คำวินิจฉัยที่ 98/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนฟ้องหน่วยงานทางปกครองที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ กรณีมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ตายและสินสมรสของโจทก์กับผู้ตาย และมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน กระทำการโดยไม่สุจริตโอนที่ดินที่ยึดและอายัดไว้เป็นของจำเลยทั้งหมด ขอให้เพิกถอนคำสั่งเลขาธิการของจำเลย ให้คืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ ให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินกับให้ชำระค่าขาดประโยชน์พร้อมดอกเบี้ย เมื่อการตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ และเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การยื่นคำร้องของพนักงานอัยการต่อศาลยุติธรรม อันเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการดังกล่าว ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๘/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓)

ศาลจังหวัดขอนแก่น
ระหว่าง
ศาลปกครองขอนแก่น

การส่งเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดขอนแก่นส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งเขตอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีและศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องเขตอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ นางลิ้ว เย็นสวัสดิ์ โจทก์ ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลย ต่อศาลจังหวัดขอนแก่น เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๐๗/๒๕๕๖ ความว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้จัดการมรดกของนายปรีชา เย็นสวัสดิ์ เมื่อวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๔๖ นายปรีชา สามีโจทก์ถูกยิงเสียชีวิต เจ้าพนักงานตำรวจได้ใส่ความเท็จกล่าวหาผู้ตายว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยมิชอบและไม่เป็นความจริง ต่อมาวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๖ เลขาธิการของจำเลยใส่ความกล่าวหาผู้ตายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ผู้ตายมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายและสินสมรสของโจทก์กับผู้ตาย และมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินดังกล่าว จำนวน ๑๒ รายการ โดยผู้ตายมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและมิใช่ผู้ต้องหาตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ การออกคำสั่งดังกล่าวของเลขาธิการของจำเลยจึงฝ่าฝืนพระราชบัญญัติดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีมติว่า ทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้นั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยปกปิดไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ ต่อมาจำเลยได้กระทำการโดยไม่สุจริตโอนที่ดินที่ยึดและอายัดไว้เป็นของจำเลยทั้งหมด โดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเลขาธิการของจำเลยให้จำเลยคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ ให้จำเลยไปยื่นคำร้องขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โอนไปเป็นของจำเลย กับให้จำเลยชำระเงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า มิได้ใส่ความกลั่นแกล้งโจทก์เพื่อให้ได้รับความเสียหาย แต่เป็นการใช้อำนาจและหน้าที่ตามขั้นตอนของกฎหมายโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คดีนี้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้แม้จำเลยเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่คำฟ้องของโจทก์แสดงโดยแจ้งชัดว่า เหตุที่ฟ้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้คืนทรัพย์สินที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดและอายัดหรือให้เพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของโจทก์หรือผู้ตาย เกิดขึ้นสืบเนื่องจากการที่คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์และของผู้ตาย โดยโจทก์อ้างว่าคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อพิเคราะห์วัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ตราขึ้นเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยกำหนดมาตรการต่างๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะ การดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นการดำเนินการสืบเนื่องมาจากมีการกระทำความผิดเกี่ยวกับกฎหมายยาเสพติด ดังนั้น การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเป็นการใช้อำนาจในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และการริบหรืออายัดทรัพย์สินหรือโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินตามคำฟ้องของโจทก์ตามมติของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องมาจากกระบวนการดังกล่าว การดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินจึงเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มิใช่การดำเนินการทางปกครอง ข้อพิพาทในคดีนี้ จึงไม่มีลักษณะเป็นคดีปกครอง แต่เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองขอนแก่นพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้มิใช่คดีพิพาทเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในขั้นตอนการดำเนินการที่จะนำไปสู่การนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษทางอาญาซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา อันเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาศาลยุติธรรม แต่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และการกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ซึ่งเป็นคดีพิพาทที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๒) และ (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ คดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์อ้างว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้ใส่ความเท็จกล่าวหานายปรีชา เย็นสวัสดิ์ (สามีของโจทก์) ซึ่งถึงแก่ความตายว่า กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษโดยมิชอบและไม่เป็นความจริง ต่อมาเลขาธิการของจำเลยใส่ความกล่าวหาผู้ตายด้วยข้อความอันเป็นเท็จว่า ผู้ตายมียาเสพติดให้โทษในประเภท ๑ (เมทแอมเฟตามีน) ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายและมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สินที่เป็นของผู้ตายและสินสมรสของโจทก์กับผู้ตาย และมีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สิน โดยผู้ตายมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดและมิใช่ผู้ต้องหาตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ต่อมาคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีมติว่า ทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้นั้น เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยปกปิดไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบ หลังจากนั้นจำเลยได้กระทำการโดยไม่สุจริตโอนที่ดินที่ยึดและอายัดไว้เป็นของจำเลยทั้งหมดโดยไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและไม่สุจริต การออกคำสั่งดังกล่าวของเลขาธิการของจำเลยฝ่าฝืนพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้พิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเลขาธิการของจำเลย ให้จำเลยคืนทรัพย์สินที่ยึดหรืออายัดไว้ ให้จำเลยไปยื่นคำร้อง ขอเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่โอนไปเป็นของจำเลย กับให้จำเลยชำระเงินค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์สินพร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ เห็นว่า พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ตราขึ้นเพื่อให้การปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยกำหนดมาตรการต่างๆ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวขึ้นโดยเฉพาะ ได้แก่ มาตรการในการตรวจสอบทรัพย์สินที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบทรัพย์สิน และการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งมาตรการดังกล่าวเป็นขั้นตอนที่นำไปสู่การยื่นคำร้องของพนักงานอัยการต่อศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗ เพื่อให้ศาลไต่สวนและสั่งริบทรัพย์สินนั้นตามมาตรา ๒๙ โดยจะยื่นคำร้องไปพร้อมกับคำฟ้องหรือในเวลาใดก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา หรือถ้ามีเหตุอันควรจะยื่นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาก็ได้ แต่ในกรณีไม่อาจดำเนินคดีได้ภายในสองปีนับแต่วันที่การกระทำความผิดเกิดและไม่อาจจับตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยได้ ก็ให้ทรัพย์สินที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามมาตรา ๓๒ วรรคสอง การดำเนินการตามพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงเป็นกระบวนการต่อเนื่องกับการดำเนินกระบวนยุติธรรมทางอาญาในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด และศาลยุติธรรมย่อมมีอำนาจในการตรวจสอบขั้นตอนกระบวนการดังกล่าว ดังนั้น การที่เลขาธิการของจำเลยมีคำสั่งให้ตรวจสอบทรัพย์สิน ยึดและอายัดทรัพย์สิน และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินพิจารณาว่า ทรัพย์สินที่ยึดอายัดไว้เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง นางลิ้ว เย็นสวัสดิ์ โจทก์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share