แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ความผิดฐานรับของโจรนั้น จะเกิดเป็นความผิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 2 ได้รับทรัพย์นั้นไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากกระทำผิด ไม่ใช่ว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 ต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ความว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานรับของโจรนั้น จำเลยที่ 2 กระทำการใดหรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่เป็นการรู้เห็นเป็นใจร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แม้ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความยืนยันเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2 ว่า ภายหลังจากที่รถจักรยานยนต์ถูกคนร้ายลักไป ผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 2 ครอบครองขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเท่าที่โจทก์นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335, 357, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 2 ปี ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 2 มีอายุ 19 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 1 ปี 4 เดือน จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 12 เดือน ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้ฟังเป็นยุติได้ว่า มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของนางสาวบรรจงลักษณ์ ขณะอยู่ในความครอบครองของนายบัณฑิต ผู้เสียหายไป ต่อมา เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยทั้งสองและยึดรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวเป็นของกลาง สำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง จำเลยที่ 1 ฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 เพราะต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยที่ 1 ไม่อุทธรณ์คำสั่ง คดีสำหรับจำเลยที่ 1 จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรตามฟ้อง มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของกลางหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานรับของโจรนั้น จะเกิดเป็นความผิดขึ้นในขณะที่จำเลยที่ 2 ได้รับทรัพย์นั้นไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ไม่ใช่ว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองทรัพย์นั้นอยู่แล้วจำเลยที่ 2 ต้องนำสืบแก้ตัวว่าตนไม่รู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดเมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ความว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 รับรถจักรยานยนต์ของกลางไว้โดยรู้อยู่ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานรับของโจรนั้น จำเลยที่ 2 กระทำการใดหรือมีพฤติการณ์อย่างใดที่เป็นการรู้เห็นเป็นใจร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 แม้นายบัณฑิต ผู้เสียหายพยานโจทก์เบิกความยืนยันเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยที่ 2 ว่า ภายหลังจากที่รถจักรยานยนต์ถูกคนร้ายลักไป ผู้เสียหายเห็นจำเลยที่ 2 ครอบครองขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางอยู่ ก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่แสดงว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองรถจักรยานยนต์ของกลางโดยรู้ว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเท่าที่โจทก์นำสืบมาไม่พอฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของกลางร่วมกับจำเลยที่ 1 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน