คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1849/2533

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ว่า คดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2 ทำละเมิดตามทางการที่จ้างต่อโจทก์นั้น มิใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างลูกจ้างอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลาง ดังนี้ คำวินิจฉัยดังกล่าวย่อมเป็นที่สุด ตามพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522มาตรา 9 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นแพทย์ประจำและเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตรวจรักษาและจ่ายยาให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2529 โจทก์มีอาการเคืองตาจึงไปให้จำเลยที่ 1 ตรวจรักษา จำเลยที่ 1 ตรวจตาของโจทก์แล้วจ่ายยาให้โจทก์ เมื่อโจทก์รับประทานยาเม็ดของจำเลยที่ 1ก็มีอาการคันผื่นขึ้นตามตัวต่อมาตาทั้งสองข้างมีน้ำตาไหลตลอดเวลาจนลืมตาไม่ได้ แพทย์ที่โรงพยาบาลโพลีคลีนิคและที่โรงพยาบาลเมโยลงความเห็นว่า โจทก์แพ้ยาแอมพิซิลีน การกระทำของจำเลยที่ 1เป็นการประมาทเลินเล่อสั่งจ่ายยาแอมพิซิลีนโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยานี้ เป็นผลทำให้โจทก์ตาบอดทั้งสองข้าง ไม่สามารถมองเห็นได้เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2531 จำเลยที่ 2 มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์สูญเสียสมรรถภาพในการมองเห็นเกือบทั้งสิ้น ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อผลละเมิดของจำเลยที่ 1 และการเลิกจ้างดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม โจทก์ตกเป็นผู้ยากไร้ขาดรายได้โจทก์ขอคิดค่าเสียหาย 3 ล้านบาท ในระหว่างที่โจทก์หยุดงานเพื่อรักษาความเจ็บป่วยนั้น จำเลยที่ 2 กลับหักเงินค่าจ้างในวันหยุดของโจทก์เป็นเงิน 18,748 บาท คิดดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,983.95 บาทขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้โจทก์รวม 3,022,731.95 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 คงรับฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ให้การว่าจำเลยที่ 1 ได้ตรวจรักษาตามหลักวิชาการแพทย์ด้วยความถูกต้องและระมัดระวังอย่างผู้ประกอบวิชาชีพ จำเลยที่ 1 มิได้กระทำการใด ๆอันถือว่าเป็นความประมาทแต่อย่างใด โจทก์ป่วยไม่สามารถปฏิบัติงานตามหน้าที่ให้แก่จำเลยที่ 2 ได้อีกต่อไป จำเลยที่ 2 จึงเลิกจ้างโจทก์โดยให้โจทก์ได้รับค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเงินบำเหน็จไปแล้ว จึงไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยที่ 2 มีสิทธิหักค่าจ้างตามฟ้องได้ตามระเบียบข้อบังคับโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยขอให้ยกฟ้องศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับค่าเสียหาย 3,000,000 บาท ในส่วนซึ่งเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานตามคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 64/2531 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2531 การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 ไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมและจำเลยที่ 2 ได้หักเงินเดือนของโจทก์ในวันลาป่วยถูกต้องตามระเบียบแล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและเงินเดือนที่ถูกหักไว้จากจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับสิทธิอุทธรณ์ว่า”อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางที่ 64/2531 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2531 วินิจฉัยว่าโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 2 ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์รวม 2จำนวน จำนวนแรกเป็นเงิน 3,000,000 บาท เนื่องจากจำเลยที่ 1ทำละเมิดตามทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์นั้น ไม่ใช่คดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันจะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน คำวินิจฉัยดังกล่าวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติไว้ด้วยว่าคำวินิจฉัยของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางให้เป็นที่สุด โจทก์จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
โจทก์อุทธรณ์ข้อต่อไปว่า ศาลแรงงานกลางฟังว่าอาการเจ็บป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เท่ากับว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดหรือเกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 2 ด้วย เมื่อจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะเหตุนี้จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่าตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยเรื่องนี้ไว้ว่า ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงยุติว่าจำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ป่วยและตาบอดไม่สามารถทำงานได้ การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุ แม้อาการป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 เมื่ออาการป่วยของโจทก์ถึงขนาดไม่สามารถปฏิบัติงานได้ จำเลยที่ 2 ก็เลิกจ้างได้การเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมคำวินิจฉัยดังกล่าวจะแปลความได้หรือไม่ว่าศาลแรงงานกลางฟังว่าอาการเจ็บป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์กล่าวอ้างในอุทธรณ์ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 โดยกล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเป็นแพทย์ประจำกองแพทย์ฝ่ายช่างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ตรวจรักษาตาของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ตาบอด ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายฐานละเมิดต่อโจทก์จำนวน 3,000,000 บาท ศาลแรงงานกลางสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 1 ส่วนคำฟ้องที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 ในคดีนี้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่า กรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 2 ฐานละเมิดดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน ศาลแรงงานกลางก็ได้มีคำวินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้อ 1 ไม่รับวินิจฉัยข้อหานี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าอาการป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่แม้ศาลแรงงานกลางได้มีกล่าวไว้ในคำพิพากษาว่า “แม้อาการป่วยและตาบอดของโจทก์เกิดขึ้นเพราะความผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 2 “ถ้อยคำดังกล่าวก็อยู่นอกประเด็นข้อพิพาทอุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่าการเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเนื่องจากโจทก์ตาบอดเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จึงฟังไม่ขึ้น ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหายและดอกเบี้ยตามที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไป”
พิพากษายืน

Share