คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2773/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

คดีก่อนจำเลยที่1เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับพวกเป็นจำเลยในข้อหาว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่โจทก์จ้างจำเลยที่1ก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษาของโจทก์และโจทก์ได้สั่งให้จำเลยที่1ระงับการก่อสร้างเนื่องจากโจทก์ได้ทำการออกแบบแปลนตัวอาคารที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนโดยความผิดพลาดของโจทก์เองและเรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่1จึงมีประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่และจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่1เท่าใดศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่1เพราะจำเลยที่1ยังไม่มีสิทธิบอกกล่าวเลิกสัญญากับโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่1และจำเลยที่2เป็นจำเลยในคดีนี้ในข้อหาว่าจำเลยที่1ผิดสัญญาก่อสร้างฉบับเดียวกันโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีก่อนว่าโจทก์ได้ออกแบบแปลนตัวอาคารผิดพลาดโดยเหตุที่ที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ของบริเวณที่ดินที่ก่อสร้างเป็นของเอกชนต่อมาโจทก์ได้จัดซื้อที่ดินของเอกชนดังกล่าวแล้วจึงขอให้จำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างต่อไปแต่จำเลยทั้งสองไม่ก่อสร้างและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ดังนี้มูลคดีทั้งสองคดีนี้มีว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษาของโจทก์โดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันเรื่องก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษารุกล้ำที่ดินของเอกชนเป็นข้อสำคัญของคดีจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา144กรณีมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตามมาตรา148เพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกายังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแม้ศาลชั้นต้นจะรอคดีนี้ไว้เพื่อฟังผลของคดีก่อนจนถึงที่สุดก็ตาม จำเลยที่2เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่1เมื่อโจทก์ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่1จึงมีผลถึงจำเลยที่2ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่1ต่อโจทก์ด้วย.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการของกองบัญชาการศึกษากับจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ต้องทำงานให้เสร็จภายใน 605 วัน ต่อมาเมื่อได้ทำการก่อสร้าง ปรากฏว่ารูปแผนผังรายการก่อสร้างของโจทก์ซึ่งกำหนดตำแหน่งบริเวณที่ดินให้จำเลยทั้งสองก่อสร้างผิดพลาดโดยที่ดินส่วนหนึ่งทางด้านทิศใต้เป็นที่ดินของเอกชนประมาณ 1 ไร่เศษ โจทก์จึงแจ้งให้หยุดการก่อสร้างไว้ก่อน จำเลยทั้งสองยินยอมหยุดงาน ต่อมาโจทก์ได้แก้ไขรูปแบบแผนผังรูปที่ดินของโจทก์และได้จัดซื้อที่ดินของเอกชนนั้นแล้ว โจทก์ได้มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองลงมือทำการก่อสร้างต่อไป จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันทำการก่อสร้างอาคารกองบัญชาการศึกษาให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้างเหมาระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 506 วัน นับแต่วันศาลพิพากษาคดีถึงที่สุด ถ้าจำเลยไม่ยอมร่วมกันสร้างต่อไป ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหาย ค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าปรับแก่โจทก์เป็นรายวันด้วย จำเลยทั้งสองให้การว่า ฟ้องของโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะจำเลยได้ฟ้องโจทก์ฐานผิดสัญญาอันเกิดจากสัญญาฉบับเดียวกันกับที่โจทก์นำมาฟ้องจำเลยคดีนี้ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาให้โจทก์ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลย จำเลยไม่เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างเหมาทำการก่อสร้าง ตรงข้ามโจทก์ก็กลับเป็นฝ่ายผิดสัญญาสั่งระงับไม่ให้จำเลยเข้าทำงาน ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อนหรือเป็นการฟ้องซ้ำหรือไม่ เห็นว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 15365/2522ของศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 เป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนี้กับพวกเป็นจำเลยในข้อหาว่าโจทก์เป็นผู้ผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2520 ที่โจทก์จ้างจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษาของโจทก์ และโจทก์ได้สั่งให้จำเลยที่ 1 ระงับการก่อสร้างเนื่องจากโจทก์ได้ทำการออกแบบแปลนตัวอาคารที่ก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของเอกชนโดยความผิดพลาดของโจทก์เองและเรียกร้องให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวข้างต้นจึงมีประเด็นว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่และจะต้องใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 เท่าใดศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่า โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา แต่ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะจำเลยที่ 1 ยังไม่มีสิทธิบอกกล่าวเลิกสัญญากับโจทก์ จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายได้ โจทก์กลับมาฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นจำเลยในคดีนี้ในข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาก่อสร้างฉบับเดียวกันดังกล่าวข้างต้นโดยอ้างเหตุเช่นเดียวกับคดีก่อนว่า โจทก์ได้ออกแบบแปลนตัวอาคารผิดพลาดโดยเหตุที่ที่ดินบางส่วนทางด้านทิศใต้ของบริเวณที่ดินที่ก่อสร้างเป็นของเอกชน ต่อมาโจทก์ได้จัดซื้อที่ดินของเอกชนดังกล่าว จึงขอให้จำเลยทั้งสองทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการของกองบัญชาการศึกษาต่อไป แต่จำเลยทั้งสองไม่ก่อสร้างและให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนี้จึงเห็นได้ว่ามูลคดีทั้งสองคดีนี้มีว่าคู่ความฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างอาคารที่ทำการกองบัญชาการศึกษาของโจทก์โดยอาศัยเหตุอยางเดียวกันเรื่องก่อสร้างอาคารที่ทำการของกองบัญชาการศึกษารุกล้ำที่ดินของเอกชนเป็นข้อสำคัญของคดี จึงเป็นคดีที่มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกัน โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีก่อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144กรณีมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเพราะขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ยังมิได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด แม้ศาลชั้นต้นจะรอคดีนี้ไว้เพื่อฟังผลของคดีก่อนจนถึงที่สุดก็ตาม ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการประเภทไม่จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และเมื่อโจทก์ต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 แล้ว จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2ไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ด้วย พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share