คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10929/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 190 แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง แต่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา 190 ซึ่งบัญญัติว่า การกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ฟ้องโจทก์ฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังจึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้ ศาลจะลงโทษตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้ แม้คู่ความมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2543 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยมีเมทแอมเฟตามีน อันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 9 เม็ด น้ำหนัก 0.81 กรัม ไว้ในครอบครองและจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนจำนวนหนึ่ง ปริมาณไม่ปรากฏชัด อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย หลังจากนั้นจ่าสิบตำรวจสุวัฒน์ กับพวกจับกุมและควบคุมตัวจำเลยไว้เพื่อทำบันทึกการจับกุม แล้วจำเลยหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขัง และจำเลยต่อสู้ขัดขวางนายธวัช ผู้ซึ่งต้องช่วยจ่าสิบตำรวจสุวัฒน์กับพวกในการปฏิบัติการตามหน้าที่ติดตามจับจำเลยซึ่งหลบหนีดังกล่าวโดยจำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ณข – 81 กรุงเทพมหานคร พุ่งเข้าชนนายธวัชโดยเจตนาฆ่า จำเลยลงมือกระทำโดยตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากรถชนไม่ถูก นายธวัชจึงไม่ถึงแก่ความตาย เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์ดังกล่าวเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 67, 57, 91 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 91, 138, 288, 289 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครอง เสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 และหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังของเจ้าพนักงาน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 (เดิม) ประกอบมาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 1 ปี มาตรา 57 ประกอบมาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่) จำคุก 6 เดือน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 วรรคหนึ่ง จำคุก 1 ปี ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 อันเป็นกรรมเดียวกับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (3) ประกอบมาตรา 80 ลงโทษตามมาตรา 289 (3) ประกอบมาตรา 80 และมาตรา 52 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพบางข้อหา เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษบางข้อหาดังกล่าวให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 15 (เดิม) ประกอบมาตรา 67 (ที่แก้ไขใหม่) คงจำคุก 6 เดือน ความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 57 ประกอบมาตรา 91 (ที่แก้ไขใหม่) คงจำคุก 3 เดือน ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 วรรคหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน รวมแล้วคงจำคุกตลอดชีวิตสถานเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) กับริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 296 เป็นความผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 296 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้จำคุก 2 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุกในข้อหาอื่นแล้วเป็นจำคุก 3 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีน และความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางผู้ซึ่งต้องช่วยเจ้าพนักงานตามกฎหมายในการปฏิบัติการตามหน้าที่ เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 แล้ว คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จ่าสิบตำรวจสุวัฒน์ สิบตำรวจโททวน และนายธวัช ผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ ได้ร่วมกันจับกุมจำเลยข้อหากระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและเสพเมทแอมเฟตามีนแล้วควบคุมตัวจำเลยพร้อมเมทแอมเฟตามีนและรถยนต์หมายเลขทะเบียน ณข – 81 กรุงเทพมหานคร ที่จำเลยขับมาไปยังป้อมปราบอาสาซึ่งอยู่ในซอยแสงฟ้าเพื่อทำบันทึกการจับกุม ขณะจำเลยถูกควบคุมตัวอยู่ภายในป้อมปราบอาสาดังกล่าว จำเลยได้หยิบกุญแจรถยนต์และหลบหนีการคุมขังไปขึ้นรถยนต์คันดังกล่าว นายธวัชซึ่งอยู่นอกป้อมได้เอาเหล็กที่กั้นรถอยู่ลงเพื่อขวางรถยนต์ของจำเลย แต่จำเลยกลับขับรถพุ่งเข้าชนเหล็กที่กั้นนั้น เป็นเหตุให้เหล็กที่กั้นกระแทกนายธวัชได้รับบาดเจ็บ มีปัญหาว่า การที่จำเลยขับรถชนเหล็กกั้นและทำให้นายธวัชได้รับบาดเจ็บนั้น จำเลยมีเจตนาฆ่านายธวัชหรือไม่มีข้อต้องวินิจฉัยก่อนว่านายธวัชยืนอยู่บริเวณใดของเหล็กกั้น ซึ่งความข้อนี้ นายธวัชเบิกความว่า เมื่อเอาเหล็กกั้นลง พยานยืนหลบอยู่ข้าง ๆ เหล็กกั้น โดยอยู่หน้าเหล็กกั้น แต่จ่าสิบตำรวจสุวัฒน์ เบิกความว่า นายธวัชยืนด้านหลังเหล็กกั้นตามที่ทำเครื่องหมายเลข 2 ในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ ส่วนนายเซ็น เบิกความว่านายธวัชวิ่งไปที่โคนเหล็กกั้นก่อนจากนั้นจึงวิ่งไปตรงปลายเหล็กซึ่งมีเชือกผูกอยู่เพื่อจะดึงเชือกเอาเหล็กลง ตอนที่รถชนโดยนายธวัชนั้น นายธวัชยืนอยู่ข้างขวาสุดคืออยู่ตรงปลายเหล็กกั้น และสิบตำรวจโททวนเบิกความว่า ขณะนั้นนายธวัชยืนอยู่ริมถนนข้างแผงเหล็กกั้นรถ ดังนี้ จึงเห็นได้ว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเบิกความแตกต่างกันถึงตำแหน่งที่นายธวัชยืนอยู่ขณะจำเลยขับรถชนเหล็กกั้น จึงฟังไม่ได้แน่ชัดว่า นายธวัชยืนอยู่ในลักษณะขวางทางที่จำเลยจะขับรถชนได้โดยตรง ในอันที่จะถือว่าจำเลยมีเจตนาฆ่านายธวัช จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง แต่การที่จำเลยขับรถยนต์ชนเหล็กกั้นเพื่อหลบหนีการจับกุมดังกล่าวจำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าอาจทำให้นายธวัชได้รับอันตรายแก่กายได้ อันเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการที่เจ้าพนักงานนั้นกระทำตามหน้าที่นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 190 ศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังแต่คำขอท้ายฟ้องไม่ได้อ้างมาตรา 190 ซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดฟ้องโจทก์ฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังจึงขาดการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (6) เป็นฟ้องที่ไม่สมบูรณ์สำหรับการกระทำความผิดฐานนี้ ศาลจะลงโทษตามบทมาตราดังกล่าวไม่ได้ แม้คู่ความมิได้ยกปัญหานี้ขึ้นฎีกาแต่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้”
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ลงโทษฐานหลบหนีไประหว่างที่ถูกคุมขังเมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้วคงจำคุกจำเลย 2 ปี 9 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1

Share