แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การลักลอบขนน้ำมันออกจากสถานที่เก็บซึ่งเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควร พ.ศ.2490 ต่อเนื่องกับการลักลอบขนน้ำมันออกนอกประเทศไทย เมื่อโจทก์แยกฟ้องจำเลยเป็นความผิดสองสำนวนและความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้ากำไรเกินควรศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ส่วนอีกสำนวนหนึ่งคือฐานนำน้ำมันออกนอกประเทศซึ่งตามพฤติการณ์เห็นได้ว่าการกระทำทั้งหลายของจำเลยตั้งแต่เริ่มยักย้ายก็ด้วยเจตนาอันเดียวที่จะนำออกนอกราชอาณาจักร จึงถือว่าการกระทำของจำเลยต้องด้วย ก.ม. หลายบทและไม่อาจแยกเป็นกะทงหนึ่งต่างหากได้ เมื่อจำเลยถูกลงโทษแล้ว ก็ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ ตาม ป.วิ.อาญา ม.39 (4) ถือว่าเป็นฟ้องซ้ำ
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้องหาว่าจำเลยกับพวกนำน้ำมันเบนซิน ๑๘ ปีบ ราคา ๘๖๔ บาท ออกนอกราชอาณาจักรโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากร และรับอนุญาตจากเจ้าพนักงานตาม ก.ม.เหตุเกิดที่ ต.บ้านกลาง อ.เมือง จ.นครพนม ขอให้ลงโทษตาม ก.ม.
จำเลยปฏิเสธข้อหาโจทก์
ศาลจังหวัดนครพนมพิจารณาแล้วฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานยักย้ายน้ำมันโดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งจำเลยได้ถูกศาลลงโทษไปแล้ว แต่ไม่เป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง พิพากษายกฟ้องโจทก์ ของกลางคืนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการกระทำของจำเลยถึงขึ้นพยายามเอาน้ำมันออกไปนอกประเทศไทยไม่ได้รับอนุญาตและสาลอาจลง
โทษได้เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการละเมิด ก.ม.หลายบทหลายกะทงต่างกรรมต่างวาระกันซึ่งโจทก์อาจจะแยกฟ้องจำเลยตามความผิดแต่ละกะทงได้ พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.๒๔๖๙ ม.๒๗ ,๓๑ พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ ๑๑) พ.ศ.๒๔๙๐ ม.๓ ให้ปรับ ๔ เท่าราคาของน้ำมันเป็นเงิน ๓๔๕๖ บาท แต่จำเลยอายุไม่เกิน ๒๐ ปี ให้ลดมาตราส่วนลงโทษตาม ก.ม.อาญา ม.๕๘ ทวิ ๑ ใน ๓ คงปรับจำเลย ๒๓๐๔ บาท ถ้าไม่เสียจัดการตาม ก.ม.อาญา ม.๑๘ น้ำมันของกลางริบ กับให้จ่ายเงินรางวัลผู้นำจับร้อยละ ๒๕ และสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละ ๓๐ ของค่าปรับตาม พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ.๒๔๘๙ ม.๘ ด้วย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาประชุมปรึกษาแล้วถึงหากจะฟังเป็น+ดังศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยถึงชั้นพยายามนำน้ำมันเบนซินออกนอกอาณาจักรเพื่อข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่งประเทศลาวก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยกเป็นประเด็นต่อสู้ว่าน้ำมันรายเดียวกันนี้จำเลยได้ถูกศาลพิพากษาลงโทษเสร็จเด็ดขาดไปแล้วจำเลยไม่ควรถูกลงโทษอีกดังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงจำต้องพิจารณาข้อเท็จจริงโดยตลอดว่ารูปคดีเป็นเช่นไร และจะพึงแยกออกเป็นกรรมหนึ่งต่างหากได้หรือไม่ ได้ความว่าจำเลยได้ยักย้ายน้ำมันเบนซินรายนี้ ๒๐ ปีบ จากตลาดอำเภอธาตุพนมมายังบ้านกลางน้อย บ้านกลางใหญ่ จำเลยกับพวกซึ่งคอยดักอยู่ก็เรียกรถยนต์ให้หยุดรับเอาน้ำมันทั้งหมดลงจากรถยนต์แล้วขนต่อไปยังริมแม่น้ำโขง ช่วยกันนำลงเรือชะล่า ตำรวจตามไปทันจำเลยกับพวกวิ่งหนี ส่วนเรือชะล่าซึ่งมีน้ำมันอยู่ ๔ ปีบก็ถอยออกจากฝั่งราชอาณาจักรไทยข้ามแม่น้ำโขงไปยังประเทศลาว พฤติการณ์ดังนี้จึงเห็นได้ว่าการกระทำทั้งหลายของจำเลยตั้งแต่เริ่มยักย้ายน้ำมันจากตลาดอำเภอธาตุพนมนั้นก็ด้วยเจตนาอันเดียวที่จะนำออกนอกราชอาณาจักร แต่โดยที่คณะกรรมการส่วนจังหวัดป้องกันการค้ากำไรเกินควรจังหวัดนครพนมได้ประกาศห้ามมิให้ผู้ใดยักย้ายน้ำมันเบนซินทางบกในเขตจังหวัดนครพนมเกินกว่า ครั้งละ ๑๙๐ ลิตรขึ้นไป โดยมิได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากประธานกรรมการหรือผู้รักษาราชการแทน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันการค้า ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ พนักงานอัยการจึงแยกฟ้องจำเลยในวันเดียวกันเป็นสองสำนวนคือคดีดำที่ ๗๑๕/๒๔๙๘ ฐานยักย้ายน้ำมันเบนซินไม่ได้รับอนุญาต จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาลงโทษไปแล้ว ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานนำน้ำมันเบนซินออกนอกราชอาณาจักรไทยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งจำเลยปฏิเสธอันที่จริงปรากฎอยู่แล้วว่าเป็นน้ำมันเบนซินรายเดียวควรที่จะได้ฟ้องหรือพิจารณารวมกันโดยแท้ เพื่อให้ศาลชี้ขาดว่าการกระทำของจำเลยต่างกรรมต่างวาระหรือไม่ ซึ่งถ้าศาลถือว่าเป็นกรรมเดียวกันก็จะได้ลงโทษจำเลยตาม ก.ม.บทหนัก แต่โจทก์ไม่ได้ร้องขอเช่นนั้น เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยข้างต้นว่าจำเลยมีเจตนาเดียวที่จะทำการยักย้ายน้ำมันเบนซินออกนอกประเทศ จึงไม่อาจแยกเป็นกะทงหนึ่งได้ ต่างหากได้ ความผิดของจำเลยต้องด้วย ก.ม.หลายบท เมื่อจำเลยถูกลงโทษแล้ว เพราะการกระทำผิดนั้น สำหรับคดีนี้ก็ลงโทษจำเลยอีกไม่ได้ตาม ป.วิ.อาญา ม.๓๙(๔) จึงพิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้องโจทก์ ปล่อยจำเลยพ้นข้อหาไป