คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ทนายจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์วันที่ 24 พฤษภาคม 2549 อันเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายโดยในคำฟ้องอุทธรณ์มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ของงานรับฟ้องอุทธรณ์ฎีกาว่า “24 MAY’06 16.46” ซึ่งหมายถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 เวลา 16.46 นาฬิกา และมีบันทึกเสนอของเจ้าหน้าที่ว่าทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์เวลา 16.46 นาฬิกา ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ขอขยาย รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย การที่เจ้าหน้าที่งานรับฟ้องซึ่งยังปฏิบัติงานอยู่รับคำฟ้องอุทธรณ์ไว้ โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อทนายจำเลยว่าพ้นเวลาราชการแล้ว ในวันรุ่งขึ้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้มีข้อขัดแย้ง แสดงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาบันทึกของเจ้าหน้าที่ศาลแล้วว่าขณะที่ทนายจำเลยนำคำฟ้องมายื่นนั้น ศาลชั้นต้นยังไม่ปิดทำการ ทนายจำเลยจึงสามารถยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ศาลได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลย จึงถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่านั้น ให้ลงโทษฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,200,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 800,000 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 โดยกักขังแทนค่าปรับเป็นเวลา 1 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนและโทรศัพท์เคลื่อนที่ของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามสำนวนปรากฏว่าทนายจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์วันที่ 24 พฤษภาคม 2549 อันเป็นวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย โดยในคำฟ้องอุทธรณ์มีข้อความเป็นตัวพิมพ์ของงานรับฟ้องอุทธรณ์-ฎีกาว่า “24 MAY’06 16.46″ ซึ่งหมายถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2549 เวลา 16.46 นาฬิกา และมีบันทึกเสนอของเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นว่าทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์เวลา 16.46 นาฬิกา ปรากฏตามเครื่องตอกเวลา ต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์ภายในกำหนดที่ขอขยาย รับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย สำเนาให้โจทก์แก้ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า เจ้าหน้าที่งานรับฟ้องอุทธรณ์ฎีกาของศาลชั้นต้นซึ่งยังปฏิบัติงานอยู่รับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไว้โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อทนายจำเลยว่าพ้นเวลาราชการแล้ว ในวันรุ่งขึ้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลย โดยมิได้มีข้อขัดแย้งแต่ประการใด แสดงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาบันทึกของเจ้าหน้าที่ศาลแล้วว่าขณะที่ทนายจำเลยนำคำฟ้องมายื่นนั้น ศาลชั้นต้นยังไม่ปิดทำการ ทนายจำเลยจึงสามารถยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ศาลได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ว่า ทนายจำเลยเดินทางมาถึงศาลชั้นต้นทันเวลาทำการ ได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ทันกำหนด แล้วเดินทางกลับ ทนายจำเลยไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นจะประทับเวลาในคำฟ้องอุทธรณ์อย่างไร ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย และเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share