แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ประการใด จะนำบทบัญญัติมาตรา 220 แห่ง ป.วิ.อ. มาบังคับแก่กรณีเช่นนี้หาได้ไม่
การที่เจ้าหน้าที่ศาลประจำศูนย์นัดความบันทึกวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่โจทก์และทนายจำเลยตกลงกัน แม้โจทก์ไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาในขณะตกลงกำหนดวันนัดก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้กำหนดวันนัดด้วยตนเอง โจทก์ควรจดบันทึกวันเวลานัดไว้เพื่อมิให้หลงลืม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์จดบันทึกเวลานัดแต่อย่างใด เชื่อว่าโจทก์จดจำวันนัดสืบพยานโจทก์คลาดเคลื่อนซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รอบคอบและเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีของโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่
ป.วิ.พ. มาตรา 1 (7) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ให้คำนิยามของคำว่ากระบวนพิจารณาไว้ว่า “กระทำการใดๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้น หรือโดยศาลหรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่นๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้” เมื่อคดีนี้ศาลสั่งให้คู่ความกำหนดวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยที่ศูนย์นัดความและคู่ความได้ตกลงกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความ ถือได้ว่าการกระทำของคู่ความที่ตกลงกำหนดวันนัดที่ศูนย์ความเป็นการกระทำตามคำสั่งศาลและเป็นการกำหนดวันนัดต่อศาลแล้ว ดังนั้น การกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความจึงชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 166 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 181
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่
จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า หลังจากศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ประทับฟ้องไว้พิจารณาและจำเลยให้การปฏิเสธแล้ว ศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์ แต่โจทก์เป็นฝ่ายขอเลื่อนคดีถึง 3 นัด ส่วนนัดที่ 4 โจทก์ไม่มา ทนายโจทก์ขอสืบพยาน แต่ทนายจำเลยคัดค้านขอให้สืบตัวโจทก์พร้อมกันไปด้วย ศาลชั้นต้นจึงให้เลื่อนคดีไป จนกระทั่งวันนัดสืบพยานโจทก์นัดที่ 5 ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนตัวจากการเป็นทนายความของโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต โจทก์จึงอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยาน แต่ยังไม่จบปาก จึงขอเลื่อนการพิจารณาไปนัดสืบพยานโจทก์ใหม่ในวันที่ 19 มกราคม 2547 ครั้นในวันนัดดังกล่าวโจทก์ยังคงอ้างตนเองเข้าเบิกความเป็นพยานและยังไม่จบปากอีก ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้คู่ความไปกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยอย่างต่อเนื่องที่ศูนย์นัดความ โดยโจทก์แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าติดใจสืบพยานโจทก์รวม 20 ปาก ใช้เวลาสืบพยานประมาณ 2 สัปดาห์ ส่วนจำเลยแถลงติดใจสืบพยานจำเลยรวม 3 ปาก ใช้เวลาสืบพยาน 2 นัด นางสาวนวลพรรณ เจ้าพนักงานศาลประจำศูนย์นัดความจึงบันทึกลงในรายงานเจ้าหน้าที่ว่ากำหนดนัดสืบพยานโจทก์ 20 ปาก ไม่เกิน 10 นัด และกำหนดนัดสืบพยานจำเลย 3 ปากไม่เกิน 2 นัด รวมพยาน 23 ปากไม่เกิน 12 นัด แล้วกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และวันนัดสืบพยานจำเลยไว้ที่หน้าหลังของรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19, 20, 21, 22, 26, 27, 28 และ 29 ตุลาคม 2547 กับวันที่ 2 และที่ 3 พฤศจิกายน 2547 รวม 10 นัด และกำหนดวันนัดสืบพยานจำเลยในวันที่ 4 และ 5 พฤศจิกายน 2547 รวม 2 นัด ซึ่งโจทก์และทนายจำเลยลงลายมือชื่อไว้ในรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว ครั้นถึงวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 โจทก์ไม่มาศาลตามกำหนดนัด ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้ยกฟ้อง ต่อมาวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่โดยอ้างว่า มิได้จงใจไม่มาศาลตามกำหนดนัดเนื่องจากโจทก์กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 มิใช่วันที่ 19 ตุลาคม 2547 โจทก์จึงไม่ทราบวันนัดศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามคำแก้ฎีกาของจำเลยเสียก่อนว่า คดีนี้ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ขอให้ยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ จึงไม่ใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ประการใด จะนำบทบัญญัติมาตรา 220 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาบังคับแก่กรณีเช่นนี้หาได้ไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฎีกาได้ไม่ต้องห้ามฎีกาดังที่จำเลยแก้ฎีกา
คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุสมควรที่จะยกคดีขึ้นพิจารณาใหม่หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19 ตุลาคม 2547 แต่โจทก์กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2547 โจทก์ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบัลลังก์ว่าโจทก์มีวันว่างในเดือนพฤศจิกายน 2547 โจทก์จึงไม่ได้กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในเดือนตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ศูนย์หน้าบังลังก์กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ฝ่าฝืนความประสงค์ของโจทก์เป็นความผิดของเจ้าหน้าที่ศาล มิใช่ความผิดของโจทก์ ในข้อนี้ได้ความจากคำเบิกความของนางสาวนวลพรรณ เจ้าหน้าที่ศาลประจำศูนย์นัดความที่เป็นผู้ลงบันทึกวันนัดในรายงานเจ้าหน้าที่ พยานโจทก์เองว่า คดีนี้โจทก์และทนายจำเลยมาที่ศูนย์นัดความพร้อมกันทั้งสองคนแล้วตกลงกำหนดวันนัดสืบพยานของแต่ละฝ่าย พยานจะเป็นผู้กรอกบันทึกวันนัดในรายงานเจ้าหน้าที่ไว้ที่หน้าแรก แต่หากมีวันนัดหลายวันไม่อาจลงวันนัดในหน้าแรกได้ ก็จะบันทึกวันนัดไว้ที่หน้าหลังของรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าวเมื่อตกลงกำหนดวันนัดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พยานจะให้คู่ความทั้งสองฝ่ายตรวจดูว่าพยานบันทึกวันนัดถูกต้องหรือไม่ หากบันทึกวันนัดผิดจะให้คู่ความทั้งสองฝ่ายทักท้วงเพื่อแก้ไขวันนัดให้ถูกต้องและให้คู่ความลงชื่อทราบวันนัดไว้ คดีนี้มีวันนัดหลายวันพยานจึงบันทึกวันนัดไว้ที่หน้าหลังของรายงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว แต่เหตุที่พยานไม่ได้คู่ความลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าหลังของรายงานเจ้าหน้าที่เนื่องจากโจทก์และทนายจำเลยลงลายมือชื่อไว้ที่หน้าแรกของรายงานเจ้าหน้าที่แล้ว ทั้งพยานตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานได้บันทึกหมายเหตุในรายงานเจ้าหน้าที่ไว้ที่หน้าแรกว่าวันนัดอยู่หน้าห้อง และพยานยืนยันว่าการกำหนดวันนัดได้รับความยินยอมจากโจทก์และทนายจำเลยแล้ว เห็นว่า นางสาวนวลพรรณพยานโจทก์เป็นเจ้าหน้าที่ของศาล ไม่มีส่วนได้เสียกับคู่ความในคดี จึงไม่มีเหตุอันใดที่พยานจะบันทึกวันนัดผิดไปจากวันที่คู่ความตกลงกัน นอกจากนี้ตามรายงานเจ้าหน้าที่กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เดือนตุลาคม 2547 ในวันที่ 19, 20, 21, 22, 26, 27, 28 และ 29 และเดือนพฤศจิกายน 2547 ในวันที่ 2 และ 3 รวม 10 นัด สอดคล้องกับรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 19 ตุลาคม 2547 ซึ่งโจทก์แถลงต่อศาลว่าโจทก์มีพยานประมาณ 20 ปาก ใช้เวลาสืบพยานต่อเนื่องกันประมาณ 2 สัปดาห์ที่โจทก์อ้างว่าโจทก์กำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์ในเดือนพฤศจิกายน 2547 นั้นปรากฏว่าในเดือนดังกล่าวมีวันนัดสืบพยานโจทก์เพียง 2 นัด จึงขัดแย้งกับที่โจทก์ได้แถลงต่อศาลดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่ศาลประจำศูนย์นัดความบันทึกวันนัดสืบพยานโจทก์ตามที่โจทก์และทนายจำเลยตกลงกัน แม้โจทก์ไม่มีทนายความคอยให้คำปรึกษาในขณะตกลงกำหนดวันนัดก็ตาม แต่โจทก์เป็นผู้กำหนดวันนัดด้วยตนเอง โจทก์ควรจดบันทึกวันเวลานัดไว้เพื่อมิให้หลงลืม แต่ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์จดบันทึกวันเวลานัดไว้แต่อย่างใด เชื่อว่าโจทก์จดจำวันนัดสืบพยานโจทก์คลาดเคลื่อน ซึ่งเป็นความผิดพลาดที่เกิดจากความไม่รอบคอบและเป็นความประมาทเลินเล่อของโจทก์เอง จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะยกคดีของโจทก์ขึ้นพิจารณาใหม่ ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า การกำหนดวันนัดต้องกำหนดนัดต่อศาลแต่คดีนี้เจ้าหน้าที่ศูนย์นัดความเป็นผู้กรอกข้อความกำหนดวันนัดจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1 (7) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้คำนิยามของคำว่ากระบวนพิจารณาไว้ว่า “การกระทำใด ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้อันเกี่ยวด้วยคดีซึ่งได้กระทำไปโดยคู่ความในคดีนั้นหรือโดยศาลหรือตามคำสั่งของศาลไม่ว่าการนั้นจะเป็นโดยคู่ความฝ่ายใดทำต่อศาลหรือต่อคู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง หรือศาลทำต่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทุกฝ่าย และรวมถึงการส่งคำคู่ความและเอกสารอื่น ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้” เมื่อคดีนี้ศาลสั่งให้คู่ความกำหนดวันนัดพิจารณาสืบพยานโจทก์และนัดสืบพยานจำเลยที่ศูนย์นัดความและคู่ความได้ตกลงกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความ ถือได้ว่าการกระทำของคู่ความที่ตกลงกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความเป็นการกระทำตามคำสั่งศาลและเป็นการกำหนดวันนัดต่อศาลแล้ว ดังนั้นการกำหนดวันนัดที่ศูนย์นัดความจึงชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ของโจทก์จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน