แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยรับการยกให้มาจาก จ. มารดา เมื่อการโอนให้ดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงตกเป็นโมฆะ ที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ผู้ร้องทั้งสองจึงอ้างได้ว่าเป็นการครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง
ย่อยาว
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงทรา เนื้อที่ 1 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา เป็นของนางหวาด ซึ่งเป็นยายของผู้ร้องที่ 2 นางหวาดยกที่ดินเนื้อที่ประมาณ 1 งานเศษ ให้แก่นางจ้อย ซึ่งเป็นมารดาของผู้ร้องที่ 2 เมื่อปี 2505 ผู้ร้องที่ 2 แต่งงานกับผู้ร้องที่ 1 นางจ้อยจึงยกที่ดินให้ ผู้ร้องทั้งสองได้ปลูกบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 13 ปลูกต้นไม้และขุดคูน้ำกั้นเป็นแนวเขตโดยครอบครองอย่างสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แล้ว เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2503 นางหวาดขายที่ดินโฉนดเลขที่ดังกล่าวแก่นางโถม โดยนางโถมทราบดีว่ามีที่ดินส่วนหนึ่งเป็นของมารดาของผู้ร้องที่ 2 ที่ไม่ได้ขาย หลังจากนางโถมถึงแก่ความตาย นายเสริม เป็นผู้จัดการมรดก นายเสริมและทายาททุกคนของนางโถมทราบดีว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินและมิได้โต้แย้งคัดค้าน ผู้ร้องทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ขอให้มีคำสั่งแสดงว่าที่ดินเนื้อที่ 1 งานเศษเฉพาะส่วนทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์และให้ใส่ชื่อผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนในโฉนดที่ดินดังกล่าวด้วย
ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดเป็นบุตรของนายเสริม ซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว นางหวาด ขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1311 ทั้งแปลงให้แก่นางโถม โดยมิได้ยกที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทให้แก่นางจ้อยอีกทั้งนางจ้อยไม่เคยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ผู้ร้องทั้งสองมิได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาท ในระหว่างที่นายเสริมเป็นผู้จัดการมรดกนั้น ผู้ร้องที่ 2 และมารดาได้มาขออนุญาตปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินเนื้อที่ 1 งาน 71 ตารางวาของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ภายในกรอบเส้นสีม่วงตามแผนที่ดินวิวาทฉบับที่ 3 เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์ให้ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องทั้งสองโดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์โดยการปลูกต้นไม้และปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินส่วนหนึ่งอยู่ทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีชื่อนายเสริม ผู้จัดการมรดกของนางโถมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านทั้งเจ็ดว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า ผู้ร้องทั้งสองได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทจากนางจ้อย มารดาของผู้ร้องทั้งสอง โดยนางจ้อยได้รับการยกให้มาจากนางหวาด ยายของผู้ร้องที่ 2 ซึ่งเป็นที่ดินทางด้านทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ตำบลบางวัว อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา เนื้อที่ประมาณ 1 งานเศษ เดิมมีบ้านของนางหล่ำ หรือเสืออ่วม ปลูกอาศัยอยู่ก่อน ต่อมาบุตรของนางหล่ำรื้อบ้านย้ายออกไปแล้ว ผู้ร้องทั้งสองจึงเข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทปลูกต้นไม้พืชสวนและพืชไร่และปลูกบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 13 เมื่อปี 2505 ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัคค้านตามสำเนาทะเบียนบ้าน ภาพถ่ายที่ดินพิพาท ปรากฏตามแผนที่วิวาทในกรอบเส้นสีม่วง ส่วนผู้คัดค้านทั้งเจ็ดนำสืบว่า นางโถมมารดาของผู้ค้ดค้านทั้งเจ็ดซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 มาจากนางหวาด เมื่อปี 2503 โดยซื้อมาหมดทั้งแปลงรวมทั้งที่ดินพิพาทด้วย ต่อมานางโถมถึงแก่ความตาย นายเสริมเป็นผู้จัดการมรดก ผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากนายเสริมสามีของนางโถม เห็นว่า ผู้ร้องทั้งสองมีนายประวิทย์กำนันตำบลบางวัว นางโสภา นางทิน และนางสาวจำนันท์ เพื่อนบ้านใกล้เคียงเบิกความสนับสนุนว่า ผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทติอต่อกันมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ซึ่งข้อนี้ฝ่ายผู้คัดค้านทั้งเจ็ดก็ยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาครอบครองปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทมาเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปี จริง แต่อ้างว่านายเสริมสามีของนางโถมเป็นผู้อนุญาตให้ผู้ร้องทั้งสองเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาท แต่คำกล่าวอ้างของฝ่ายผู้คัดค้านทั้งเจ็ดไม่มีหลักฐานสนับสนุนคงเป็นเพียงคำกล่าวอ้างลอยๆ เมื่อพิจารณาถึงสภาพบ้านของผู้ร้องทั้งสองที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาท ก็เป็นบ้านที่ปลูกอย่างมั่นคงถาวร ครึ่งตึกครึ่งไม้ และได้ขอเลขที่บ้านเป็นบ้านเลขที่ 36/1 หมู่ที่ 13 ตามสำเนาทะเบียนบ้าน ทั้งได้ความจากนายแม้นเสืออ่วม อายุ 77 ปี บุตรของนางหล่ำซึ่งเคยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทพยานฝ่ายผู้คัดค้านทั้งเจ็ดว่า เดิมบิดามารดาของตนปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาท หลังจากบิดามารดาถึงแก่ความตายแล้ว น้องชายของพยานได้รื้อบ้านออกไปจากที่ดิน แล้วผู้ร้องทั้งสองได้เข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทบริเวณเดียวกัน พยานไม่ทราบว่าผู้ร้องทั้งสองเข้ามาอยู่ในที่ดินพิพาทโดยได้รับอนุญาตจากผู้ใด และได้ความจากนางจ้อย อายุ 60 ปี ซึ่งเคยปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 เช่นกัน เบิกความเป็นพยานผู้คัดค้านทั้งเจ็ดว่าเหตุที่พยานต้องรื้อบ้านออกไปเนื่องจากบุตรของนางโถมบอกให้รื้อออกไป ส่วนบ้านที่ผู้ร้องทั้งสองปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทบุตรของนางโถมไม่เคยไล่ให้ออกไป การที่ผู้ค้ดค้านทั้งเจ็ดไม่เคยไล่ผู้ร้องทั้งสองให้ออกไปจากที่ดินพิพาทจึงสนับสนุนคำเบิกความของผู้ร้องทั้งสองว่า ผู้ร้องทั้งสองเข้ามาปลูกบ้านอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของโดยมารดาของผู้ร้องที่ 2 ยกให้ พยานหลักฐานของผู้ร้องทั้งสองมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของผู้คัดค้านทั้งเจ็ด ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเกินกว่า 10 ปี ด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสองโดยการครอบครองปกปักษ์ ที่ผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฎีกาว่าที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนางจ้อยมารดา และนางจ้อยได้รับการยกให้ที่ดินพิพาทมาจากนางหวาดยายของผู้ร้องที่ 2 อีกทอดหนึ่งนั้นเป็นการอ้างว่าผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาแล้ว มิใช่เป็นการครอบครองปรปักษ์นั้น ข้อนี้เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยรับการยกให้มาจากนางจ้อยมารดา เมื่อการโอนให้ดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงตกเป็นโมฆะ ที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ผู้ร้องทั้งสองจึงอ้างได้ว่าเป็นการครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบ เปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ผู้ร้องทั้งสองชนะคดีมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ