แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2521 ซึ่งใช้บังคับขณะมีข้อพิพาท ไม่ได้ให้ความหมายของคำว่า เครื่องจักรไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถือตามความหมายธรรมดาซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายไว้ว่า เป็นกลอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามคำเบิกความของพยานจำเลยไม่ปรากฏว่าคอนเดนเซอร์ประกอบขึ้นด้วยกลอุปกรณ์ใด และสามารถผลิตสิ่งใดได้บ้าง ไม่ปรากฏว่าเป็นเครื่องเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิต คอนเดนเซอร์จึงมิใช่เครื่องจักรตามพิกัดประเภทที่ 84.17ก. แต่เป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศตามพิกัดประเภทที่ 84.15ข. จำเลยยื่นคำขอและเสียภาษีภายในเวลาที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529มาตรา 30 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ได้ระบุในใบเสร็จว่า ประเภทอื่น ๆโดยมิได้ระบุเฉพาะลงไปว่าเป็นภาษีประเภทใด เมื่อจำเลยระบุในคำขอว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากกิจการทำการค้า การที่จำเลยเสียภาษีอากรดังกล่าว ย่อมรวมถึงภาษีการค้าด้วย จำเลยย่อมได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าคอนเดนเซอร์ จากประเทศญี่ปุ่นจำนวน 3 ครั้ง โดยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้า สำแดงชนิดของสินค้าว่า เป็นอุปกรณ์ของปรับอากาศ สำแดงพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. อัตราอากรร้อยละ 30เจ้าพนักงานศุลกากรเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 เข้าใจว่าพิกัดอัตราดังกล่าวถูกต้องจึงให้จำเลยที่ 1 ชำระอากรขาเข้า ภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาล แล้วปล่อยสินค้าดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 รับไปจากอารักขาของโจทก์ที่ 1 ต่อมาโจทก์ที่ 1 พบว่าสินค้าดังกล่าวมิได้อยู่ในพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. แต่อยู่ในประเภทที่ 84.15 ข.ต้องเสียภาษีในอัตราร้อยละ 80 จำเลยที่ 1 ต้องชำระภาษีเพิ่มเติมให้ครบถ้วน รวมทั้งเงินเพิ่มภาษีอีกเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 396,755.58บาท ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินดังกล่าวต่อโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สินค้าคอนเดนเซอร์เป็นสินค้าประเภทเครื่องจักรการสำแดงพิกัดและการชำระภาษีศุลกากร ภาษีการค้า และภาษีบำรุงเทศบาลของจำเลยที่ 1 ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยได้ยื่นคำขออภัยโทษภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลไว้ต่อกรมสรรพากร (จำเลยที่ 2) ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์ทั้งสองจะฟ้องคดีนี้ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 396,755.58 บาท ให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคอนเดนเซอร์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเครื่องปรับอากาศ ส่วนในใบขนสินค้าและแบบแสดงรายการการค้า จำเลยได้สำแดงว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศรถยนต์ ก็มิใช่จะให้รับฟังว่าคอนเดนเซอร์เป็นอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศตามที่จำเลยสำแดง ต้องถือตามสภาพที่เป็นจริงและที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่าคอนเดนเซอร์เป็นเครื่องจักรนั้นตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2521 หาได้ให้ความหมายของคำว่าเครื่องจักรไว้เป็นพิเศษ จึงต้องถือตามความหมายธรรมดา ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ ความหมายไว้ว่ากลอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ประกอบกันขึ้นเป็นเครื่องเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ตามคำเบิกความของพยานจำเลยไม่ปรากฏว่าคอนเดนเซอร์ เป็นเครื่องที่ประกอบขึ้นโดยกลอุปกรณ์อะไร และสามารถผลิตสิ่งใดได้บ้าง การที่จำเลยอุทธรณ์ว่า คอนเดนเซอร์เป็นตัวระบายความร้อน ก็ไม่ปรากฏว่าจะเป็นเครื่องเพื่อใช้ประโยชน์ในการผลิตคอนเดนเซอร์จึงมิใช่เป็นเครื่องจักรที่จะนำไปผลิตอะไรขึ้นมาได้ตามลำพัง หากต้องนำไปประกอบกับส่วนประกอบอื่น ๆ อีก จึงจะสามารถทำงานเป็นเครื่องปรับอากาศได้ คอนเดนเซอร์จึงมีลักษณะเป็นส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศยิ่งกว่าเป็นเครื่องจักรในตัวมันเองตามพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2521 ได้กำหนดพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. ว่าเป็นเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ ส่วนพิกัดประเภทที่ 84.17 ก. หาได้กล่าวถึงส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศไว้แต่อย่างใดไม่ เมื่อจำเลยนำคอนเดนเซอร์เข้าประกอบเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องปรับอากาศที่ติดรถยนต์ จึงเป็นการใช้ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศตามพิกัดประเภทที่ 84.15 ข. ไม่ใช่พิกัดประเภทที่ 84.17 ก. ดังที่จำเลยอุทธรณ์จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระภาษีอากรขาเข้า 3 บาท แก่โจทก์
อุทธรณ์ประการสุดท้ายที่ว่า จำเลยได้รับสิทธิประโยชน์ไม่ต้องถูกประเมินให้เสียภาษีการค้า และภาษีเทศบาลหรือไม่ จำเลยอ้างว่าได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 เห็นว่าจำเลยมีหลักฐานการยื่นคำขอ แบะใบเสร็จรับเงินภาษีจากสรรพากร เอกสารหมาย ล.1 มาแสดงว่าได้ยื่นคำขอและเสียภาษีอากรในวันที่ 30 ก รกฏาคม 2529 โจทก์มิได้นำสืบเกี่ยวกับการยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามมาตรา 30 ของจำเลยแต่อย่างใด จึงรับฟังได้ว่าจำเลยได้ยื่นคำขอและเสียภาษีไว้ตามเอกสารหมาย ล.1 จริง ตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดว่าผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรผู้ใดซึ่งยังมิได้เสียภาษีอากร หรือเสียไว้ไม่ถูกต้องตามความจริงหรือไม่บริบูรณ์ได้ยื่นคำขอเสียภาษีอากรตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเดือนก รกฏาคม พ.ศ. 2529 และได้ชำระภาษีอากรตามจำนวนที่ต้องเสียตามมาตรานี้ ให้ได้รับยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าวโดยยื่นคำขอเสียภาษีอากรภายในกำหนดตามแบบของกรมสรรพากร โดยระบุรายได้ส่วนใหญ่มาจากกิจการทำการค้าสินค้าเครื่องปรับอากาศทุกชนิด ทำการค้าวัสดุและอุปกรณ์สำหรับรถยนต์ฯลฯ และได้เสียภาษีอากรตามอัตราที่มาตรา 30 กำหนดไว้แม้ในใบเสร็จจะมิได้ระบุว่า ประเภทภาษีอากรเป็นภาษีการค้า แต่ได้ระบุประเภทอื่น ๆ โดยมิได้ระบุเฉพาะลงไปว่าอื่น ๆ เป็นภาษีประเภทใด ก็เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ระบุเองในใบเสร็จเมื่อจำเลยระบุรายได้ในคำขอว่าส่วนใหญ่มาจากกิจการทำการค้า ทั้งมาตรา 30 กล่าวถึงภาษีอากรในประมวลรัษฏากร การที่จำเลยเสียภาษีอากรดังกล่าวย่อมรวมถึงภาษีการค้าด้วย จำเลยย่อมได้รับสิทธิยกเว้นจากการเรียกตรวจสอบไต่สวน ประเมินหรือสั่งให้เสียภาษีอากร ตามประมวลรัษฎากรสำหรับเงินได้หรือรายรับของจำเลย และปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1ได้สั่งให้จำเลยเสียภาษีอากรเพิ่มในปี พ.ศ. 2530 ขณะ นั้นจำเลยได้ปฏิบัติตามมาตรา 30 แห่งพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร(ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2529 ไปเรียบร้อยแล้ว จำเลยย่อมได้รับประโยชน์โดยได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีการค้า และรวมถึงภาษีบำรุงเทศบาลด้วย จำเลยทั้งสองจึงคงรับผิดเฉพาะอากรขาเข้าแก่โจทก์เป็นเงิน366,406.22 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องของโจทก์ทั้งสองในส่วนที่ขอให้จำเลยทั้งสองชำระภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลพร้อมทั้งเงินเพิ่มจำนวน 30,349.36 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.