คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8014/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

บิดาโจทก์ทั้งห้าอุทิศที่ดินพิพาทให้ขุดเป็นสระน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพียงแต่แสดงเจตนาอุทิศให้ก็ใช้ได้ แม้ต่อมาสระน้ำจะตื้นเขินจนไม่ได้ใช้ประโยชน์และมีการถมสระน้ำปลูกสร้างร้านค้าชนบทกับทำสนามเด็กเล่นที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม โดยหาได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่นไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีก ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทออกไป พร้อมส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งห้าในสภาพเรียบร้อย
จำเลยทั้งสี่ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ที่ 1 ถึงแก่กรรม นายมัดยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
โจทก์ทั้งห้าอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหรือแทนกันรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทและส่งมอบที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งห้าในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสี่และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยทั้งสี่และบริวารเข้าเกี่ยวข้องในที่ดินพิพาทอีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 234 หมู่ที่ 10 ตำบลสวาย อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งนายโลนหรือล้วน บิดาของโจทก์ทั้งห้าเป็นผู้แจ้งการครอบครองไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 เดิมที่ดินพิพาทเป็นสระน้ำ ต่อมามีการถมสระน้ำปลูกสร้างร้านค้าของสหกรณ์หมู่บ้านขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ว่า นายโลนบิดาโจทก์ทั้งห้าได้อุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันหรือไม่ ปัญหานี้จำเลยทั้งสี่นำสืบโดยมีจำเลยที่ 1 เบิกความยืนยันว่า เมื่อปี 2518 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขอที่ดินพิพาทจากนายโลนขุดสระน้ำสาธารณะเพื่อใช้ในหมู่บ้าน นายโลนตกลงยกให้ด้วยวาจา จึงมีการขุดสระน้ำขึ้นโดยนายบิน กำนันตำบลสวายในขณะนั้นซึ่งมีอาชีพรับเหมาก่อสร้างได้นำรถแทรกเตอร์มาขุดสระและทำขอบสระน้ำมีชาวบ้านมาช่วยแล้วแบ่งขอบสระน้ำให้ชาวบ้านปลูกผักได้เพียง 3 ปี เพราะสระน้ำตื้นเขิน กระทั่งวันที่ 3 มีนาคม 2540 กรรมการหมู่บ้านจึงประชุมกันแล้วลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถมสระน้ำดังกล่าวมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้ทำบันทึกรายงานการประชุมเอกสารหมาย ล.1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาท แต่เข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทเพราะเป็นผู้หาที่ดินสร้างแหล่งน้ำให้ชาวบ้านได้ใช้ ซึ่งโจทก์ทั้งห้ารับว่าเดิมที่ดินพิพาทเป็นสระน้ำขุดขึ้นเมื่อประมาณปี 2518-2519 ขณะบิดาของโจทก์ทั้งห้ายังมีชีวิตอยู่ เมื่อพิจารณาตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย จ.9 ที่ดินตาม ส.ค. 1 ของนายโลน มีเนื้อที่ทั้งหมดเพียง 3 ไร่ 3 งาน 89 ตารางวา แต่สระน้ำที่ขุดรวมถึงขอบสระน้ำมีเนื้อที่ 3 งาน 67 ตารางวา หรือประมาณ 1 ใน 4 ของที่ดิน เป็นสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์ไม่น่าเชื่อว่านายโลนจะขุดขึ้นใช้ประโยชน์ส่วนตัวเพียงเพื่อปลูกผักอย่างเดียวแม้โจทก์ทั้งห้ามีนายบินผู้ขุดสระน้ำมาเบิกความอ้างว่ารับจ้างนายโลนขุดในราคา 8,000 บาท ก็ไม่สมเหตุผล เพราะค่าจ้างจำนวนดังกล่าวในสมัยนั้นนับว่าสูงมากเกินความจำเป็นที่จะต้องจ่าย ทั้งไม่ปรากฏว่านายโลนและโจทก์ทั้งห้าจะได้ขุดลอกสระน้ำเพื่อใช้ประโยชน์แต่อย่างใดโดยปล่อยให้ตื้นเขินผิดวิสัยของผู้เป็นเจ้าของที่จะต้องรักษาดูแลตลอดเวลา คำเบิกความของจำเลยที่ 1 จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าคำเบิกความของนายบิน ประกอบกับนายถัง พยานโจทก์เบิกความรับว่า เมื่อปี 2519 หมู่บ้านได้รับเงินผันจากทางราชการรูปคดีจึงน่าเชื่อถือว่า อาจมีการนำเงินดังกล่าวมาสนับสนุนการขุดสระน้ำในที่ดินพิพาทก็เป็นได้ ประกอบกับมีการประชุมคณะกรรมการหมู่บ้านขึ้น เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 ตามเอกสารหมาย ล.1 โดยนายพนัด ผู้ใหญ่บ้านประธานในที่ประชุมแจ้งเรื่องการขอมติถมสระน้ำสาธารณะประโยชน์เพื่อสร้างอาคารร้านค้าระบุชัดว่า นายโลนได้ยกที่ดินพิพาทให้ขุดเป็นสระน้ำตั้งแต่ปี 2519 แต่ภายหลังสระน้ำเกิดตื้นเขินเพราะไม่มีการขุดลอกทำให้ใช้ประโยชน์ไม่ได้ คณะกรรมการจึงเห็นควรถมสระน้ำเพื่อสร้างอาคารร้านค้าชนบท สร้างสนามกีฬาและสนามเด็กเล่น ปรากฏว่าสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม 58 คน ในจำนวนสมาชิกทั้งหมด 60 คน ลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ถมสระน้ำดังกล่าว โจทก์ที่ 5 ซึ่งเป็นสมาชิกและเข้าร่วมได้ลงลายมือชื่อไว้ลำดับที่ 24 ตามเอกสารหมาย ล.2 เท่ากับโจทก์ที่ 5 ยอมรับว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินแล้ว และแม้จำเลยทั้งสี่จะมิได้นำเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 มาถามค้านโจทก์ที่ 5 หรือมิได้นำผู้ลงลายมือชื่อคนอื่นมาเบิกความรับรองว่ามีการประชุมจริงก็ไม่ทำให้น้ำหนักพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่เสียไป เพราะโจทก์ทั้งห้ามิได้ปฏิเสธความถูกต้องของเอกสารหมาย ล.1 และ ล.2 โจทก์ที่ 5 เพียงเบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านว่า จำไม่ได้ว่าเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2540 นายพนัด ผู้ใหญ่บ้านจะเรียกประชุมชาวบ้านเกี่ยวกับสระน้ำสาธารณะที่ตื้นเขินแล้วลงมติให้ถมสระน้ำ เพื่อสร้างอาคารร้านค้าและสนามเด็กเล่นเท่านั้น ส่วนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับที่ดินของบิดาเพราะแต่งงานแยกไปอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ก่อนมีการขุดสระน้ำ ทั้งหากนายโลนมิได้ยกที่ดินพิพาทให้เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ก็ไม่มีเหตุใดที่จำเลยทั้งสี่จะต้องร่วมกับผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านนำดินมาถมสร้างเป็นร้านค้าและสนามเด็กเล่นเพื่อประโยชน์ของชาวบ้านในหมู่บ้าน และนายพนัดผู้ใหญ่บ้านคงไม่จำต้องทำหนังสือคัดค้านการรังวัดที่ดิน ส.ค.1 ตามเอกสารหมาย จ.2 ของโจทก์ทั้งห้าต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดสุรินทร์และนายอำเภอเมืองสุรินทร์ ตามเอกสารหมาย ล.3 และ ล.4 โดยนางพวงรัตน์ พยานโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามค้านรับว่า ขณะมีการรังวัดที่ดิน ส.ค.1 ของนายโลนนั้น นายพนัดผู้ใหญ่บ้านได้นำชาวบ้านมาคัดค้านจริง ที่โจทก์ทั้งห้านำสืบว่านายโลนและโจทก์ที่ 5 ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดิน ส.ค. 1 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ทุกปี ก็ไม่ใช่หลักฐานที่แสดงว่าโจทก์ทั้งห้าเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่มีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานโจทก์ทั้งห้า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อปี 2518 นายโลนหรือล้วน บิดาโจทก์ทั้งห้าอุทิศที่ดินพิพาทให้ขุดเป็นสระน้ำประจำหมู่บ้านเพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกัน ที่ดินพิพาทจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304 (2) โดยไม่จำต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือเพียงแต่แสดงเจตนาอุทิศให้ก็ใช้ได้ และแม้ต่อมาสระน้ำดังกล่าวจะตื้นเขินจนชาวบ้านไม่ได้ใช้ประโยชน์ภายหลังจึงมีการถมสระน้ำปลูกสร้างร้านค้าชนบทซึ่งมีชาวบ้านเป็นสมาชิกและทำสนามเด็กเล่น ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ตามเดิม หาได้เปลี่ยนสภาพไปเป็นอย่างอื่นไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสี่ฟังขึ้น”
พิพากษากลับว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share