แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้โจทก์จะลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่สำนักงานโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครก่อนแล้วจึงส่งสัญญาเช่าซื้อให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่จังหวัดสงขลา ก็ย่อมถือได้ว่าสำนักงานโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาเช่าซื้ออันเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานโจทก์ตั้งอยู่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) และมาตรา 5
ปัญหาว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อที่มีใจความเพื่อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายอันเป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์ฝ่ายเดียว ย่อมตกเป็นโมฆะตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 ถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ก) ไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่าศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอของคู่ความในทุกกรณี ศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี หรือไม่เรียกเข้ามาในคดีหากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ทั้งนี้หากศาลไม่อนุญาตคู่ความที่ยื่นคำร้องก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวต่างหากจากคดีนี้ได้ เมื่อปรากฏว่าประเด็นพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเฉพาะในเรื่องเช่าซื้อและค้ำประกัน การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยที่ 1 ที่ขอให้หมายเรียกบริษัท ว. เข้ามาเป็นจำเลยร่วมเพื่อให้ใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย จึงเป็นดุลพินิจในการสั่งคดีของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ ในราคา 536,972.16 บาท ผ่อนชำระ 48 งวด งวดละ 11,186.92 บาท ทุกเดือนจนกว่าจะครบ โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 4 โจทก์บอกเลิกสัญญา แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนรถให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์เสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากการนำรถออกให้เช่า ในอัตราเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 32,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทนเป็นเงิน 503,411.40 บาท และให้ร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 32,000 บาท ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 6,264.64 บาท กับค่าเสียหายต่อไปอีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การว่า มูลคดีเกิดขึ้นที่จังหวัดสงขลาและจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดสตูล คดีจึงไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลชั้นต้น รถที่เช่าซื้อได้ทำสัญญาประกันภัยไว้โดยมีโจทก์เป็นผู้รับประโยชน์รถที่เช่าซื้อได้สูญหายไปในระหว่างสัญญาประกันภัย บริษัทผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าขาดประโยชน์และค่าภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า มูลหนี้ที่เรียกร้องเป็นคนละมูลหนี้จำเลยที่ 1 ชอบที่จะดำเนินการต่างหากจากคดีนี้ ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 380,000 บาท และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาและคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่าโจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อไว้ก่อนต่อมาจึงให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในภายหลังที่บริษัทอนันต์มอเตอร์เซลส์ จำกัด ที่จังหวัดสงขลา สัญญาเช่าซื้อจึงบริบูรณ์ที่จังหวัดสงขลา มูลคดีเกิดที่จังหวัดสงขลาแห่งเดียว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เห็นว่า สัญญาเช่าซื้อจะต้องทำเป็นหนังสือและต้องลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นจะตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 572 วรรคสอง ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความจากนายสันต์ทัศน์ ผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทอนันต์มอเตอร์เซลส์ จำกัดที่เบิกความเป็นพยานจำเลยที่ 1 ว่า ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อที่สำนักงานของโจทก์ซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานครมาก่อนแล้วจึงส่งสัญญาเช่าซื้อมาให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในฐานะผู้เช่าซื้อที่บริษัทอนันต์มอเตอร์เซลส์ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดสงขลา ย่อมถือได้ว่าสำนักงานของโจทก์เป็นสถานที่ที่ทำสัญญาเช่าซื้อฉบับนี้อันเป็นสถานที่ที่เกิดมูลคดีอีกแห่งหนึ่งด้วยเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสำนักงานของโจทก์ตั้งอยู่ในท้องที่เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1) และมาตรา 5 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการต่อมามีว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า ข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 และข้อ 6 ที่มีใจความเพื่อยกเว้นความรับผิดตามกฎหมายอันเป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์เพียงฝ่ายเดียว จึงตกเป็นโมฆะตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 โจทก์ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าวได้ เห็นว่า ปัญหาข้อนี้แม้จำเลยจะมิได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยที่ 1 ย่อมยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง พระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ข้อตกลงในสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพหรือในสัญญาสำเร็จรูป หรือในสัญญาขายฝากที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการค้าหรือวิชาชีพ หรือผู้กำหนดสัญญาสำเร็จรูป หรือผู้ซื้อฝากได้เปรียบคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแก่กรณีเท่านั้น” บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้ข้อตกลงในสัญญาที่ทำให้คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรเป็นโมฆะ เพียงแต่ให้มีผลบังคับได้เพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควร แม้หากจะฟังว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 3 และข้อ 6 เป็นการให้ประโยชน์แก่โจทก์เพียงฝ่ายเดียวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมดังที่จำเลยที่ 1 อ้าง ก็ไม่ทำให้ข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ประกอบกับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระไปแล้ว กำหนดให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 380,000 บาท ลดลงจากที่กำหนดในสัญญาจึงเป็นการบังคับเพียงเท่าที่เป็นธรรมและพอสมควรแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการสุดท้ายว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า คำร้องขอให้เรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมของจำเลยที่ 1 มีเหตุผลอันสมควร หากบริษัทดังกล่าวเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นย่อมจะพิพากษาคดีให้เสร็จไปในคราวเดียวโดยคู่ความไม่ต้องไปฟ้องร้องกันอีก คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบ เห็นว่า แม้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ก) จะเป็นบทบัญญัติให้สิทธิแก่คู่ความในคดีที่จะขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีเพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ย หรือเพื่อใช้ค่าทดแทน ถ้าหากศาลพิจารณาให้คู่ความเช่นว่านั้นแพ้คดี แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่บทบังคับเด็ดขาดว่าศาลจะต้องอนุญาตตามคำร้องขอในทุกกรณีศาลย่อมมีดุลพินิจที่จะพิจารณาว่าสมควรให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีหรือไม่เรียกเข้ามาในคดีหากจะไม่เป็นการสะดวกแก่การพิจารณา ทั้งนี้หากศาลไม่อนุญาตให้เรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดี คู่ความที่ยื่นคำร้องขอก็ยังมีสิทธิที่จะฟ้องบุคคลภายนอกดังกล่าวต่างหากจากคดีนี้ได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองรับผิดตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน ประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองจึงมีเฉพาะในเรื่องเช่าซื้อและค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1 ขอให้ศาลชั้นต้นหมายเรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม เพื่อให้ใช้เงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัยที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับบริษัทดังกล่าว หากศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นจะต้องวินิจฉัยในเประเด็นเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยด้วย ศาลชั้นต้นจึงให้ยกคำร้อง ซึ่งเป็นดลุพินิจในการพิจารณาสั่งคดีของศาลชั้นต้น คำสั่งดังกล่าวไม่ขัดต่อกฎหมาย ไม่มีเหตุที่จะให้ย้อนสำนวนเพื่อให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามคำขอของจำเลยที่ 1 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขี้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน ค่าธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ