คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทของผู้ตายตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม แม้จะได้ความว่าบริษัทนี้มีหนี้สินค้างชำระเป็นจำนวนมากก็เป็นคนละกรณีกัน เพราะโจทก์ทั้งสามต้องรับไปทั้งสิทธิหน้าที่และความรับผิด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 354 ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ทั้งไม่ได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับมอบหมายให้จัดการหุ้นดังกล่าวของผู้ตายหรือไม่ อย่างไร คงได้ความแต่เพียงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และจำเลยที่ 2 รับโอนหุ้นกลับมาจากจำเลยที่ 3 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 352, 353 และ 354
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ให้จำคุก 1 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 353 ให้จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของผู้ตาย จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายจึงมีหน้าที่จัดการมรดกและแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิที่จะพึงมีพึงได้ของทายาทเหล่านั้น การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 โอนหุ้นดังกล่าวกลับมาให้จำเลยที่ 2 ซึ่งมิได้เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก จึงเป็นการกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้โจทก์ทั้งสามไม่ได้รับแบ่งปันหุ้นดังกล่าว ถือว่าเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของโจทก์ทั้งสาม กระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษา และการที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนหุ้นของผู้ตายจากจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดนั้น แต่การรับโอนหุ้นของผู้ตายมาเป็นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์ส่วนตนแก่จำเลยทั้งสามอีกทั้งจำเลยทั้งสามเป็นบุคคลในครอบครัวเดียวกัน เหตุแห่งการกระทำความผิดจึงไม่ร้ายแรง ประกอบกับได้ความว่า จำเลยที่ 2 ดำเนินการแบ่งปันโอนหุ้นดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสามในฐานะทายาทได้รับไปตามสิทธิเรียบร้อยแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทั้งสามได้บรรเทาผลร้ายลงไปแล้ว จึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลยทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354 ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 8 เดือน โทษจำคุกของจำเลยทั้งสามให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share