แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยขับรถยนต์ไปหาผู้เสียหายที่บริษัทซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษมพร้อมทั้งพาอาวุธปืนติดตัวไปด้วยและโจทก์มีพนักงานสอบสวนเบิกความว่าจำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนมาแสดงการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวแต่โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางและไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าอาวุธปืนที่จำเลยพาติดตัวไปนั้นเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนที่จำเลยพาติดตัวไปนั้นเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีตามกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,309, 371, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 309 วรรคสอง, 371, 80, 91 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคแรก, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองเรียงกระทงลงโทษฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจำคุก 6 เดือน ปรับ 7,000 บาท ฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ อันเป็นบทหนักจำคุก 6 เดือน ปรับ 7,000 บาท ฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธปืน จำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท รวมจำคุก 20 เดือนปรับ 20,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในห้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 16 เดือน ปรับ 16,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรรอการลงโทษจำคุกไว้มีกำหนด 3 ปีกับให้คุมความประพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 4 เดือนต่อครั้งเป็นเวลา 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในเวลา 1 ปีหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เกี่ยวกับข้อหามีและพาอาวุธปืนโดยไม่รับอนุญาต ลงโทษจำเลยฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธปืน จำคุก 6 เดือน ปรับ 6,000 บาทลดโทษให้จำเลยหนึ่งในหกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก5 เดือน ปรับ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ให้คุมความปรพฤติของจำเลยโดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า เชื่อได้ว่าผู้เสียหายถูกจำเลยใช้อาวุธปืนตบทำร้าย และร้อยตำรวจเอกประพันธ์ ภวังคนันท์พยานโจทก์อีกปากหนึ่งซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนเบิกความว่า จำเลยไม่มีใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนมาแสดง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยขับรถยนต์ไปหาผู้เสียหายที่บริษัทรวมชัยมัลติเทรด จำกัดซึ่งตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม พร้อมทั้งพาอาวุธปืนติดตัวไปด้วยโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัว แต่โจทก์ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางและไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า อาวุธปืนที่จำเลยพาติดตัวไปนั้นเป็นอาวุธปืนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าอาวุธปืนที่จำเลยพาติดตัวไปนั้นเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นซึ่งได้รับอนุญาตให้มีตามกฎหมาย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ลงโทษจำคุก 6 เดือน และปรับ6,000 บาท และมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืนวัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสองและประมวลกฎหมายอาญามาตรา 371 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 จำคุก 4 เดือน และปรับ 4,000 บาท รวม 2 กระทง ลงโทษจำคุก 10 เดือน และปรับ 10,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้างลดโทษให้หนึ่งในห้า ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน และปรับ 8,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานพยายามข่มขืนใจผู้อื่นโดยมีอาวุธปืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3แล้ว ลงโทษจำคุก 13 เดือน และปรับ 13,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 3 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติมีกำหนด 4 เดือนต่อครั้ง เป็นเวลา 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในเวลา 1 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30