แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เงินได้จากการเป็นพิธีกรที่มีบทบาทของการเป็นผู้ดำเนินรายการระคนปนไปกับบทบาทของการเป็นนักแสดงที่จะยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (43) แห่ง พ.ร.ฎ.ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ได้นั้นจะต้องมีบทบาทของการแสดงระคนปนไปถึงระดับเทียบเท่ากับบทบาทการแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพหรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ และจะต้องมีบทบาทของการแสดงที่มีสัดส่วนมากกว่าการเป็นผู้ดำเนินรายการ สำหรับรายการ M. ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์มีการแสดงถึงระดับเทียบเท่ากับบทบาทของนักแสดง สำหรับรายการ ค. และรายการ พ. และการเป็นพิธีกรเปิดตัวผลิตภัณฑ์ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ความสามารถแตกต่างจากการเป็นพิธีกรโดยทั่วไปอย่างไร เงินได้พึงประเมินของโจทก์จากการเป็นพิธีกรรายการดังกล่าวจึงไม่เป็นเงินได้จากการแสดงของนักแสดง โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.ฎ. ฉบับนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าเงินได้จากการดำเนินรายการบันเทิงคือรายการ MASTER KEY รายการคอนเสิร์ตตะลุยทั่วไทยและรายการพากินพาเที่ยวและค่าบริการในการดำเนินรายการเปิดตัวผลิตภัณฑ์เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ ขอให้เพิกถอนการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์นำเงินได้จากการเป็นพิธีกรรายการ MASTER KEY รายการคอนเสิร์ตตะลุยทั่วไทยรายการพากินพาเที่ยว และค่าบริการเป็นพิธีกรเปิดตัวผลิตภัณฑ์รวมเป็นเงิน 1,126,915.78 บาท มาคำนวณเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทนักแสดงสาธารณะตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งตามประมวลรัษฎากรและคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.102/2544 ลงวันที่ 5 มกราคม 2544 และคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.128/2546 ลงวันที่ 2 ตุลาคม 2546 คำว่า นักแสดงสาธารณะไม่รวมถึงพิธีกรจึงต้องจัดให้เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.12) และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ โดยให้นำเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากรายการ MASTER KEY จำนวน 825,600 บาท รายการคอนเสิร์ตตะลุยทั่วไทยและรายการพากินพาเที่ยวจำนวน 286,315.78 บาท และค่าบริการจำนวน 15,000 บาท มาหักค่าใช้จ่ายได้ตามมาตรา 40 (8) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับจากการดำเนินรายการ MASTER KEY จำนวน 825,600 บาท รายการคอนเสิร์ตตะลุยทั่วไทยและรายการพากินพาเที่ยวจำนวน 286,315.78 บาท ค่าบริการเป็นพิธีกรเปิดตัวผลิตภัณฑ์จำนวน 15,000 บาท รวมเป็นเงิน 1,126,915.78 บาท เป็นเงินได้พึงประเมินตาม มาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (43) แห่งพระราชฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ระบุยอมให้เงินได้จากการแสดงของนักแสดงละครภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้สำหรับเงินได้ส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 60 สำหรับเงินได้ส่วนที่เกิน 300,000 บาท ร้อยละ 40 และรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 600,000 บาท โดยไม่ได้ระบุถึงเงินได้จากการเป็นพิธีกรก็ตาม แต่จากทางนำสืบของโจทก์จะเห็นว่า ปัจจุบันบทบาทของพิธีกรโดยเฉพาะการเป็นพิธีกรทางรายการโทรทัศน์ได้เปลี่ยนแปลงไปมิได้จำกัดอยู่แค่การเป็นเพียงผู้ดำเนินรายการเท่านั้นหากแต่มีทั้งบทบาทการเป็นผู้ดำเนินรายการระคนปนไปกับบทบาทของการเป็นนักแสดงอย่างแยกกันไม่ออก แต่อย่างไรก็ตามเงินได้จากการเป็นพิธีกรที่มีบทบาทของการเป็นผู้ดำเนินรายการระคนปนไปกับบทบาทของการเป็นนักแสดงที่จะยอมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง (43) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2502 ได้นั้นจะต้องมีบทบาทของการแสดงระคนปนไปถึงระดับเทียบเท่ากับบทบาทการแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ และจะต้องมีบทบาทของการแสดงที่มีสัดส่วนมากกว่าการเป็นผู้ดำเนินรายการ สำหรับในส่วนเงินได้พึงประเมินของโจทก์จากการเป็นพิธีกรรายการ MASTER KEY นั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฏว่ามีการแสดงถึงระดับเทียบเท่ากับบทบาทการแสดงของนักแสดงละครภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ หรือไม่ ทั้งเมื่อพิจารณาจากภาพรวมของรายการที่มีถึงสามช่วงแต่มีการแสดงส่วนนี้เพียงบางส่วนของช่วงที่สองถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับทั้งรายการที่บทบาทหลักของโจทก์เป็นเพียงพิธีกรผู้ดำเนินรายการเพื่อให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของรายการคือการชิงรางวัลของผู้ร่วมรายการเท่านั้น สำหรับรายการคอนเสิร์ตตะลุยทั่วไทยและรายการพากินพาเที่ยวนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า บทบาทหลักของโจทก์ในรายการทั้งสองรายการดังกล่าวมีหน้าที่เป็นเพียงผู้ดำเนินรายการไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้ความสามารถมากไปกว่าการเป็นพิธีกรโดยทั่วไปอย่างไร ทั้งในส่วนที่โจทก์ร่วมร้องเพลงด้วยก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีอาชีพเป็นนักร้องหรือนักดนตรีที่พอจะถือว่าเป็นการร่วมร้องเพลงด้วยนั้นมีระดับเทียบเท่ากับบทบาทการแสดงของนักร้องหรือนักดนตรี นอกจากนี้โจทก์ก็ไม่ได้นำสืบถึงเทปรายการโทรทัศน์ทั้งสามรายการดังกล่าวว่า โจทก์มีบทบาทในการดำเนินรายการโดยอาศัยความสามารถทั้งในด้านการแสดง การพูดไหวพริบปฏิภาณในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ความรู้รอบตัวและมีอารมณ์ขันเพื่อสร้างความสนุกสนานและความบันเทิงในรายละเอียดอย่างไรอันพอจะทำให้เห็นได้ว่าบทบาทการเป็นพิธีกรของโจทก์มีระดับเทียบเท่ากับบทบาทการแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์ วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ ดังที่โจทก์อ้างส่วนการเป็นพิธีกรเปิดตัวผลิตภัณฑ์นั้นข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่า โจทก์เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวทีแนะนำและเปิดตัวผลิตภัณฑ์และรับหน้าที่เป็นช่างแต่งหน้าให้นางแบบที่มาร่วมการสาธิตการใช้ผลิตภัณฑ์ ไม่ปรากฏในรายละเอียดว่าโจทก์ใช้ความสามารถเฉพาะตัวที่แตกต่างจากการเป็นพิธีกรโดยทั่วไปอย่างไร ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่า เงินได้พึงประเมินของโจทก์จากการเป็นพิธีกรรายการดังกล่าวเป็นเงินได้จากการแสดงของนักแสดงละคร ภาพยนตร์วิทยุหรือโทรทัศน์ นักร้อง นักดนตรี นักกีฬาอาชีพ หรือนักแสดงเพื่อความบันเทิงใดๆ โจทก์จึงไม่มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้เมื่อโจทก์เป็นเพียงพิธีกรผู้ดำเนินรายการโดยไม่ได้มีการแสดงให้ความบันทึกจึงต้องถือว่าเงินได้พึงประเมินที่โจทก์ได้รับดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นการรับทำงานให้ จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากร อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ