คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 55/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม คือความผิดฐานชักจูง ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 78 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแม้ความผิดดังกล่าวจะแยกเป็นแต่ละกรรมต่างกันและความผิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวก็ตาม แต่จำเลยก็กระทำความผิดคนเดียวและเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 24 (1) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พร้อมกับความผิดทั้งสองฐานต่อศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้ กรณีจึงไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 5

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จำเลยตั้งสถานบริการที่มีอาหาร สุรา และเครื่องดื่มอย่างอื่นจำหน่ายโดยยินยอมให้มีการเต้นบริเวณโต๊ะอาหาร เพื่อให้บริการโดยหวังประโยชน์ในทางการค้า และไม่ได้รับใบอนุญาตแล้วชักจูง ส่งเสริม ยินยอมให้เด็กหญิง ช. และเด็กหญิง ส. อายุ 14 ปีเศษ ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส ประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด กับให้เข้าไปในสถานบริการดังกล่าวที่แสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการพัฒนาการของเด็ก โดยเด็กนั้นยินยอมและขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่เด็กทั้งสองซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ เหตุเกิดที่ตำบลเหนือเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมยึดใบเสร็จรับเงินค่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 4, 5, 22, 26, 78 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 3 (4) (ค), 4, 26 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 (1), 40 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลาง
ชั้นตรวจฟ้อง ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดมีคำสั่งให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติสถานบริการ และความผิดต่อพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ไม่ประทับฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก ให้เหตุผลว่าศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีคือศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 29 (1), 40 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 20,000 บาท ฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ปรับ 3,000 บาท รวมปรับ 23,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 11,500 บาท หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า ในกรณีที่ศาลชั้นต้นพบปัญหาว่าคดีจะอยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้นจะต้องขอให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดและรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคสอง แต่คดีนี้เมื่อศาลชั้นต้นพบปัญหาดังกล่าวในชั้นตรวจฟ้องซึ่งเป็นเวลาก่อนมีคำพิพากษา กลับมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องด้วยเรื่องอำนาจศาลเสียเองและยังพิจารณาพิพากษาคดีต่อไปด้วย จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็เห็นจำเป็นที่จะต้องย้อนสำนวนไปยังศาลชั้นต้น เนื่องจากศาลชั้นต้นไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกระบวนพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 208 (2) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 จึงยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่ประทับฟ้องในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก และยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนไปให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดว่าศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก คือศาลใด จากนั้นให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแล้วพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลจังหวัดร้อยเอ็ดส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11
วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม คือความผิดฐานชักจูง ส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 78 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และฐานขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งแม้ความผิดดังกล่าวจะแยกเป็นแต่ละกรรมต่างกัน และความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กฯ จะอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวก็ตาม แต่จำเลยก็กระทำความผิดคนเดียวและเป็นความผิดเกี่ยวพันกัน จึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันซึ่งโจทก์จะฟ้องคดีทุกเรื่องต่อศาลที่มีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าก็ได้ตามบทบัญญัติมาตรา 24 (1) วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พร้อมกับความผิดทั้งสองฐานต่อศาลจังหวัดร้อยเอ็ดได้ กรณีจึงไม่ใช่การพิจารณาพิพากษาคดีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546
วินิจฉัยว่า ความผิดต่อพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ตามคำฟ้องไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 3 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2558

วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา

Share