คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2692/2553

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน หรือยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้ ศ. กับพวกฆ่าโจทก์ร่วม โดย ศ. กับพวกได้รับเงินค่าจ้างส่วนหนึ่งพร้อมภาพถ่ายของโจทก์ร่วม ก็แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความประสงค์ที่จะให้ ศ. ตัดสินใจกระทำความผิดฐานฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายถึงเจตนาของผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดเป็นสำคัญ เมื่อผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดได้ลงมือกระทำด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้าง วาน ยุยงส่งเสริม หรือด้วยวิธีอื่นใด ต่อผู้ถูกใช้แล้ว ไม่ว่าผู้ถูกใช้จะตกลงใจกระทำความผิดตามที่ถูกใช้หรือไม่ ผู้ใช้ก็มีความผิด ดังจะเห็นได้จากที่ ป.อ. มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนเป็นตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” เช่นนี้ เมื่อ ศ. ผู้ถูกใช้ให้ฆ่าโจทก์ร่วมไม่ยอมกระทำความผิดตามที่ถูกใช้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะ ศ. ไม่มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อนหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็มีความผิด ตาม ป.อ. มาตรา 84 วรรคแรก และวรรคสองตอนท้าย ประกอบมาตรา 289 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 84,289
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นายปัณณทัต ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคแรก และวรรคสองตอนท้าย (ที่ถูก มาตรา 84 วรรคแรกและวรรคสองตอนท้ายประกอบมาตรา 289 (4)), 52 (1), 53 จำคุก 25 ปี คำรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 16 ปี 8 เดือน ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 84 วรรคแรก และวรรรคสองตอนท้าย (ที่ถูก มาตรา 84 วรรคแรกและวรรคสองตอนท้าย ประกอบมาตรา 289 (4)), 52 (1), 53 จำคุก 25 ปี คำรับสารภาพชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 16 ปี 8 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งจำเลยที่ 2 ฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาแล้วว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างให้นายศุภาไชยกับพวกฆ่าโจทก์ร่วมตกลงให้ค่าจ้าง 80,000 บาท โดยจำเลยที่ 2 ส่งมอบเงินให้แก่นายศุภาไชยกับพวกไป 40,000 บาท ก่อน และมอบภาพถ่ายของโจทก์ร่วมให้ด้วย ต่อมานายศุภาไชยไม่ยอมกระทำความผิดฆ่าโจทก์ร่วมและนำเรื่องไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจวางแผนจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ต้องเป็นการกระทำอันเป็นเหตุให้ผู้อื่นตกลงใจกระทำความผิด หากผู้อื่นหรือผู้ถูกใช้ไม่ตกลงใจกระทำความผิด ผู้กระทำการนั้นยังไม่เป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่านายศุภาไชยไม่มีเจตนาที่จะฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อนและหลังจากที่มีการใช้แล้วนายศุภาไชยไม่คิดฆ่าโจทก์ร่วมจริงจัง การกระทำของจำเลยที่ 2 ไม่เป็นการก่อให้นายศุภาไชยกระทำความผิดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคแรก บัญญัติว่า “ผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดไม่ว่าด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวานหรือยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใด ผู้นั้นเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิด” ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ว่าจ้างให้นายศุภาไชยกับพวกฆ่าโจทก์ร่วมโดยนายศุภาไชยกับพวกได้รับเงินค่าจ้างส่วนหนึ่งพร้อมภาพถ่ายของโจทก์ร่วมก็แสดงว่าจำเลยที่ 2 มีความประสงค์ที่จะให้นายศุภาไชยตัดสินใจกระทำความผิดฐานฆ่าโจทก์ร่วมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อันเป็นการก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดแล้ว เนื่องจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายถึงเจตนาของผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดเป็นสำคัญ เมื่อผู้ก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดได้ลงมือกระทำด้วยการใช้ บังคับ ขู่เข็ญ จ้างวาน ยุยงส่งเสริมหรือด้วยวิธีอื่นใดต่อผู้ถูกใช้แล้ว ไม่ว่าผู้ถูกใช้จะตกลงใจกระทำความผิดตามที่ถูกใช้หรือไม่ ผู้ใช้ก็มีความผิด ดังจะเห็นได้จากที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าผู้ถูกใช้ได้กระทำความผิดนั้น ผู้ใช้ต้องรับโทษเสมือนตัวการ ถ้าความผิดมิได้กระทำลง ไม่ว่าจะเป็นเพราะผู้ถูกใช้ไม่ยอมกระทำ ยังไม่ได้กระทำหรือเหตุอื่นใด ผู้ใช้ต้องระวางโทษเพียงหนึ่งในสามของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น” เช่นนี้เมื่อนายศุภาไชยผู้ถูกใช้ให้ฆ่าโจทก์ร่วมไม่ยอมกระทำความผิดตามที่ถูกใช้ไม่ว่าเพราะนายศุภาไชยไม่มีเจตนาฆ่าโจทก์ร่วมมาก่อนหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 วรรคแรกและวรรคสองตอนท้าย ประกอบมาตรา 289 (4)…
พิพากษายืน

Share