คำวินิจฉัยที่ 97/2557

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีจำเลยมีคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงโจทก์ด้วยการไล่โจทก์ออกจากราชการ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมา ก.พ.อ. ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการโดยให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิม แต่จำเลยไม่ดำเนินการ โดยอ้างเหตุผลว่าคำสั่ง ก.พ.อ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการและให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิมตามมติ ก.พ.อ. ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาเป็นหลัก โดยมีคำขอส่วนแพ่งขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเรียกร้องอันมีมูลฐานเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

ย่อยาว

(สำเนา)

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
ที่ ๙๗/๒๕๕๗

วันที่ ๒๕ กันยายน ๒๕๕๗

เรื่อง เขตอำนาจศาลเกี่ยวกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง

ศาลจังหวัดอุบลราชธานี
ระหว่าง
ศาลปกครองอุบลราชธานี

การยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีโดยสำนักงานศาลยุติธรรมส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลวินิจฉัยชี้ขาดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ วรรคหนึ่ง (๓) ซึ่งเป็นกรณีคู่ความฝ่ายที่ถูกฟ้องคดีโต้แย้งอำนาจศาลที่รับฟ้องคดี และศาลที่ส่งความเห็นและศาลที่รับความเห็นมีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องอำนาจศาลในคดีนั้น

ข้อเท็จจริงในคดี
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๖ รองศาสตราจารย์ธาดา สุทธิธรรม โจทก์ ยื่นฟ้องรองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย เป็นคดีหมายเลขดำที่ ๔๖๓/๒๕๕๖ ความว่า ขณะเกิดเหตุโจทก์ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะศิลปะประยุกต์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จำเลย ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงโจทก์ ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยอุบลราชธานีได้มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ต่อมา ก.พ.อ. มีมติให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากราชการและสั่งให้โจทก์กลับเข้ารับราชการ แต่จำเลยกลับไม่ดำเนินการโดยอ้างเหตุผลว่าคำสั่ง ก.พ.อ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบโดยมีเจตนาทุจริต เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ โจทก์ต้องเสียโอกาสได้รับความดีความชอบและความเจริญก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ราชการ ไม่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่โจทก์เคยได้รับ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ย กับให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ ๑๒๐,๐๐๐ บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าโจทก์จะได้กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งเดิม
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่า คดีมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
จำเลยให้การว่า ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจริงและค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง อนึ่ง ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องเป็นค่าเสียหายในมูลเหตุเดียวกับคดีที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๒/๒๕๕๕ ขอให้เพิกถอนคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเรื่องลงโทษไล่ออกจากราชการ เนื่องจากเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองขอนแก่น ขอให้ยกคำขอส่วนแพ่งของโจทก์
จำเลยยื่นคำร้องโต้แย้งเขตอำนาจศาลว่า คำขอส่วนแพ่งคดีนี้เป็นคดีละเมิดตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้เป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาและโจทก์ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนแพ่ง จึงเป็นคดีพิพาทคดีส่วนแพ่งเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอาญา ดังนั้น จึงมิใช่คดีพิพาทในคดีส่วนแพ่งเกี่ยวกับการกระทำละเมิดทางปกครองตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) ข้อพิพาทคดีส่วนแพ่งในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
ศาลปกครองอุบลราชธานีพิจารณาแล้วเห็นว่า แม้เจตนารมณ์ของบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หมวด ๒ การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะมีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เสียหายที่มีสิทธิที่จะเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาของจำเลยสามารถฟ้องหรือยื่นคำร้องขอในส่วนแพ่งมากับคดีส่วนอาญาดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องแยกฟ้องคดีแพ่งเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก แต่หลักการสำคัญที่จะทำให้ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้นั้น ประการที่หนึ่ง สิทธิเรียกร้องในส่วนแพ่งที่จะฟ้องรวมมาด้วยกันกับคดีส่วนอาญาต้องเป็นสิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๓ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าสิทธิเรียกร้องในส่วนแพ่งมิได้เกิดขึ้นโดยตรงจากการกระทำความผิดอาญาหรือสิทธิเรียกร้องดังกล่าวเป็นสิทธิเรียกร้องในทางปกครองแล้วจะฟ้องรวมกันมากับคดีอาญาไม่ได้ ประการที่สอง ส่วนที่เป็นคดีแพ่งจะต้องอยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาในส่วนอาญาดังกล่าวด้วย หากส่วนแพ่งไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลที่พิจารณาพิพากษาส่วนอาญา หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคืออยู่ในเขตอำนาจของศาลต่างประเภทกันแล้ว ย่อมไม่อาจนำส่วนที่เป็นคดีแพ่งไปดำเนินคดีในศาลที่มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาส่วนคดีอาญาดังกล่าวได้ ซึ่งหลักการดังกล่าวนี้ได้มีบัญญัติรับรองไว้ในมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ. ๒๔๙๘ แล้ว เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยมีคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงโจทก์ด้วยการไล่โจทก์ออกจากราชการ อันเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมาย และต่อมาโจทก์อุทธรณ์ร้องทุกข์คำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงดังกล่าวต่อคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในสถาบันอุดมศึกษา (ก.พ.อ.) ซึ่งต่อมาคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับอุทธรณ์ ร้องทุกข์ และจรรยาบรรณทำหน้าที่แทน ก.พ.อ. ได้มีมติให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการโดยให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิม แต่จำเลยในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมติของ ก.พ.อ. ดังกล่าว กลับละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายที่โจทก์ประสงค์จะฟ้องขอให้ชดใช้แก่ตนจึงเป็นความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ คำฟ้องในส่วนที่เป็นคดีละเมิดที่โจทก์ขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวนั้น จึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการกระทำละเมิดของเจ้าหน้าที่รัฐอันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายและจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อันอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

คำวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องพิจารณา คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมหรือศาลปกครอง
คณะกรรมการพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีนี้ แม้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกรณีมีคำสั่งมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงโจทก์ด้วยการไล่โจทก์ออกจากราชการ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว ต่อมา ก.พ.อ. ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการโดยให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิม แต่จำเลยไม่ดำเนินการ โดยอ้างเหตุผลว่าคำสั่ง ก.พ.อ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยกล่าวอ้างว่าได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยในฐานะอธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นการกระทำผิดกฎหมายอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่โจทก์ออกจากราชการและให้โจทก์กลับเข้ารับราชการดังเดิมตามมติ ก.พ.อ. ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อันเป็นการฟ้องคดีเพื่อให้ลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาเป็นหลัก โดยมีคำขอส่วนแพ่งขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งเป็นการเรียกร้องอันมีมูลฐานเนื่องมาจากการกระทำความผิดทางอาญา ดังนั้น ข้อพิพาทในคดีนี้จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงวินิจฉัยชี้ขาดว่า คดีระหว่าง รองศาสตราจารย์ธาดา สุทธิธรรม โจทก์ รองศาสตราจารย์นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข จำเลย อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) ดิเรก อิงคนินันท์ (ลงชื่อ) สุวัฒน์ วรรธนะหทัย
(นายดิเรก อิงคนินันท์) (นายสุวัฒน์ วรรธนะหทัย)
ประธานศาลฎีกา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลยุติธรรม

(ลงชื่อ) หัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล (ลงชื่อ) จรัญ หัตถกรรม
(นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล) (นายจรัญ หัตถกรรม)
ประธานศาลปกครองสูงสุด กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลปกครอง

(ลงชื่อ) พลเรือโท กฤษฎา เจริญพานิช (ลงชื่อ) พลตรี พัฒนพงษ์ เกิดอุดม
(กฤษฎา เจริญพานิช) (พัฒนพงษ์ เกิดอุดม)
หัวหน้าสำนักตุลาการทหาร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของศาลทหาร

(ลงชื่อ) จิระ บุญพจนสุนทร
(นายจิระ บุญพจนสุนทร)
กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ

Share