แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ฎีกาของจำเลย หน้าแรกมีข้อความประทับด้วย ตรายางของศาลชั้นต้นว่า “ให้มาทราบ คำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2532 ถ้า ไม่ มาให้ถือ ว่าทราบคำสั่งแล้ว”โดย มีลายมือชื่อทนายจำเลยผู้ยื่น ฎีกาเซ็น ไว้ในช่อง ระหว่างคำว่า”ลงชื่อ” และคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้ยื่น” จึงเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยยอมรับผูกพันตนเองว่า จะมาฟังคำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม2532 ถ้า ไม่ มาก็ให้ถือ ว่าจำเลยทราบคำสั่งแล้ว ปรากฏว่าศาลชั้นต้น สั่งในฎีกาของจำเลยเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2532 ว่า รับฎีกาให้ผู้ฎีกานำส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือ ว่าทิ้งฎีกา ดังนี้ แม้จำเลยจะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือ ว่าคำสั่งศาลนั้นได้ ส่งให้จำเลยโดย ชอบ และจำเลยทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่ วันที่ 24 ตุลาคม 2532 การที่จำเลยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาตาม ที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงเป็นกรณีทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ.มาตรา 174(2).
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิด ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 86,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2532 ฎีกาของจำเลยที่ 2 หน้าแรกมีข้อความซึ่งประทับด้วยตรายางของศาลชั้นต้นว่า”ให้มาทราบคำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2532 ถ้าไม่มาให้ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว” โดยมีลายมือชื่อทนายจำเลยที่ 2 ผู้ยื่นฎีกาดังกล่าวเซ็นไว้ในช่วงระหว่างคำว่า “(ลงชื่อ)” และคำว่า “ผู้ร้องหรือผู้ยื่น” ศาลชั้นต้นสั่งในฎีกาของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2532 ว่า “เสนอวันนี้รับฎีกา ให้ผู้ฎีกานำส่งสำเนาให้อีกฝ่ายหนึ่งแก้ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งฎีกา” ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม2532 เจ้าหน้าที่กรมบังคับคดี มีหนังสือรายงานศาลชั้นต้นว่าพ้นกำหนด 15 วันแล้ว จำเลยที่ 2 หรือผู้แทนไม่มาเสียค่าธรรมเนียมในการส่งสำเนาฎีกา ศาลชั้นต้นจึงส่งสำนวนมาศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลชั้นต้นกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นโจทก์ในชั้นฎีกาจัดการนำส่งสำเนาฎีกาให้อีกฝ่ายหนึ่งภายใน 15 วัน แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งในวันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกา 1 วันก็ตามการที่ทนายจำเลยที่ 2ลงลายมือชื่อทราบวันนัดให้มาฟังคำสั่งของศาลดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้นเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 ยอมรับผูกพันตนเองว่าจะมาฟังคำสั่งในวันที่ 24 ตุลาคม 2532 ถ้าไม่มาก็ให้ถือว่าจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งแล้ว นอกจากนี้ก็ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งดังกล่าวในฎีกาตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2532 ซึ่งเป็นวันก่อนที่จะถึงวันที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 มาทราบคำสั่ง ฉะนั้นแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้มาฟังคำสั่ง ก็ถือว่าคำสั่งศาลนั้นได้ส่งให้จำเลยที่ 2 โดยชอบและจำเลยที่ 2 ทราบคำสั่งนั้นแล้วตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2532 ระยะเวลาสิ้นสุดที่จำเลยที่ 2 จะต้องนำส่งสำเนาฎีกาตามคำสั่งศาลชั้นต้นคือวันที่ 8 พฤศจิกายน 2532แต่ปรากฏตามรายงานเจ้าหน้าที่ฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2532ว่า จำเลยที่ 2 เพิกเฉยมิได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาในกำหนดนั้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 174(2)”
ให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความของศาลฎีกา.