แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงานฯ และคำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งต้องควบคุมดูแลตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา แต่โจทก์กลับไม่ควบคุมดูแลตรวจหลักฐานตามรายงานซีเอ็มเอฟ 15 จนเป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินไปไม่นำเข้าเป็นรายได้ของจำเลยและปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบในการขอติดตั้งโทรศัพท์ จนมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย
การลงโทษพนักงานที่กระทำผิดวินิจฉัยไม่ร้ายแรงตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงานฯ ข้อ 58 นั้น ผู้บังคับบัญชามีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือน ตามที่พิจารณาเห็นเหมาะสม และเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะนำเหตุลดหย่อนโทษมาประกอบการพิจารณาหรือไม่ก็ได้ แม้จะเคยมีการลงโทษผู้กระทำผิดวินัยที่คล้ายคลึงกับการกระทำผิดของโจทก์ด้วยการภาคทัณฑ์ ก็มิได้หมายความว่าผู้บังคับบัญชาจะลงโทษสถานอื่นนอกจากภาคทัณฑ์ไม่ได้ หากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการลงโทษครั้งก่อนๆ ไม่เหมาะสมก็มีอำนาจกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมได้ การที่ผู้บังคับบัญชาลงโทษโจทก์ด้วยการลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โดยไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งโจทก์ หรือการลงโทษที่ไม่เหมาะสม จึงเป็นการลงโทษที่เหมาะสมชอบด้วยข้อบังคับของจำเลยแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย ตำแหน่งโทรศัพท์จังหวัดสมุทรสาคร (นักบริหาร 8) สังกัดโทรศัพท์จังหวัดสมุทรสาคร เขตโทรศัพท์ภาคกลางที่ 2 ฝ่ายโทรศัพท์ภาคกลาง ขณะโจทก์ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐมระหว่างปี 2539 ถึงปี 2543 โจทก์แบ่งหน้าที่ให้นายศิริชัย นายรุ่งโรจน์ และนางรัชภร (ที่ถูกนายรัชกร) เป็นเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานติดตั้ง โอน ย้าย โดยให้นางรัชกรตรวจสอบรายงานค้างชำระค่าโทรศัพท์ทางไกลจากเลขหมายหนึ่งไปยังอีกเลขหมายหนึ่ง (ซีเอ็มเอฟ 15) แล้วรายงานเรื่องผิดปกติให้โจทก์ทราบ แต่นางรัชกรไม่เคยรายงานเรื่องผิดปกติในซีเอ็มเอฟ 15 ให้โจทก์ทราบ โจทก์สุ่มตรวจเลขหมายที่มีการติดตั้งในซีเอ็มเอฟ 15 พบว่ามีการกำหนดเลขหมายซ้ำกับเลขหมายที่ปรากฏในทะเบียนที่มีการติดตั้งไปแล้ว รวมทั้งมีการติดตั้งใช้งานจริงแต่ไม่มีรายการชำระเงินค้าติดตั้งและเงินประกันเข้าระบบ และพบว่านายสุรพันธ์เป็นผู้ติดตั้ง โจทก์จึงให้ดำเนินการปรับปรุงเข้าระบบก่อนที่แผนกพาณิชย์โทรศัพท์จังหวัดนครปฐมตรวจพบการติดตั้งโทรศัพท์ที่ไม่ถูกต้องไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากแผนกอุปกรณ์ตอนนอก ซึ่งดำเนินการจัดวัสดุอุปกรณ์ออกทำการติดตั้งให้ลูกค้าผู้เช่ากับแผนกอุปกรณ์ชุมสายที่เปิดเลขหมายให้ลูกค้าผู้เช่าไม่ให้ความร่วมมือ แผนกอุปกรณ์ตอนนอกและแผนกอุปกรณ์ชุมสายขึ้นต่อการบังคับบัญชาของนายชัยยุทธ โทรศัพท์จังหวัดนครปฐม ไม่ได้ขึ้นตรงต่อการบังคับบัญชาของโจทก์ จึงอยู่นอกวิสัยที่โจทก์จะตรวจสอบควบคุมได้ จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแล้ว คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีความเห็นควรลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ แต่คณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยให้ความเห็นว่ามีรายงานเลขหมายที่มีการติดตั้งโดยไม่ถูกต้องเป็นจำนวนกว่า 100 เลขหมายซึ่งจะต้องมีรายงานซีเอ็มเอฟ 15 ให้สำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐมทราบทุกเดือน หากโจทก์ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอก็จะพบการทุจริต โจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาไม่ทราบว่ามีเลขหมายที่ติดตั้งไม่ถูกต้อง ปล่อยให้มีการกระทำผิดต่อเนื่องเป็นเวลานานจนกระทั่งแผนกพาณิชย์โทรศัพท์จังหวัดนครปฐมผู้ตรวจพบ จึงมีความเห็นลงโทษโจทก์จากโทษภาคทัณฑ์เป็นลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ซึ่งต่อมาจำเลยได้ออกคำสั่งที่ 292/2545 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 (ที่ถูก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2545) ให้ลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น คำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยข้อเท็จจริงและไม่เป็นธรรมเนื่องจากการกระทำผิดที่ก่อให้เกิดความเสียหายนั้นไม่ได้เกิดจากผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์โดยตรง แต่ได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นภายในโทรศัพท์จังหวัดนครปฐม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงอยู่นอกวิสัยที่โจทก์ตรวจสอบควบคุมได้ โจทก์ไม่ควรรับผิดหรือรับผิดไม่เกินกว่าโทษภาคทัณฑ์ตามที่จำเลยเคยมีคำสั่งลงโทษพนักงานที่มีลักษณะการกระทำเช่นเดียวกับโจทก์ประกอบกับคณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยมิใช่คณะกรรมการสอบสวนหรือคณะกรรมการที่มีอยู่ตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย จึงไม่มีอำนาจเสนอความเห็นให้ลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น การที่จำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากโจทก์ไม่ถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โจทก์จะต้องได้รับขึ้นขั้นเงินเดือนปีละ 2 ขั้นหรือขั้นครึ่ง เนื่องจากโจทก์ไม่เคยกระทำผิดวินัย มีผลงานดีมาตลอด โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเพียงปีละ 1 ขั้น ซึ่งเป็นไปตามการเลื่อนไหลของการทำงานปกติ โดยโจทก์ควรจะได้รับเงินเดือน 58,980 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนกันยายน 2547 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,669,530 บาท แต่โจทก์ถูกลงโทษทางวินัยทำให้โจทก์ได้รับเงินเดือนจากเดิมเดือนละ 58,980 บาท เหลือ 49,150 บาท ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2545 ถึงเดือนกันยายน 2547 เป็นเงินทั้งสิ้น 1,573,900 บาท โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 125,630 บาท และโจทก์ควรจะได้รับเงินต่างตอบแทน (โบนัสและเงินเพิ่มพิเศษ) ตามการเลื่อนไหลของขั้นเงินเดือนจำนวน 366,786.73 บาท แต่โจทก์ได้รับ จำนวน 299,156.49 บาท โจทก์จึงได้รับความเสียหายเป็นเงิน 67,630.24 บาท รวมความเสียหายทั้งสิ้น 193,260.24 บาท ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนคำสั่งที่ 292/2545 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 (ที่ถูก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2545) เรื่องลงโทษพนักงานในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ ให้จำเลยพิจารณาโทษทางวินัยเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ว่าไม่เป็นความผิด หรือหากพิจารณาว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่โดยไม่ควบคุมการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้พิจารณาลงโทษโจทก์ให้ถูกต้องและเป็นธรรมโดยให้เป็นไปตามบรรทัดฐานตามที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอความเห็นควรให้ลงโทษภาคทัณฑ์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 193,260.24 บาท และให้จำเลยมีคำสั่งปรับขึ้นขั้นเงินเดือนของโจทก์ตามการเลื่อนไหลของเงินเดือนและตามโครงสร้างระบบงานของจำเลย
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ ขณะโจทก์เป็นผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐมระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2539 จนถึงปลายปี 2543 โจทก์มีหน้าที่ต้องควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยอย่างเคร่งครัด ซึ่งต้องทำการตรวจสอบเอกสารซีเอ็มเอฟ 15 ที่เป็นรายงานค้างชำระค่าโทรศัพท์ทางไกลแต่โจทก์กลับไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชา โดยปล่อยให้นายศิริชัยเจ้าหน้าที่รับเรื่องและประมาณการติดตั้งโทรศัพท์และจ่ายงานการติดตั้งโทรศัพท์ปลอมเอกสารใบประมาณการติดตั้งโทรศัพท์ ใบสั่งบริการโดยใช้ใบเสร็จรับเงินอื่นมาปิดงาน ปล่อยให้นายรุ่งโรจน์รับฝากเงินค่าติดตั้งและค่าประกันโทรศัพท์จากลูกค้าผู้เช่าแล้วนำเงินส่งเข้าเป็นรายได้ของจำเลยล่าช้า และปล่อยให้นางรัชกรซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลใบสั่งบริการไม่ดำเนินการให้ถูกต้อง ปล่อยให้แฟ้มประวัติเลขหมายลูกค้าผู้เช่าสูญหายซึ่งเกิดขึ้นนานหลายเดือนแล้ว แต่โจทก์กลับไม่ตรวจสอบหาข้อบกพร่องและหาทางแก้ไขจนกระทั่งแผนกพาณิชย์โทรศัพท์จังหวัดนครปฐมตรวจพบว่ามีรายการใช้โทรศัพท์ทางไกลผิดปกติจำนวนมากปรากฏในซีเอ็มเอฟ 15 จึงแจ้งให้สำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐมนำเอกสารต่าง ๆ มาตรวจสอบพบว่ามีเลขหมายโทรศัพท์จำนวนมากที่ไม่มีการชำระเงินค่าติดตั้งและมีค่าใช้บริการโทรศัพท์โดยไม่มีใบแจ้งหนี้เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าผู้เช่า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเลขหมายที่ติดตั้งตามโครงการขยายโทรศัพท์ 800,000 เลขหมาย และมีเลขหมายโทรศัพท์ที่ยังไม่มีการชำระเงินค่าติดตั้งและค่าประกันอีก 30 รายการ เป็นเงิน 238,600.22 บาท กับเลขหมายที่มีการชำระเงินค่าติดตั้งและค่าประกันแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระค่าทางสายเกิน 5 รายการเป็นเงิน 28,462 บาท และแฟ้มของผู้เช่าหลายเลขหมายสูญหายไป จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งได้สอบสวนแล้วได้ความตามข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ซึ่งสอบสวนนายรุ่งโรจน์ นายสุรพันธ์ นางรัชกร นายศิริชัย นายยนต์และโจทก์โดยเสนอให้ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์เนื่องจากความเสียหายเป็นผลมาจากการกระทำโดยพลการของผู้ใต้บังคับบัญชา โจทก์และความสมยอมของผู้เช่าที่ฝากเงินมาชำระแทน โจทก์จึงไม่สามารถตรวจสอบได้ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ต่อมาคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยมีความเห็นเพิ่มเติมว่าโจทก์บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้มีการกระทำผิดอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานอันเป็นการกระทำผิดข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 ข้อ 30 จนกระทั่งแผนกพาณิชย์โทรศัพท์จังหวัดนครปฐมเป็นผู้ตรวจพบจึงเห็นควรลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น มีผลตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2545 โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้วเห็นว่าโทษที่โจทก์ได้รับเหมาะสมแล้วเนื่องจากเมื่อเกิดการทุจริตขึ้นในฐานะผู้บังคับบัญชาจะต้องรับผิดชอบด้วยฐานบกพร่องต่อหน้าที่ประกอบกับจำเลยมีนโยบายลงโทษผู้บังคับบัญชาให้ได้รับโทษมากขึ้นในกรณีปล่อยปละละเลยให้มีการกระทำผิดเกิดขึ้นด้วย สมควรยกอุทธรณ์ของโจทก์ คำสั่งของจำเลยถูกต้องและเป็นธรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยรับผิดค่าเสียหายในส่วนที่เป็นเงินเดือนและเงินต่างตอบแทน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งบริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 292/2545 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2545 (ที่ถูก วันที่ 26 พฤศจิกายน 2545) เรื่องลงโทษพนักงานในส่วนที่ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น โดยให้ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์แทน กับให้จำเลยชดใช้เงินเดือนที่โจทก์ควรได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำนวน 125,630 บาท และนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำนวน 54,900 บาท และให้จำเลยชดใช้เงินโบนัสที่โจทก์ควรได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 (ที่ถูก วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546) จำนวน 67,630.24 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า เดิมจำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทรัฐวิสาหกิจต่อมาแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐม ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 และคำสั่งของจำเลยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาตามใบสมัคร ข้อบังคับและคำสั่ง ปรากฏว่ามีการใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลสูงผิดปกติ มีเลขหมายที่ทำการติดตั้งใหม่ไม่ชำระค่าติดตั้งจำนวน 30 รายการ เป็นเงิน 238,600.22 บาท เลขหมายที่มีการชำระค่าติดตั้งและค่าประกันแล้วแต่ยังไม่ได้ชำระค่าทางสายเกิน 5 รายการ เป็นเงิน 28,462 บาท และแฟ้มเอกสารของผู้เช่าหลายเลขหมายสูญหายไป จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงและสอบสวนทางวินัยโจทก์ นายศิริชัย นางรัชกร นายรุ่งโรจน์ นายยนต์ นายสุรพันธ์ ตามรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยที่เสนอความเห็นลงโทษโจทก์โดยภาคทัณฑ์ คณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยเห็นควรลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ต่อมาจำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง จำเลยยกอุทธรณ์ซึ่งโจทก์ทราบคำสั่งแล้ว ปัญหาว่า โจทก์บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่รับผิดชอบ ควบคุม ดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายหรือไม่จำเลยนำสืบว่าขณะโจทก์เป็นผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐมมีหน้าที่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย แต่โจทก์กลับไม่ตรวจสอบรายงานซีเอ็มเอฟ 15 ปล่อยให้มีการติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์ที่ยังไม่ชำระเงินค่าติดตั้งและค่าประกัน 30 รายการ เป็นเงิน 238,600.22 บาท และเลขหมายที่มีการชำระเงินค่าติดตั้งและค่าประกันแล้วแต่ยังไม่ชำระค่าทางสายเกิน 5 รายการ เป็นเงิน 28,462 บาท ซึ่งแผนกพาณิชย์โทรศัพท์จังหวัดนครปฐมตรวจพบและขอให้จำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงซึ่งผลการสอบสวนพบว่านายศิริชัย นายรุ่งโรจน์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่บริการติดตั้งโอนย้ายโทรศัพท์ รับเงินค่าติดตั้งและเงินค่าบริการจากผู้เช่าแล้วไม่นำส่งเข้าเป็นรายได้ของจำเลย นางรัชกร ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดทำรายการบริการและดูแลแฟ้มเลขหมาย ละเลยให้มีการทำใบสั่งบริการในนามของตนเองโดยไม่ถูกต้องหรือไม่ควบคุมดูแลแฟ้มเลขหมายเป็นเหตุให้แฟ้มเลขหมายสูญหายจำนวนหลายเลขหมาย นายสุรพันธ์ นายช่างแผนกอุปกรณ์ตอนนอกมีส่วนร่วมกับนายศิริชัยและนายรุ่งโรจน์รับชำระค่าติดตั้งและเงินประกันจากลูกค้าแล้วไม่นำส่งเข้าเป็นรายได้ของจำเลย ตามรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริง ต่อมาจำเลยตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอความเห็นให้ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ คณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยเห็นควรให้ลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น ซึ่งจำเลยมีคำสั่งลงโทษโจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยกอุทธรณ์โจทก์ โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้แบ่งงานในหน้าที่ให้นายศิริชัย นายรุ่งโรจน์ กับนางรัชกรและพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์มีหน้าที่รับผิดชอบตามรายงานการประชุม นายศิริชัยกับนายอนวัชเป็นเจ้าหน้าที่รับใบสั่งบริการคำร้องขอติดตั้งโทรศัพท์ โดยนายศิริชัยเป็นผู้รับผิดชอบรับคำร้องขอติดตั้งและทำใบประมาณการค่าใช้จ่ายแล้วส่งเรื่องให้โจทก์อนุมัติ เมื่อโจทก์อนุมัติแล้วนายศิริชัยจะเรียกให้ลูกค้าไปชำระเงินที่ห้องการเงินและนายศิริชัยจะส่งเรื่องให้นายรุ่งโรจน์ออกใบงานจำนวน 3 ฉบับ โดยฉบับหนึ่งให้แผนกอุปกรณ์ตอนในหรือแผนกอุปกรณ์ชุมสายเป็นผู้เปิดเลขหมายให้ลูกค้า แผนกอุปกรณ์ตอนนอกเบิกอุปกรณ์แล้วไปติดตั้งโทรศัพท์ให้ลูกค้าซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้ขึ้นตรงต่อโทรศัพท์จังหวัดนครปฐม เมื่อติดตั้งโทรศัพท์ให้ลูกค้าก็ต้องให้ลูกค้าลงนามในใบงานแล้วแผนกอุปกรณ์ตอนนอกและแผนกอุปกรณ์ตอนในต้องตรวจสอบว่าการติดตั้งโทรศัพท์ใช้งานได้เรียบร้อยแล้วรวบรวมใบงานใส่แฟ้มส่งมอบให้นางรัชกรถ่ายข้อมูลในแฟ้มแล้วส่งเรื่องให้สำนักงานใหญ่ โดยนางรัชกรเก็บข้อมูลในแฟ้มไว้ที่หน่ายงาน นายศิริชัยกับนางรัชกรเป็นผู้รับรายงานซีเอ็มเอฟ 15 ซึ่งมีอยู่ที่สำนักงานใหญ่จากแผนกพาณิชย์โทรศัพท์จังหวัดนครปฐม หากมีข้อผิดพลาดต้องแก้ไขแล้วเสนอโจทก์ลงนามอนุมัติส่งไปสำนักงานใหญ่ แต่นายศิริชัยกับนางรัชกรไม่เคยมีรายงานการแก้ไขซีเอ็มเอฟ 15 ให้โจทก์ลงนามเลย เหตุเกิดเนื่องจากแผนกอุปกรณ์ตอนนอกกับแผนกอุปกรณ์ตอนในติดตั้งโทรศัพท์กันเองโดยไม่ผ่านสำนักงานที่โจทก์รับผิดชอบทั้งลำพังพนักงานผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทุจริตก็ไม่สามารถทำได้ หากไม่มีแผนกอุปกรณ์ตอนนอกและแผนกอุปกรณ์ตอนในร่วมมือซีเอ็มเอฟ 15 เป็นเอกสารข้อมูลการใช้โทรศัพท์ทางไกลจากเลขหมายหนึ่งไปยังอีกเลขหมายหนึ่ง เห็นว่า จำเลยมีระเบียบข้อบังคับให้โจทก์ต้องปฏิบัติ ตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 และคำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา ที่โจทก์นำสืบอ้างว่านางรัชกรกับนายศิริชัยไม่เคยเสนอรายงานซีเอ็มเอฟ 15 ให้โจทก์ตรวจสอบโดยโจทก์ได้แบ่งหน้าที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ว่ามีหน้าที่อย่างไรชัดเจนนั้น แม้โจทก์จะได้แบ่งงานในหน้าที่ให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติก็ตาม แต่โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องควบคุมดูแล ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาซึ่งข้อนี้โจทก์ยอมรับต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยว่าค่าใช้จ่ายบริการโทรศัพท์ทางไกลปรากฏในซีเอ็มเอฟ 15 ซึ่งเลขหมายโทรศัพท์ที่มีการทุจริตจะปรากฏค่าใช้บริการท้องถิ่นและค่าทางไกลในซีเอ็มเอฟ 15 โดยโจทก์มอบหมายให้นางรัชกรตรวจสอบรายงานซีเอ็มเอฟ 15 ถึงความผิดปกติและรายงานให้โจทก์ทราบเพื่อจะได้ทำการแก้ไข แต่โจทก์ไม่ได้รับรายงานจากนางรัชกรเรื่องดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบซีเอ็มเอฟ 15 แต่โจทก์กลับอ้างว่าโจทก์ไม่เคยได้รับรายงานซีเอ็มเอฟ 15 จากนางรัชกรกับนายศิริชัย หากโจทก์เคร่งครัดในการปฏิบัติหน้าที่โดยดำเนินการตรวจสอบซีเอ็มเอฟ 15 สม่ำเสมอก็ต้องพบความผิดปกติในซีเอ็มเอฟ 15 เพื่อที่จำเลยตรวจหาการทุจริตได้โดยเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน และที่โจทก์นำสืบอ้างว่าความเสียหายของจำเลยเกิดจากการกระทำโดยพลการของผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์กับพนักงานแผนกอุปกรณ์ตอนนอกและแผนกอุปกรณ์ตอนในที่ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของโจทก์และเป็นความสมยอมของผู้เช่าใช้บริการโทรศัพท์นอกเหนือจากการควบคุมของโจทก์ซึ่งข้อนี้โจทก์มีหลักฐานที่แสดงว่าแผนกอุปกรณ์ตอนนอกกับแผนกอุปกรณ์ตอนในไม่อยู่ในการบังคับบัญชาของโจทก์และหากพิจารณาตามคำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ก็ระบุว่านายสุรพันธ์ ตำแหน่งนายช่าง 4 สังกัดแผนกอุปกรณ์ตอนนอก โทรศัพท์จังหวัดนครปฐม จึงเชื่อในทางที่โจทก์นำสืบว่าแผนกอุปกรณ์ตอนนอกไม่อยู่ในบังคับบัญชาของโจทก์ แม้โจทก์จะอ้างว่าไม่ต้องรับผิดชอบด้วยเหตุผลดังกล่าว แต่ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดนครปฐมที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 และคำสั่งขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา โจทก์ละเลยไม่ตรวจสอบซีเอ็มเอฟ 15 เพื่อที่จะได้พบการทุจริตการติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์ที่ยังไม่มีการชำระเงินค่าติดตั้งและค่าประกันกับเลขหมายที่มีการชำระเงินค่าติดตั้งและค่าประกันแล้วแต่ยังไม่ชำระค่าทางสายเกิน นอกจากนี้จำเลยนำสืบว่านางรัชกรเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์มีหน้าที่ควบคุมดูแลการจัดทำใบสั่งบริการและดูแลแฟ้มเลขหมาย ละเลยให้มีการทำใบสั่งบริการในนามของตนเองไม่ถูกต้องหรือไม่ควบคุมแฟ้มเลขหมายจนเป็นเหตุให้แฟ้มเลขหมายหลายเลขสูญหายตามรายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงและรายงานการสอบสวนทางวินัย โดยข้อนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นพยานหลักฐานของจำเลยดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ฟังได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 และคำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา แต่กลับไม่ควบคุมดูแลตรวจหลักฐานรายงานซีเอ็มเอฟ 15 จนเป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินไปไม่นำส่งเข้าเป็นรายได้ของจำเลยกับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติตามระเบียบในการขอติดตั้งโทรศัพท์จนเกิดมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและมิได้ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย ส่วนปัญหาว่า คำสั่งของจำเลยที่ลงโทษโจทก์เป็นธรรมหรือไม่ ข้อนี้โจทก์นำสืบว่าจำเลยเลือกปฏิบัติในการลงโทษทั้งที่เคยมีพนักงานระดับผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์จังหวัดไม่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของผู้ใต้บังคับบัญชาจำเลยลงโทษภาคทัณฑ์ตามคำสั่งแนบท้าย การลงโทษพนักงานตามเอกสารหมาย ล.23 ถึง ล.26 เป็นพนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ นอกจากนี้ไม่มีระเบียบให้มีการตั้งคณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยการตั้งคณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยจึงไม่ชอบ จำเลยนำสืบว่าจำเลยลงโทษถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับ ทั้งจำเลยมีประกาศเรื่องมาตรการลงโทษทางวินัยกรณีผู้บังคับบัญชาละเว้นการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบให้ลงโทษสถานหนัก การที่มีคณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยก็ชอบด้วยกฎหมายซึ่งคณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยก็เคยเสนอความเห็นลงโทษพนักงานที่กระทำผิดเอกสารหมาย ล.23 ถึง ล.26 เห็นว่า โจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชาบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ไม่ควบคุมดูแลให้ผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติงานตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจนมีผู้ทุจริตติดตั้งเลขหมายโทรศัพท์ที่ยังไม่มีการชำระค่าติดตั้งและเงินประกันและมีเลขหมายที่มีการชำระค่าติดตั้งและค่าประกันแล้วแต่ไม่ชำระค่าทางสายเกินเพื่อนำเข้าเป็นรายได้ของจำเลย แต่ความเสียหายก็เกิดจากการกระทำของผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์โดยพลการกับพนักงานแผนกอุปกรณ์ตอนนอกและเกิดจากความสมยอมของผู้เช่าใช้บริการโทรศัพท์ ทำให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบได้ แสดงว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อจำเลยมีบุคคลอื่นร่วมก่อและถือได้ว่าเกิดจากความบกพร่องของระบบการดำเนินงานของโจทก์ด้วย แต่เมื่อพิจารณาประกอบกับที่โจทก์นำสืบว่าเคยมีพนักงานตำแหน่งระดับเดียวกับโจทก์เคยทำผิดคล้ายคลึงกับโจทก์ จำเลยลงโทษภาคภัณฑ์ ทั้งโจทก์เคยทำคุณความดีหาที่ดินตั้งสถานที่ทำการของจำเลยให้จำเลยให้จำเลยตามหนังสือสัญญาให้ที่ดินแนบท้าย เมื่อพิจารณาคำสั่งลงโทษที่โจทก์อ้างตามคำสั่งแนบท้าย พนักงานหลายคนเป็นพนักงานระดับเดียวกันกับโจทก์และทำผิดลักษณะคล้ายคลึงกับโจทก์ ไม่ควบคุมดูแลการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชา จำเลยล้วนแต่มีคำสั่งลงโทษเพียงภาคทัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโจทก์เคยทำคุณความดีให้จำเลยโดยหาที่ดินตั้งสถานที่ทำการของจำเลยได้หลายแปลง ทั้งระเบียบข้อบังคับของจำเลย ข้อ 58 ระบุว่าพนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน หรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแต่กรณีให้เหมาะกับความผิดถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อย หรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน การที่จำเลยลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น โดยไม่นำเหตุที่โจทก์เคยทำคุณความดีให้จำเลยมาพิจารณาทั้งจำเลยเคยลงโทษพนักงานระดับเดียวกันกับโจทก์และกระทำผิดคล้ายคลึงกับโจทก์เพียงภาคทัณฑ์ แต่กลับมีคำสั่งลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน เห็นได้ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติและไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยกระทำผิดวินัยมาก่อน คำสั่งลงโทษโจทก์จึงไม่เป็นธรรม กรณีมีเหตุสมควรลดหย่อนโทษให้โจทก์ ที่จำเลยลงโทษโจทก์ถึงขั้นลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นการลงโทษที่หนักเกินไป ไม่เหมาะสมตามความร้ายแรงแห่งกรณีกระทำความผิด เห็นควรให้ลดหย่อนโทษแก่โจทก์จากลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้นเป็นภาคทัณฑ์ จึงให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 292/2545 เรื่องลงโทษพนักงานในส่วนที่ลงโทษลดขั้นเงินเดือนโจทก์ 1 ขั้น โดยให้ลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์แทน ส่วนปัญหาว่าสมควรที่โจทก์ได้รับการเลื่อนขั้นเงินเดือน เงินโบนัส และเงินเพิ่มพิเศษหรือไม่ เพียงใด โจทก์นำสืบประกอบพยานเอกสารว่าหากจำเลยลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ โจทก์ต้องได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 ทำให้โจทก์ขาดเงินเดือนที่ควรได้จำนวน 125,630 บาท และนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 ทำให้โจทก์ขาดเงินเดือนที่ควรได้จำนวน 54,900 บาท กับโจทก์ได้รับเงินโบนัสนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 (ที่ถูกวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546) ซึ่งโจทก์ขาดเงินโบนัสที่ควรได้จำนวน 67,630.24 บาท กับขาดเงินโบนัสประจำปี 2547 ที่ควรได้จำนวน 19,353.60 บาท และโจทก์ขอเกษียณก่อนกำหนดโดยจำเลยอนุมัติเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ซึ่งโจทก์ได้รับเงินเกษียณอายุก่อนกำหนด 36 เดือนของเงินเดือนสุดท้ายจำนวน 82,350 บาท รวมเป็นเงิน 2,964,600 บาท หากโจทก์ไม่ถูกลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โจทก์จะได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 91,760 บาท คูณ 36 เดือน เป็นเงินจำนวน 3,303,360 บาท ทำให้โจทก์ขาดเงินที่ควรได้จำนวน 338,760 บาท ส่วนจำเลยนำสืบว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินเดือนหรือเงินโบนัสเนื่องจากจำเลยลงโทษโจทก์โดยเป็นธรรม เมื่อคำสั่งลงโทษโจทก์ของจำเลยไม่เป็นธรรมซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้จำเลยลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ด้วยเหตุผลข้างต้น และจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าในกรณีที่จำเลยลงโทษภาคทัณฑ์โจทก์ โจทก์จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือน เงินโบนัส และเงินเพิ่มพิเศษ โดยโจทก์นำสืบรายละเอียดการได้ปรับอัตราเงินเดือน การได้รับเงินโบนัสโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงเชื่อในทางที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ขาดเงินเดือนที่ควรได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำนวน 125,630 บาท และนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำนวน 54,900 บาท กับขาดเงินโบนัสที่ควรได้นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2546 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2546 (ที่ถูกวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2546) จำนวน 67,630.24 บาท แต่สำหรับเงินโบนัสประจำปี 2547 ที่โจทก์นำสืบนั้น เห็นว่า เงินโบนัสมีลักษณะเป็นการจ่ายเงินรางวัลประจำปีโดยมีความมุ่งหมายเป็นรางวัลความดีความชอบให้พนักงานทำงานมาด้วยดีเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้พนักงานร่วมมือร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ แต่โจทก์ไม่ได้ขอให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ในคำขอท้ายฟ้อง จึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินโบนัสนั้นให้แก่โจทก์ได้ เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ส่วนที่โจทก์ขอเงินที่ขาดในการเกษียณก่อนกำหนดเป็นเรื่องค่าเสียหายในอนาคตซึ่งยังไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งสิทธิโจทก์ จึงไม่อาจให้ตามที่โจทก์ขอ
ปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยมีว่า การที่ศาลแรงงานกลางเพิกถอนคำสั่งลงโทษโจทก์ในส่วนที่ให้ลงโทษลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โดยให้ลงโทษภาคทัณฑ์แทนชอบหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ขณะทำหน้าที่ผู้จัดการสำนักงานบริการโทรศัพท์บกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ควบคุมกำกับดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามระเบียบของจำเลย ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งเป็นความผิดทางวินัย ก่อนลงโทษโจทก์ คณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยได้พิจารณาแล้วเห็นว่าโจทก์บกพร่องต่อหน้าที่อย่างมาก ปล่อยให้มีการกระทำความผิดต่อเนื่องเป็นเวลานานมีมติให้ลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นการให้ความเห็นต่อผู้มีอำนาจลงนาม และเป็นโทษที่ไม่ร้ายแรงอยู่ในกลุ่มเดียวกับโทษภาคทัณฑ์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็พิจารณาเห็นว่าโทษทางวินัยนั้นเหมาะสมแล้วจึงเห็นควรยกอุทธรณ์ของโจทก์ซึ่งการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นไปโดยอาศัยอำนาจตามข้อบังคับของจำเลยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 ข้อ 72 จึงเป็นคำสั่งที่ชอบและมีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหารของจำเลยที่จะกำหนดโทษ ลงโทษ หรือเพิ่มโทษพนักงานผู้ใต้สังกัดตามความร้ายแรงแห่งการกระทำความผิดของแต่ละเรื่องซึ่งเป็นเรื่องการจัดการของฝ่ายบริหารที่จะกำหนดโทษดังกล่าวตามระเบียบและกรอบของกฎหมายที่วางไว้ ศาลจึงไม่มีอำนาจให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 292/2545 กับให้จำเลยชดใช้เงินเดือนที่เพิ่มขึ้นและเงินโบนัสแก่โจทก์ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลย เมื่อโจทก์กระทำผิดวินัย อำนาจในการพิจารณาโทษทางวินัยย่อมเป็นของจำเลย ศาลแรงงานจะเข้าไปตรวจสอบดุลพินิจของจำเลยได้ก็ต่อเมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจในการลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นต้นว่าขัดต่อระเบียบข้อบังคับอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ไม่สุจริต กลั่นแกล้งหรือไม่สมเหตุสมผลอย่างชัดแจ้ง สำหรับกรณีของโจทก์ก็ปรากฏว่าโจทก์ในฐานะผู้บังคับบัญชามีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 กับต้องปฏิบัติตามคำสั่งองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บังคับบัญชา แต่กลับไม่ควบคุมดูแลตรวจหลักฐานรายงานซีเอ็มเอฟ 15 จนเป็นเหตุให้มีการทุจริตยักยอกเงินไปไม่นำส่งเข้าเป็นรายได้ของจำเลย กับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติเป็นตามระเบียบในการขอติดตั้งโทรศัพท์จนเกิดมีการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบและมิได้ควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยจนเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายซึ่งเป็นความผิดวินัยดังที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยมา ส่วนโทษสำหรับผู้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้น ข้อบังคับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2536 ข้อ 58 วรรคหนึ่ง ระบุว่า “พนักงานผู้ใดกระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ผู้บังคับบัญชาสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนตามควรแก่กรณีให้เหมาะกับความผิด ถ้ามีเหตุอันควรลดหย่อนจะนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษก็ได้ แต่สำหรับการลงโทษภาคทัณฑ์ให้ใช้เฉพาะกรณีกระทำผิดวินัยเล็กน้อยหรือมีเหตุอันควรลดหย่อนซึ่งยังไม่ถึงกับจะต้องถูกลงโทษตัดเงินเดือน” ซึ่งแสดงว่าโทษผู้กระทำผิดวินัยที่ยังไม่ถึงขั้นเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงนั้นผู้บังคับบัญชาย่อมมีอำนาจสั่งลงโทษภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือนหรือลดขั้นเงินเดือนสถานใดสถานหนึ่งก็ได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาตามความเหมาะสม และแม้จะมีเหตุอันควรลดหย่อนผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษจะนำมาประกอบพิจารณาลงโทษด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณาตามความเหมาะสมอีกเช่นกัน ข้อบังคับดังกล่าวมิได้ระบุว่าเหตุอย่างไรเป็นเหตุอันควรลดหย่อนและมิได้บังคับให้ผู้บังคับบัญชาจะต้องนำมาประกอบการพิจารณาลงโทษเสมอไป การที่จำเลยโดยผู้บังคับบัญชาของโจทก์สั่งลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น โดยมิได้ระบุถึงมีเหตุอันควรลดหย่อนหรือไม่ จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับดังกล่าว และแม้ว่าก่อนจะมีการสั่งลงโทษโจทก์ จำเลยจะได้แต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองการลงโทษทางวินัยเพื่อกลั่นกรองว่าโทษที่คณะกรรมการสอบสอบสวนทางวินัยเสนอมาเหมาะสมหรือไม่ คณะทำงานดังกล่าวก็มีอำนาจพิจารณากลั่นกรองและให้ความเห็นเกี่ยวกับโทษทางวินัยที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอมาดังที่ปรากฏในคำสั่งของจำเลย เท่านั้น ผู้บังคับบัญชาผู้สั่งลงโทษไม่จำต้องถือตาม การที่คณะทำงานดังกล่าวช่วยเสนอความเห็นเพื่อกลั่นกรองโทษที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยเสนอมาอีกชั้นหนึ่งจึงเป็นการเพิ่มความรอบคอบในการปฏิบัติงานของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งลงโทษและมิได้เป็นการฝ่าฝืนต่อข้อบังคับของจำเลยแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้นโจทก์ยังมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งลงโทษดังกล่าวได้ด้วยแม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งลงโทษโจทก์จะยกอุทธรณ์ของโจทก์ แต่ก็เห็นได้ว่าในการพิจารณาลงโทษทางวินัยโจทก์ได้มีการปฏิบัติตามข้อบังคับของจำเลยโดยถูกต้อง แม้จะปรากฏว่าการกระทำผิดคล้ายคลึงกับโจทก์เท่าที่ผ่านมาผู้บังคับบัญชาของผู้กระทำความผิดจะลงโทษเพียงภาคทัณฑ์ แต่ก็มิได้หมายความว่าหากมีการกระทำความผิดเช่นนี้เกิดขึ้นอีกจะลงโทษสถานอื่นนอกจากโทษภาคทัณฑ์ไม่ได้แล้ว เพราะหากผู้บังคับบัญชาเห็นว่าการลงโทษครั้งก่อน ๆ ยังไม่เหมาะสมและเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมก็ย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีพฤติการณ์ในการกลั่นแกล้งโจทก์จึงยังถือไม่ได้ว่าการลงโทษโจทก์โดยลดขั้นเงินเดือน 1 ขั้น เป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อการลงโทษโจทก์มิได้ขัดต่อข้อบังคับของจำเลย ไม่ปรากฏว่ามีการลงโทษโดยไม่สุจริตหรือกลั่นแกล้งโจทก์หรือการลงโทษไม่เหมาะสมที่เห็นได้ชัดแจ้งเช่นนี้จึงไม่มีเหตุที่ศาลแรงงานจะเข้าไปเปลี่ยนแปลงดุลพินิจในการลงโทษของจำเลย และเมื่อวินิจฉัยดังนี้จึงไม่มีเหตุให้จำเลยชดใช้ส่วนต่างของเงินเดือนและเงินโบนัสให้แก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง