คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 778/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้พนักงานอัยการจะได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ และ ส.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ ๑๕๗ และศาลพิพากษาลงโทษ ส. แต่ยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ก็ตาม เมื่อโจทก์ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากมูลกรณีรถชนกัน และในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบกโจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่มีอำนาจฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ พนักงานอัยการจึงไม่อยู่ในฐานะฟ้องคดีอาญาแทนโจทก์ ผลแห่งคำพิพากษาคดีอาญาจึงไม่ผูกพันโจทก์ซึ่งฟ้องคดีแพ่งว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ขับรถยนต์ในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถยนต์ของโจทก์ที่ ส. ลูกจ้างโจทก์เป็นผู้ขับ เพราะโจทก์ไม่ใช่คู่ความรายเดียวกัน จึงต้องฟังข้อเท็จจริงในคดีแพ่งใหม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ ๒ ขับรถในทางการที่จ้างโดยประมาทชนรถของโจทก์ที่ ส.ลูกจ้างโจทก์ขับทำให้รถโจทก์เสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ส. เป็นฝ่ายประมาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นงดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาและพิพากษาใหม่
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความว่าพนักงานอัยการฟ้อง ส. ลูกจ้างโจทก์และจำเลยที่ ๑ เป็นจำเลยฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสและรถยนต์ทั้งสองคันเสียหายขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๐ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ ส. ให้การรับสารภาพศาลพิพากษาว่า ส. มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐ ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ ๑ คดีถึงที่สุด ในปัญหาที่ว่า ส. ลูกจ้างโจทก์ถูกศาลพิพากษาว่าขับรถยนต์โดยประมาท ศาลจำต้องถือเอาข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีอาญานั้นมาใช้ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งนี้หรือไม่ เห็นว่า โจทก์คดีนี้ไม่ใช่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากมูลกรณีรถชนกัน และคดีที่เกี่ยวกับการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก โจทก์ก็ไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องหรือขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ พนักงานอัยการจึงไม่อยู่ในฐานะฟ้องความแทนโจทก์ในคดีอาญาดังกล่าว ผลแห่งคำพิพากษาคดีอาญาดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ใช่คู่ความรายเดียวกันจึงต้องพิจารณาฟังข้อเท็จจริงในคดีนี้ใหม่
พิพากษายืน.

Share