คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การชี้สองสถานเป็นการนั่งพิจารณาอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา1(9) แม้ศาลชั้นต้นจะได้กำหนดวันนัดชี้สองสถานในวันที่7พฤษภาคม2536และทนายโจทก์ได้รับหมายนัดชี้สองสถานเมื่อวันที่11มีนาคม2536แล้วแต่โจทก์ได้ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่10มีนาคม2536ก่อนที่ทนายโจทก์จะได้รับหมายและก่อนวันชี้สองสถานเมื่อนางย.ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ได้ยื่นคำร้องแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบถึงความมรณะของโจทก์ศาลชั้นต้นต้องสั่งเลื่อนการนัดชี้สองสถานที่นัดไว้ไปก่อนจนกว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นางย. เข้ามาเป็นคู่ความแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา42และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตแล้วศาลชั้นต้นต้องแจ้งกำหนดวันนัดชี้สองสถานใหม่ให้คู่ความทราบล่วงหน้าตามกฎหมายการที่ศาลชั้นต้นดำเนินการชี้สองสถานไปเมื่อวันที่7พฤษภาคม2536เป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยแบ่งที่ดินมรดกและบ้านให้แก่โจทก์จำนวนหนึ่งในสาม
จำเลยให้การว่า ลายมือชื่อโจทก์ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยได้โอนทรัพย์มรดกที่ดินเป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ของผู้จัดการมรดกโจทก์ได้ทำบันทึกสละมรดกแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกดังกล่าว โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อพ้นอายุความ 1 ปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่กรรมคดีของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์ถึงแก่กรรม นางยุพิน นาคปริทัศน์ภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนศาลชั้นต้นอนุญาต
หลังจากชี้สองสถานแล้วโจทก์ยื่นคำร้องสองฉบับ ลงวันที่14 พฤษภาคม 2536 ขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกกระบวนพิจารณาวันที่7 พฤษภาคม 2536 และขออนุญาตยื่นบัญชีระบุพยานอ้างว่า เมื่อโจทก์ถึงแก่กรรมศาลชั้นต้นจะต้องเลื่อนการชี้สองสถานไปจนกว่าจะมีทายาทเข้ารับมรดกความแทนโจทก์เสียก่อนการที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ารับมรดกความแทนโจทก์ในวันชี้สองสถานและดำเนินการชี้สองสถานไปในวันเดียวกันนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเหตุให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานไม่ทัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามคำร้องฉบับแรกว่ารวมส่วนฉบับหลังว่าโจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดชี้สองสถานโดยกำหนดวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 โจทก์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่10 มีนาคม 2536 ทนายโจทก์ได้รับหมายนัดชี้สองสถานเมื่อวันที่11 มีนาคม 2536 ต่อมาวันที่ 27 เมษายน 2536 นางยุพินยื่นคำร้องว่าโจทก์ได้ถึงแก่กรรมขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นสั่งให้นัดไต่สวนเมื่อถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 ซึ่งเป็นวันนัดชี้สองสถานศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้นางยุพินเข้าเป็นคู่ความแทน แล้วทำการชี้สองสถานต่อไปในวันเดียวกันและนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่25 มิถุนายน 2536 โดยโจทก์ไม่ได้ขอเลื่อนการชี้สองสถานออกไปและไม่ได้คัดค้านในการที่ศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถาน ต่อมาวันที่14 พฤษภาคม 2536 โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลยกเลิกกระบวนพิจารณาที่ได้ทำการชี้สองสถานไปในวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 ขอให้นัดทำการชี้สองสถานใหม่และขอยื่นบัญชีระบุพยาน มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การชี้สองสถานของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42บัญญัติว่า “ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะจะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่” การชี้สองสถานเป็นการนั่งพิจารณาอย่างหนึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 1(9) ฉะนั้น เมื่อนางยุพินภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ยื่นคำร้องแจ้งให้ศาลชั้นต้นทราบถึงความมรณะของโจทก์ ศาลชั้นต้นต้องสั่งเลื่อนการนัดชี้สองสถานที่นัดไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536ไปก่อนจนกว่าศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้นางยุพินเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตแล้ว ศาลชั้นต้นต้องแจ้งกำหนดวันนัดชี้สองสถานใหม่ให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 182(เดิม) ซึ่งบังคับใช้อยู่ในขณะนั้น การที่ศาลชั้นต้นดำเนินการชี้สองสถานไปเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 เป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าวจึงเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องก่อน
พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ตั้งแต่การชี้สองสถานเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2536 เป็นต้นไป แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ต่อไปตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้ศาลชั้นต้นรวมสั่งเมื่อมีคำพิพากษาใหม่

Share