แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ
ย่อสั้น
คดีที่เอกชนฟ้องเจ้าพนักงานที่ดินกับพวกอ้างว่า มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีเพียงบางส่วน เป็นการใช้ดุลพินิจไม่ชอบและเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่ง และให้สอบสวนเปรียบเทียบออกโฉนดที่ดินให้ทั้งแปลง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ให้การ โดยสรุปว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสงวนนอกเขตทาง คำสั่งชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีจะกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานที่ดินใช้ดุลพินิจไม่ชอบ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขอให้เพิกถอนคำสั่ง แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีก็เป็นไป เพื่อขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินและการขอออกโฉนดที่ดินตามสิทธิของตน เป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสงวนของกรมทางหลวงเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ย่อยาว
(สำเนา)
คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๕/๒๕๕๗
วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๕๗
เรื่อง คดีเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน
ศาลปกครองนครศรีธรรมราช
ระหว่าง
ศาลจังหวัดกระบี่
การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชโดยสำนักงานศาลปกครองส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลพิจารณาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น
ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๕๖ นายษนกร ณ ถลาง หรือดำรงแก้วช่วย ที่ ๑ นางกัลยาณี ณ ถลาง ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี ยื่นฟ้องอธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ สาขาอ่าวลึก ที่ ๒ อธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๓ ผู้อำนวยการสำนักงานบำรุงทางพังงา ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี ต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๒๗๒/๒๕๕๖ ความว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๕๕ ตำบลเขาใหญ่ (อ่าวลึกใต้) อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๒ งาน โดยเมื่อปี ๒๕๕๔ เจ้าของที่ดินเดิมได้นำหลักฐาน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๕๕ ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๔ คัดค้านการรังวัด โดยอ้างว่า นำรังวัดรุกล้ำและทับที่ดินสงวนตามประกาศอำเภออ่าวลึก ที่ ๘๓/๒๔๘๒ ของกรมทางหลวง แปลงช่องเขาไม้แก้วบางส่วน เนื้อที่ ๓ ไร่ ๑ งาน ๘๓ ตารางวา ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นคำขอสวมสิทธิการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ได้ทำการสอบสวนเปรียบเทียบ ปรากฏว่า คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้มาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการสอบสวนเปรียบเทียบได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเฉพาะส่วนที่ดินที่มิได้พิพาท ส่วนที่ดินที่พิพาทให้คู่กรณีนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งประกาศอำเภออ่าวลึก ที่ ๘๓/๒๔๘๒ เป็นเอกสารหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นเอกสารที่กรมทางหลวงจัดทำขึ้นใหม่เพียงฝ่ายเดียวและไม่ได้ประกาศสงวนหวงห้ามตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า อีกทั้งกรมทางหลวงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทถือว่ารัฐถือครองที่ดินพิพาทเหมือนเอกชน กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อ้างว่าไม่มีอำนาจสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้รับความเสียหาย และผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ยังไม่ได้ออกโฉนดที่ดินตามที่รังวัดได้ให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสอง เนื่องจากต้องรอผลการรังวัดที่ดินสงวนหวงห้ามของกรมทางหลวงว่ามีเนื้อที่ครบหรือไม่ ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้กรมที่ดินมีคำสั่งใหม่ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทั้งแปลง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ให้การว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินแก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเฉพาะส่วนที่ดินที่มิได้พิพาท อันเป็นการใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินด้วยความรอบคอบ ชอบด้วยระเบียบกฎหมายแล้ว และเป็นกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่อาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบและออกโฉนดที่ดินส่วนที่พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ไม่อาจใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ สั่งการได้เช่นกันเนื่องจากอำนาจดังกล่าวเป็นของเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสาขา ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ จึงมิได้ละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และมิได้ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกฟ้อง
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้การว่า ที่ดินบริเวณที่พิพาทมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการสอบสวนเปรียบเทียบที่ดินส่วนที่พิพาทไม่ได้ คำสั่งออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ดินที่มิได้พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยระเบียบกฎหมายแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสงวนนอกเขตทาง ประเภทเพื่อใช้เป็นแหล่งวัสดุงานทาง คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองนครศรีธรรมราชพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อคดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองฟ้องว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเฉพาะส่วนที่กรมทางหลวงไม่ได้คัดค้านการรังวัดออกโฉนดที่ดิน ส่วนที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่กรมทางหลวงอ้างว่าได้สงวนหวงห้ามไว้ตามประกาศอำเภออ่าวลึก ที่ ๘๓/๒๔๘๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่ใช้อำนาจตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการสอบสวนเปรียบเทียบ การออกคำสั่งพิพาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งและออกโฉนดที่ดินทั้งแปลงตามที่รังวัดได้ จึงเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองโต้แย้งเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของการออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองตามมาตรา ๕๙ และมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง อันเป็นคำสั่งทางปกครอง เมื่อเป็นข้อพิพาทที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานทางปกครองใช้อำนาจตามกฎหมายออกคำสั่งทางปกครอง จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิจารณาจากข้อหาหลักแห่งคดีและคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองที่ขอให้มีการแก้ไขเยียวยาทางศาล ซึ่งเป็นข้อหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองและเป็นคำขอที่ให้ศาลเพิกถอนคำสั่งทางปกครองแล้ว ประเด็นพิจารณาเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน จึงเป็นเพียงประเด็นปัญหาข้อเท็จจริงประเด็นหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้ใช้ในการพิจารณา และศาลปกครองจะนำมาใช้ประกอบการพิจารณาพิพากษาเท่านั้น มิใช่ประเด็นหลักแห่งคดี คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒
ศาลจังหวัดกระบี่พิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้การที่จะพิจารณาว่าสมควรจะเพิกถอนหรือมีคำสั่งใหม่ของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐว่า เป็นการกระทำหรือเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่นั้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า การกระทำการดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องเกี่ยวกับการถูกโต้แย้งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง จำเป็นจะต้องฟังข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติและวินิจฉัยก่อนว่าผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่พิพาทหรือไม่ ซึ่งจะต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ถือว่าเป็นประเด็นสำคัญในข้อหาแห่งคดี จึงต้องวินิจฉัยให้ได้ข้อยุติเสียก่อน แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นเอกชนยื่นฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดิน น.ส. ๓ เลขที่ ๑๕๕ ซึ่งเจ้าของที่ดินเดิมได้ยื่นคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดินต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่ผู้ถูกฟ้องคดี ๔ คัดค้านการรังวัดโดยอ้างว่า นำรังวัดรุกล้ำและทับที่ดินสงวนตามประกาศอำเภออ่าวลึก ที่ ๘๓/๒๔๘๒ ของกรมทางหลวง แปลงช่องเขาไม้แก้วบางส่วน ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจึงยื่นคำขอสวมสิทธิการรังวัดออกโฉนดที่ดินดังกล่าว ต่อมาผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ สอบสวนเปรียบเทียบ ปรากฏว่า คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้มาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ทำการสอบสวนเปรียบเทียบได้ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ มีคำสั่งออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองเฉพาะส่วนที่ดินที่มิได้พิพาท ส่วนที่ดินที่พิพาทให้คู่กรณีนำข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรม ซึ่งประกาศอำเภออ่าวลึก ที่ ๘๓/๒๔๘๒ เป็นเอกสารหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเป็นเอกสารที่กรมทางหลวงจัดขึ้นใหม่เพียงฝ่ายเดียวและไม่ได้ประกาศสงวนหวงห้ามตามขั้นตอนของกฎหมาย ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า อีกทั้งกรมทางหลวงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาท ถือว่ารัฐถือครองที่ดินพิพาทเหมือนเอกชน กรณีจึงเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินระหว่างเอกชนกับเอกชน การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อ้างว่าไม่มีอำนาจสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน จึงเป็นการใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ให้กรมที่ดินมีคำสั่งใหม่ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ทำการสอบสวนเปรียบเทียบตามมาตรา ๖๐ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และที่ ๒ ออกโฉนดที่ดินให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองทั้งแปลง ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ และ ที่ ๒ ให้การโดยสรุปว่า ที่ดินพิพาทมีลักษณะต้องห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน ไม่อาจทำการสอบสวนเปรียบเทียบและออกโฉนดที่ดินส่วนที่พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้ คำสั่งออกโฉนดที่ดินเฉพาะส่วนที่ดินที่มิได้พิพาทให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้งสองชอบด้วยระเบียบกฎหมายแล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๓ และที่ ๔ ให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสงวนนอกเขตทาง ประเภทเพื่อใช้เป็นแหล่งวัสดุงานทาง คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เห็นว่า คดีนี้แม้ผู้ฟ้องคดีทั้งสองจะกล่าวอ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ใช้ดุลพินิจที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ แต่เมื่อพิจารณาความมุ่งหมายในการฟ้องคดีของผู้ฟ้องคดีทั้งสอง ก็เป็นไปเพื่อขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้รับรองหรือคุ้มครองสิทธิในที่ดินและการขอออกโฉนดที่ดินตามสิทธิของตนเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่ศาลจะพิพากษาหรือมีคำสั่งตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสองได้นั้น จำต้องพิจารณาให้ได้ความเสียก่อนว่า ที่ดินที่พิพาทผู้ฟ้องคดีทั้งสองเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามที่กล่าวอ้างหรือเป็นที่ดินสงวนของกรมทางหลวงเป็นสำคัญ แล้วจึงจะพิจารณาประเด็นอื่นต่อไป คดีนี้จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นายษนกร ณ ถลาง หรือดำรงแก้วช่วย ที่ ๑ นางกัลยาณี ณ ถลาง ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี อธิบดีกรมที่ดิน ที่ ๑ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดกระบี่ สาขาอ่าวลึก ที่ ๒ อธิบดีกรมทางหลวง ที่ ๓ ผู้อำนวยการสำนักงานบำรุงทางพังงา ที่ ๔ ผู้ถูกฟ้องคดี อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม
(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง
(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร
(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ