แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” นั้น มีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้น แตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตาม ป.อ. มาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตาย ซึ่งเมื่อมิใช่กระทำโดยมีเจตนาฆ่า แต่การกระทำนั้นเป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดสำเร็จตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก แล้ว หาใช่เป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290, 371, 83, 91, 33 และริบมีดดาบของกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางอุทัย มารดาของนายวัชรพงศ์ ผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต (ที่ถูก ให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าเท่านั้น)
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 80, 290, 371 การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุก 4 ปี ฐานพาอาวุธปืน (ที่ถูก ฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยเปิดเผยหรือโดยไม่มีเหตุสมควร) ปรับ 60 บาท รวมจำคุก 4 ปี และปรับ 60 บาท จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 2 ปี 8 เดือน และปรับ 40 บาท ริบมีดดาบของกลาง ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 (ที่ถูก มาตรา 290 วรรคแรก) จำเลยที่ 2 อายุ 18 ปีเศษ ยังไม่เกิน 20 ปี ลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ฐานทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย จำคุก 6 ปี เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำคุก 4 ปี และเมื่อรวมกับโทษในความผิดฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วรวมเป็นจำคุก 4 ปี และปรับ 40 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า … มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า การกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดสำเร็จหรือไม่ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ไม่ปรากฏร่องรอยบาดแผลตามร่างกายของผู้ตาย แสดงว่าคนร้ายไม่มีเจตนาทำร้ายก็ดีหรือหากเป็นการกระทำความผิด ก็เพียงขั้นพยายาม ไม่ใช่ความผิดสำเร็จก็ดีนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดมิได้มีเจตนาฆ่า แต่ทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” อันมีความหมายว่า หากผู้ใดทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายโดยมิได้มีเจตนาฆ่าแล้ว ผู้นั้นย่อมมีความผิดตามมาตรานี้ ซึ่งเป็นการบัญญัติให้ได้รับโทษหนักขึ้นแตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่น หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำร้ายรับอันตรายสาหัส ตลอดจนความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 297 และ 391 ตามลำดับ อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างกันไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตายแล้ว จนเป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายซึ่งเมื่อมิใช่โดยเจตนาฆ่า แต่เป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรกแล้ว หาใช่เป็นการพยายามกระทำความผิดไม่ ปัญหาประการสุดท้ายตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า มีเหตุสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบา และรอการลงโทษให้จำเลยที่ 2 หรือไม่ พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องอุกอาจ ไม่ยำเกรงต่อกฎหมาย จำเลยที่ 2 ก่อเกิดเหตุขึ้นทั้ง ๆ ที่ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงเป็นเรื่องร้ายแรง ไม่มีเหตุสมควรรอการลงโทษ อย่างไรก็ดี ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลดมาตราส่วนโทษให้จำเลยที่ 2 หนึ่งในสามและลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดโทษนั้น หนักเกินไป สมควรแก้ไขให้เหมาะสม ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ลดมาตราส่วนโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76 ความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย ให้จำคุก 4 ปี ลดโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว จำคุก 2 ปี 8 เดือน เมื่อรวมโทษในความผิดฐานพาอาวุธแล้ว คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และปรับ 40 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1