แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดหลายกรรมต่างกันโดยแต่งกายเป็นภิกษุในศาสนาพุทธโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นภิกษุในศาสนาพุทธซึ่งเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตาม ป.อ. มาตรา 208 และจำเลยที่ 1 ได้สมคบกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 วางแผนการเพื่อฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 210 การกระทำความผิดทั้ง 2 ฐานดังกล่าว จำเลยที่ 1 ย่อมมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกันได้ ที่สำคัญก็คือสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๘๓, ๙๑, ๒๐๘, ๒๑๐, ๓๔๑, ๓๔๓
จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ กับจำเลยทั้งเจ็ดมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๐ วรรคแรก, ๘๓ การกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ฐานแต่งกายพระภิกษุโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี และฐานซ่องโจร จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๓ ถึงที่ ๗ คนละ ๑ ปี รวมจำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๒ ปี จำเลยทั้งเจ็ดให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้จำเลยทั้งเจ็ดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๑ ปี
ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานแต่งกายเป็นภิกษุโดยมิชอบ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ แล้ว คงจำคุก ๓ เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานซ่องโจรตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก ๙ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ว่ากระทำความผิดหลายกรรมต่างกันโดยแต่งกายเป็นภิกษุในศาสนาพุทธโดยมิชอบเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนเป็นภิกษุในศาสนาพุทธซึ่งเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับศาสนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๐๘ และจำเลยที่ ๑ ได้สมคบกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๗ วางแผนการเพื่อฉ้อโกงประชาชน อันเป็นความผิดฐานเป็นซ่องโจร ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๑๐ การกระทำความผิดทั้ง ๒ ฐาน ดังกล่าว จำเลยที่ ๑ ย่อมมีเจตนาประสงค์ต่อผลแตกต่างกันได้ ที่สำคัญก็คือสามารถแยกการกระทำแต่ละความผิดได้ เมื่อจำเลยที่ ๑ ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้อง จึงเป็นการกระทำความผิดหลายกรรม ไม่ใช่เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทดังที่จำเลยที่ ๑ ฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.