไว้ในรายงานนั้นอีกว่าผู้ตายเคยรับการผ่าตัดด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่โรงพยาบาลศิริราชมา ๒ ปีก่อน ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อบริษัทจำเลยได้รับรายงานของแพทย์ดังกล่าว บริษัทจำเลยย่อมมีเหตุควรทราบได้แล้วว่านางนพรัตน์เคยป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และเคยรับการผ่าตัดด้วยโรคนี้มาแล้ว และนางนพรัตน์ปกปิดความจริงดังกล่าวเสีย ซึ่งเป็นสารสำคัญที่บริษัทจำเลยจะไม่รับประกันชีวิตนางนพรัตน์หากนางนพรัตน์บอกความจริง ดังนั้น จึงฟังได้ว่าบริษัทจำเลยได้ทราบมูลอันจะบอกล้างโมฆียะกรรมได้แล้วตั้งแต่วันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์แจ้งขอรับประโยชน์จากการเอาประกันชีวิตนางนพรัตน์พร้อมทั้งแสดงรายงานของแพทย์ว่านางนพรัตน์ตายด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ บริษัทจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมเมื่อวันที่ ๑๑ตุลาคม ๒๕๐๙ เกินหนึ่งเดือนแล้ว บริษัทจำเลยจึงหมดสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ วรรค ๒ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่นางนพรัตน์ผู้ตายทำไว้กับบริษัทจำเลยโดยให้โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์จึงมีผลบังคับจำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า รายงานแสดงเหตุการตายของนางนพรัตน์โดยนายแพทย์โรงพยาบาลวชิระศาลหมาย จ.๑ ที่ว่า นางนพรัตน์ตายด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และเคยรับการผ่าตัดโรคมะเร็งมาจากโรงพยาบาลศิริราช ๒ ปีก่อนนั้นยังไม่แน่นอน บริษัทจำเลยจึงต้องสืบสวนข้อเท็จจริงเสียให้แน่นอนจนได้ความจริงว่านางนพรัตน์เคยป่วยและรับการผ่าตัดก่อนจะมาขอเอาประกันชีวิตกับบริษัทจำเลย ซึ่งบริษัทจำเลยทราบแน่นอนเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๐๙ จึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว บริษัทจำเลยบอกล้างโมฆียะกรรมภายในกำหนดหนึ่งเดือนนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๖๕ ให้เริ่มนับแต่วันที่ทราบมูลอันจะบอกล้างเท่านั้น มิใช่ให้เริ่มนับแต่วันที่ทราบความจริงดังที่บริษัทจำเลยฎีกา
พิพากษายืน