แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
การที่การไฟฟ้านครหลวงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้นำสินค้าตามฟ้องออกจากตู้คอนเทนเนอร์และขนส่งรถบรรทุกไปยังคลังสินค้าของบริษัท อ. ที่จังหวัดสมุทรปราการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางอื่นไม่ใช่การขนส่งทางทะเลไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่ง พ.ร.บ.รับขนของทางทะเล มาตรา 6 ฯ จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนของตาม ป.พ.พ. มาใช้บังคับแก่สัญญารับขนของของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย หรือบุบสลาย หรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะได้พิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลาย หรือชักช้านั้น เกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง ตามสัญญารับขนของระหว่างการไฟฟ้านครหลวงกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าตามฟ้องตั้งแต่เปิดตู้คอนเทนเนอร์และเริ่มขนสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์เมื่อความเสียหายของสินค้าตามฟ้องเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่สินค้านั้นได้รับความเสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการรับประกันวินาศภัยทุกประเภท โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยความเสียหายหรือสูญหายของสินค้า 24 เควี เอสเอ็ฟ 6 แก๊ส อินซูเลเต็ด สวิทช์เกียร์ จำนวน 1 ชุด (1 COMPLETE SET OF 24 KV SF 6 GAS INSULATED SWITCHGEAR) และสินค้า 12 เควี เอสเอ็ฟ 6 แก๊ส อินซูเลเต็ด สวิทช์เกียร์ จำนวน 1 ชุด (1 COMPLETE SET OF 12 KV SF 6 GAS INSULATED SWITCHGEAR) ซึ่งบรรจุอยู่ในลังจำนวน 25 ลัง และกำหนดขนส่งโดยเรือเดินทะเล วิลเล ดี โอเรียน (VILLE D’ ORION) จากท่าเรือเจนัว ยูโรเปียน (GENOA EUROPEAN PORT) ประเทศอิตาลีมายังกรุงเทพมหานคร แล้วขนส่งโดยรถบรรทุกไปยังสถานีไฟฟ้าย่อยนางเลิ้งกรุงเทพมหานคร โดยโจทก์รับประกันภัยไว้เป็นเงิน 47,788,224 บาท การไฟฟ้านครหลวงซื้อสินค้ารายนี้จากบริษัทเอบีบี ที แอนด์ ดี เอส. พี. เอ. ยูนิต้า โอเปอราติวา ซาเซ่ ที. เอ็ม. เอส. (ABB T&D S.P.A. UNITA’ ORERATIVE SACE T.M.S.) ซึ่งอยู่ในประเทศอิตาลี บริษัทเอบีบี ที แอนด์ ดี เอส. พี. เอ. ยูนิต้า โอเปอราติวา ซาเซ่ ที. เอส. ได้ว่าจ้างบริษัทซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เอส. เอ. (CMA CGM S.A.) ให้ขนส่งสินค้ารายนี้โดยเรือ วิลเล ดี โอเรียน จากท่าเรือเจนัว ยูโรเปียน ประเทศอิตาลีมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อบริษัทเอบีบี ที แอนด์ ดี เอส. พี. เอ. ยูนิต้า โอเปอราติวา ซาเซ่ ที. เอ็ม. เอส. ได้รับชำระค่าสินค้าแล้ว บริษัทดังกล่าวได้โอนใบแจ้งหนี้ รายการบรรจุหีบห่อ และใบตราส่ง มาให้แก่การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้านครหลวงจึงรับโอนสิทธิในสินค้ารายนี้มาในฐานะผู้รับตราส่ง ต่อมาบริษัทซีเอ็มเอ ซีจีเอ็ม เอส. เอ. ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งสินค้าได้ถ่ายสินค้ารายนี้จากเรือ วิลเล ดี โอเรียน ลงเรือ ไซปัน ฮาร์เวสเตอร์ (SAIPAN HARVESTER) เพื่อขนส่งสินค้ามายังกรุงเทพมหานครอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเรือไซปัน ฮาร์เวสเตอร์ เดินทางมาถึงการท่าเรือแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2546 และเรือ ไซปัน ฮาร์เวสเตอร์ ส่งมอบสินค้าครบถ้วนและอยู่ในสภาพเรียบร้อยให้แก่การท่าเรือแห่งประเทศไทยเพื่อรอให้ผู้รับตราส่งมารับสินค้าไปจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ต่อมาวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 การไฟฟ้านครหลวงได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ดำเนินพิธีการศุลกากร นำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งสินค้าจากการท่าเรือแห่งประเทศไทย ไปยังโรงงานของบริษัทเอบีบี จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จำเลยที่ 1 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้กระทำการ และจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้นำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์อีกทอดหนึ่ง แต่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถฟอร์คลิฟต์เพื่อนำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์นั้น ด้วยความประมาทเลินเล่อ ปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ได้ขับรถฟอร์คลิฟต์โดยประมาทเลินเล่อ ทำให้งาของรถฟอร์คลิฟต์ที่ใช้สำหรับยกสินค้าแทงลังสินค้าทะลุ 1 ลัง และทำให้สินค้าที่อยู่ภายในลังได้รับความเสียหาย เสียรูปทรง โจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยจึงได้ว่าจ้างบริษัทครอฟอร์ดแอนด์คัมพะนี (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้าให้สำรวจและประเมินความเสียหายของสินค้า พบว่าสินค้าที่เสียหายคือ OUTGOING SWITCHGEAR โดยบุบที่ตัวถัง ไม่สามารถซ่อมแซมได้ต้องเปลี่ยนใหม่และเสียค่าใช้จ่ายรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 162,571.89 บาท การไฟฟ้านครหลวงได้เรียกร้องให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย การไฟฟ้านครหลวงจึงเรียกร้องมายังโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยและขอโอนสิทธิตามสัญญาประกันภัยให้แก่บริษัทเอบีบี จำกัด โจทก์ชำระค่าเสียหายให้แก่บริษัท เอบีบี จำกัด จำนวน 162,571.89 บาท ตามคำสั่งของการไฟฟ้านครหลวงไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 แล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 567.89 บาท รวมเป็นเงิน 163,139.78 บาท โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 163,139.78 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 162,571.89 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การว่า ความเสียหายของสินค้าพิพาทไม่ได้เกิดขึ้นจากความผิดของจำเลยทั้งสามและไม่ได้เกิดขึ้นขณะอยู่ในความดูแลและครอบครองของจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ บริษัทเอบีบี ที แอนด์ ดี เอส. พี. เอ. ยูนิต้า โอเปอราติวา ซาเซ่ ที. เอ็ม. เอส. ผู้ส่ง ได้ว่าจ้างให้ผู้ขนส่งทำการขนส่งสินค้าพิพาทจากประเทศอิตาลีเพื่อมาส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งในการรับขนส่งดังกล่าว ผู้ขนส่งหรือเรือรับขนส่งในเทอม FCL/FCL เมื่อสินค้าพิพาทขนส่งมาถึง ณ ท่าเรือปลายทางได้มีการขอให้เปลี่ยนเทอมการขนส่งจาก FCL ปลายทาง เป็นเทอม CFS หรือ LCL ปลายทาง ดังนั้น เมื่อผู้ขนส่งขนถ่ายตู้ลงสู่ท่าดังกล่าวจึงต้องทำการเปิดตู้เพื่อส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อหรือผู้รับตราส่งที่แท้จริง ขณะที่การเปิดตู้ทั้งสามพบว่าสินค้าที่บรรจุอยู่ในตู้คอนเทนเนอร์หมายเลข TOLU 4903737 มีสินค้าแตกคือ สินค้าหมายเลข 2 และหมายเลข 4 กับสินค้าที่อยู่ในตู้หมายเลข TOLU 9214356 พบสินค้าแตก 1 ลัง ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยทั้งสามหรือตัวแทนจะทำการเปิดตู้ดังกล่าว ดังนั้น ความเสียหายจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการกระทำหรือมีสาเหตุมาจากจำเลยทั้งสามหรือลูกจ้างหรือตัวแทนแต่อย่างใด หลังจากนั้นได้มีการขนส่งสินค้าพิพาททั้งหมดไปยังโรงงานของบริษัทเอบีบี จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งบริษัทเอบีบี จำกัด หรือตัวแทนได้รับสินค้าทั้งหมดไว้ในสภาพเดิมทุกประการซึ่งจากการตรวจสอบร่วมกันก็ไม่พบว่ามีสินค้าเสียหายเพิ่มเติมแต่อย่างใด ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องมาสูงเกินจริง ค่าเสียหายที่แท้จริงอย่างมากไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้รับรองว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว การที่การไฟฟ้านครหลวงทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้นำสินค้าตามฟ้องออกจากตู้คอนเทนเนอร์ และขนส่งทางรถบรรทุกไปยังคลังสินค้าของบริษัทเอบีบี จำกัด ที่จังหวัดสมุทรปราการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งทางอื่นไม่ใช่การขนส่งทางทะเล ไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ตามมาตรา 6 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงต้องนำบทบัญญัติว่าด้วยการรับขนของ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับแก่สัญญารับขนของของจำเลยที่ 1 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 บัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย หรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหาย หรือบุบสลาย หรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเอง หรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งตามสัญญารับขนของระหว่างการไฟฟ้านครหลวงกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับมอบสินค้าตามฟ้องตั้งแต่เปิดตู้คอนเทนเนอร์และเริ่มขนสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ ปัญหาว่า ความเสียหายของสินค้า OUTGOING SWITHGEAR ตามฟ้องเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความว่าเมื่อได้นำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสามตู้แล้วพบว่าสินค้าบรรจุอยู่ในลังไม้รวม 38 ลัง มีลังไม้ 3 ลัง มีสภาพภายนอกแตกแต่ไม่สามารถตรวจสอบความเสียหายของสินค้าที่อยู่ภายในลังดังกล่าวได้ แต่เมื่อได้มีการขนสินค้าทั้งหมดไปยังคลังสินค้าของบริษัทเอบีบี จำกัด และแกะลังออกตรวจสอบสภาพของสินค้า พบว่าสินค้า OUTGOING SWITCHGEAR มีความเสียหายบริเวณฐานด้านล่างที่เป็นตัวถังเหล็กมีลักษณะบิดงอ เมื่อพิจารณาภาพถ่ายของสินค้าดังกล่าว ภาพที่ 5 ถึงภาพที่ 10 จะเห็นเป็นสินค้ามีลักษณะเป็นตู้เหล็กขนาดใหญ่และมีความเสียหายอยู่บริเวณฐานด้านล่าง ลักษณะเหมือนถูกงัดโดยของแข็งมิใช่ความเสียหายอันเกิดจากการตกหรือล้มกระแทกซึ่งจะเกิดความเสียหายด้านใดด้านหนึ่งหรือมุมใดมุมหนึ่งที่ถูกแรงกระแทก ประกอบกับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่ทางจำเลยที่ 1 โดยนายเอทเทียนเน มีไปถึงนางกัญจนาภา พนักงานของโจทก์ รายงานการดำเนินการสำหรับสินค้าตามฟ้องว่า วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2546 เริ่มดำเนินพิธีการศุลกากร วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ตรวจสอบทางศุลกากรและเปิดตู้คอนเทนเนอร์และส่งมอบให้แก่บริษัทเอบีบี จำกัด คลังสินค้าบางพลี ในขั้นตอนนี้สภาพภายนอกของ 37 ลัง สมบูรณ์ ไม่มีความเสียหาย ยกเว้นลังใหญ่ที่สุด เนื่องจากสินค้าขนาดพอดีกับตู้คอนเทนเนอร์เมื่อรถฟอร์คลิฟต์ดึงสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ด้านล่างของลังฉีกขาด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 นายอานุภาพเดินทางไปยังคลังสินค้าบางพลีเพื่อตรวจสอบสินค้าข้างในลังใหญ่ที่สุด พบว่าด้านล่างโค้งงอ ส่วนลังอื่นซึ่งหีบห่ออยู่ในสภาพดียังไม่ถูกแกะลังออก วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2546 หลังจากบริษัทเอบีบี จำกัด แกะลังสินค้าออกหมดแล้ว นางกัญจนาภาได้เรียกนายอานุภาพไปดูความเสียหายของสินค้าในลัง 37 ลัง นั้น ได้จดบันทึกว่า เนื่องจากหีบห่อทั้ง 37 ลัง อยู่ในสภาพสมบูรณ์ตั้งแต่นำออกจากตู้คอนเทนเนอร์จนกระทั่งออกจากท่าเรือเบนไลน์ ไม่เห็นด้วยที่จะออกรายการสำรวจสินค้าสำหรับ 37 ลังนี้ แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า สินค้า OUTGOING SWITCHGEAR คือ สินค้าที่บรรจุอยู่ในลังใหญ่ที่สุดตามจดหมายดังกล่าว ซึ่งความเสียหายของสินค้าดังกล่าวบริเวณฐานด้านล่าง น่าเชื่อว่าเกิดจากกระบวนการขนถ่ายสินค้าดังกล่าวออกจากตู้คอนเทนเนอร์โดยรถฟอร์คลิฟต์ตามข้อความในจดหมายดังกล่าว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความเสียหายของสินค้า OUTGOING SWITCHGEAR ตามฟ้องเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าดังกล่าวอยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ในการที่สินค้าตามฟ้องที่การไฟฟ้านครหลวงได้มอบหมายให้แก่ตนนั้นได้รับความเสียหาย
ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการขนถ่ายสินค้าตามฟ้องออกจากตู้คอนเทนเนอร์ และจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 ดำเนินการแทนถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ร่วมขนส่งกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขนส่ง แต่อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ดำเนินการนำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์และโจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่า ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ขับรถฟอร์คลิฟต์เพื่อนำสินค้าตามฟ้องออกจากตู้คอนเทนเนอร์ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้งาของรถฟอร์คลิฟต์แทงทะลุลังสินค้า ทำให้สินค้าภายในลังได้รับความเสียหาย เป็นการเรียกร้องให้จำเลยที่ 3 รับผิดในความเสียหายของสินค้าฐานละเมิด ซึ่งโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมาสืบให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 ดำเนินการขนถ่ายสินค้าโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ แม้โจทก์จะไม่มีพยานบุคคลมาเบิกความยืนยันถึงการกระทำในการขนถ่ายสินค้าตามฟ้องของลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ว่า กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังอย่างไร แต่จากสภาพความเสียหายตามจดหมายรายงานการขนถ่ายสินค้า ประกอบภาพถ่ายความเสียหายของสินค้าตามฟ้องแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า สินค้า OUTGOING SWITCHGEAR ได้รับความเสียหายขณะขนถ่ายออกจากตู้คอนเทนเนอร์โดยพนักงานขับรถฟอร์คลิฟต์ใช้งาของรถแทงเข้าไป ด้านล่างของสินค้าเพื่อยกสินค้าดังกล่าว แต่ด้วยความประมาทเลินเล่อกระทำไปโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลผู้ทำหน้าที่ดังกล่าวพึงต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ในฐานะผู้ประกอบอาชีพดังกล่าวโดยบังคับงาของรถฟอร์คลิฟต์แทงใต้ลังสินค้าเพื่อยกสินค้าขึ้น แต่กลับแทงเข้าไปในลัง ทำให้ด้านล่างของลังสินค้าฉีกขาด และสินค้าในลังดังกล่าวได้รับความเสียหายบริเวณฐานด้านล่างถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อทำให้สินค้าตามฟ้องของการไฟฟ้านครหลวงได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในความเสียหายของสินค้าตามฟ้องด้วย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า ค่าเสียหายของสินค้าตามฟ้องมีเพียงใดตามรายงานการสำรวจความเสียหายของสินค้าของบริษัทครอฟอร์ด แอนด์ คัมพะนี (ประเทศไทย) จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.10 ระบุว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2546 ตู้คอนเทนเนอร์บรรจุสินค้าถูกเปิดออก มีสินค้าเสียหาย 1 ลัง และถูกขนส่งไปยังคลังสินค้าของบริษัทเอบีบี จำกัด วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2546 นายอานุภาพได้ไปที่คลังสินค้าของบริษัทเอบีบี จำกัด เพื่อตรวจสอบสภาพสินค้าในลังที่เสียหายอีกครั้งหนึ่งพบว่า ฐานล่างของลังอยู่ในสภาพเสียรูปทรง ต้องเปลี่ยนตัวถังใหม่ ประเมินค่าใช้จ่ายเป็นเงิน 162,571.89 บาท โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 มิได้มีพยานหลักฐานมานำสืบโต้แย้งหรือหักล้างเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า ความเสียหายของสินค้าตามฟ้องเป็นเงิน 162,571.89 บาท และจากข้อความในเอกสารหมาย จ.10 นั้นเป็นการสำรวจความเสียหายของสินค้าเพียงลังเดียว ส่วนสินค้าลังอื่นอาจปรากฏความเสียหายของลัง แต่ตัวสินค้ายังไม่ได้มีการสำรวจความเสียหาย ที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 แก้อุทธรณ์ว่า ค่าเสียหายตามฟ้องเป็นความเสียหายของสินค้า 3 รายการรวมกันจึงฟังไม่ขึ้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยสินค้าตามฟ้องได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเอบีบี จำกัด ผู้รับโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาประกันภัยจากการไฟฟ้านครหลวงผู้เอาประกันภัยไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2547 โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องเงินค่าสินไหมทดแทนพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ได้จ่ายไปได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 162,571.89 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง