คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 807/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ขาดว่าจำเลยจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ไม่ครบเพราะไม่นำค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้มารวมเป็นฐานคำนวณบำเหน็จด้วย ขอให้จ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดตามจำนวนที่เรียกร้องดังนี้ เป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับพอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้วจึงไม่เคลือบคลุม
ในสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณบำเหน็จเมื่อจำเลยไม่นำมารวมคำนวณจำเลยจึงจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ขาดไปเท่ากับค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่โจทก์ทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่มีในสำนวน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 243(2)ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานฯ มาตรา 31 ศาลฎีกาต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อไป.

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องเป็นใจความเดียวกันว่าจำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้าเป็นลูกจ้างประจำ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 7,610บาท 6,570 บาท 8,160 บาท 5,640 บาท และ 2,560 บาท ตามลำดับกับโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ได้รับค่าครองชีพอีกเดือนละ 300 บาท300 บาท และ 400 บาท ตามลำดับ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2531 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งห้าเพราะเหตุเกษียณอายุโดยไม่จ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งห้ามีอายุการทำงาน 22 ปี 7 เดือน 12 ปี 4 เดือน 22 ปี 7 เดือน12 ปี 7 เดือน และ 5 ปี ตามลำดับ และจำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่ครบเนื่องจากไม่นำค่าครองชีพดังกล่าวมารวมคำนวณด้วย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าเป็นเงิน 45,660 บาท 41,220 บาท 48,960 บาท 35,640 บาท และ 17,720 บาทตามลำดับ กับบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 จำนวน 3,600บาท 3,900 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การว่า โจทก์ทุกคนพ้นจากตำแหน่งและออกจากงาน โดยผลของพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 ซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่หน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจจะต้องปฏิบัติตาม ทั้งโจทก์ก็ทราบดีตั้งแต่แรกเข้าทำงานว่าวันครบกำหนดเกษียณอายุเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้าง และการที่โจทก์ต้องพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุ เป็นการสิ้นสุดสัญญาจ้างโดยข้อตกลงของโจทก์และจำเลยทั้งสองฝ่าย นอกจากนี้ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 21 มิถุนายน 2521ได้ให้คำนิยามว่า การเลิกจ้างให้รวมถึงกรณีลูกจ้างต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามกฎหมาย แต่ต่อมาได้ตัดข้อความดังกล่าวออก จึงต้องแปลความว่า การเกษียณอายุไม่ใช่การเลิกจ้าง ดังนั้นการที่จำเลยให้โจทก์ออกจากงานเนื่องจากเกษียณอายุจึงไม่ใช่การเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนค่าครองชีพเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้เป็นสวัสดิการแก่พนักงานผู้มีรายได้น้อย และจำเลยเพิ่งจ่ายค่าครองชีพในปี 2521ได้มีการเพิ่มลดตลอดเวลา จึงเป็นรายได้ที่ไม่แน่นอน และจะงดจ่ายตั้งแต่ปี 2532 ตลอดไป ทั้งไม่ได้จ่ายให้แก่โจทก์ทุกคนค่าครองชีพจึงไม่ใช่ค่าจ้าง หรือเงินเดือนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง การคุ้มครองแรงงาน โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จะนำค่าครองชีพมารวมกับเงินเดือนเพื่อใช้เป็นฐานคำนวณค่าชดเชยไม่ได้ก่อนฟ้องโจทก์ไม่เคยทวงถามค่าชดเชยและบำเหน็จจากจำเลย จำเลยจึงยังไม่ผิดนัด ไม่ต้องชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ฟ้องของโจทก์ที่ 2ที่ 4 และที่ 5 เรื่องบำเหน็จเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวันเวลาทำงานอัตราค่าจ้างของโจทก์ตามฟ้อง และระเบียบเกี่ยวกับการจ่ายเงินต่าง ๆท้ายคำให้การมีผลใช้บังคับ ศาลแรงงานกลางเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงให้งดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าจำนวน 45,660 บาท 41,220 บาท 48,960 บาท 35,640 บาท และ17,760 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดแก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 ที่ 5 จำนวน 3,600 บาท 3,900 บาท และ2,000 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “…จำเลยอุทธรณ์ข้อสามว่าฟ้องโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในเรื่องบำเหน็จส่วนที่ขาดเคลือบคลุมเพราะไม่บรรยายให้ชัดว่าโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อบังคับอะไรจากจำเลย เหตุใดต้องนำค่าครองชีพมารวมคำนวณบำเหน็จและหลักเกณฑ์การคำนวณบำเหน็จเป็นอย่างไร ทำให้จำเลยหลงข้อต่อสู้พิเคราะห์แล้ว โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 บรรยายฟ้องว่า จำเลยจ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์ไม่ครบ เพราะไม่นำค่าครองชีพที่จำเลยจ่ายให้เดือนละ 300 บาท 300 บาท และ 400 บาทตามลำดับมารวมเป็นฐานคำนวณบำเหน็จด้วย ขอให้จำเลยจ่ายบำเหน็จส่วนที่ขาดจำนวน 3,600 บาท3,900 บาท และ 2,000 บาทตามลำดับ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยได้จ่ายบำเหน็จให้แก่โจทก์รับไปแล้วบางส่วน ซึ่งเป็นการจ่ายตามข้อบังคับของจำเลยที่มีอยู่ แสดงว่าจำเลยจะต้องทราบข้อบังคับดังกล่าวดีแล้วเพียงแต่จำเลยไม่นำค่าครองชีพมารวมคำนวณบำเหน็จให้โจทก์ที่ 2 ที่ 4และที่ 5 เท่านั้น โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 จึงฟ้องให้จำเลยจ่ายบำเหน็จเฉพาะส่วนที่ขาด โดยตามฟ้องได้ระบุจำนวนค่าครองชีพที่โจทก์แต่ละคนได้รับในแต่ละเดือน และจำนวนเงินที่จำเลยจ่ายขาดไปดังกล่าวเป็นการบรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา และคำขอบังคับในส่วนนี้ พอที่จำเลยจะเข้าใจได้แล้วจึงไม่เคลือบคลุม…
จำเลยอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า ในคำฟ้องและคำให้การไม่ปรากฏวิธีคำนวณบำเหน็จในชั้นพิจารณาโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ไม่นำสืบให้เห็นวิธีคำนวณดังกล่าว และเมื่อศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานในเรื่องนี้ โจทก์ทั้งสามดังกล่าวก็ไม่คัดค้าน ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวิธีการคำนวณบำเหน็จจึงไม่มีในสำนวน ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยถึงการคำนวณบำเหน็จโดยเอาค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่โจทก์ทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกสำนวน ไม่ชอบด้วยกฏหมาย พิเคราะห์แล้ว ปรากฏว่าในสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จดังจำเลยอุทธรณ์ ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าค่าครองชีพเป็นค่าจ้างต้องนำมารวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณบำเหน็จ เมื่อจำเลยไม่นำมารวมคำนวณ จำเลยจึงจ่ายบำเหน็จให้โจทก์ขาดไปเท่ากับค่าครองชีพที่โจทก์ได้รับแต่ละเดือนคูณด้วยจำนวนปีที่โจทก์แต่ละคนทำงาน จึงเป็นการวินิจฉัยคดีโดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ไม่มีสำนวน ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(2) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 กรณีจึงต้องย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานและวินิจฉัยข้อเท็จจริงต่อไปว่า ตามข้อบังคับของจำเลยได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณบำเหน็จว่าอย่างไร ค่าครองชีพเป็นค่าจ้างที่จะต้องนำมารวมคำนวณบำเหน็จให้แก่โจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5หรือไม่ และโจทก์แต่ละคนดังกล่าวจะได้รับบำเหน็จเพียงใด”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางสำหรับคำขอของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ในส่วนที่เกี่ยวกับบำเหน็จโดยให้ศาลแรงงานกลางสืบพยานและวินิจฉัยหลักเกณฑ์กับวิธีการคำนวณบำเหน็จของโจทก์ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ตามนัยดังกล่าวแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share