คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1067/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม 4 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม 4 ฉบับ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับการกำหนดค่าปรับก็ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกันนั้นเป็นรายสัญญา เมื่อมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องเรียกค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,325.37 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,212.57 บาท รวมเป็นเงิน 10,537.94 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าปรับให้ 3,000 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 7,537.94 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาทซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับปัญหาในการกำหนดค่าปรับเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเห็นพ้องกับการกำหนดค่าปรับของศาลอุทธรณ์และไม่ฎีกาค่าปรับในส่วนนี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขได้ตามมาตรา 142 (5)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 กำหนดอัตราค่าปรับให้หน่วยราชการใช้และถือปฏิบัติเป็นหลักทั่วไปเพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม หากให้แต่ละหน่วยราชการต่างกำหนดค่าปรับเองกรณีผิดสัญญาก็จะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวจะเหมาะสมแก่ทุกกรณี เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเป็นความรับผิดที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์ ประกอบกับหนังสือค้ำประกันระบุว่า ยอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น และให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนซึ่งมีลักษณะต้องร่วมรับผิดอยู่แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์อย่างลูกหนี้ร่วม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทำสัญญาซื้อขายสินค้ากับจำเลยที่ 1 รวม 4 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 9 สิงหาคม 2538 ซื้อเตาอบชุบโลหะด้วยไฟฟ้า ราคา 379,850 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2539 ฉบับที่ 2 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ซื้อแท่นระดับราคา 53,500 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 15 มกราคม 2539 ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2538 ซื้อเตาอบชุบโลหะด้วยไฟฟ้าราคา 212,000 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 29 มกราคม 2539 และฉบับที่ 4 ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2539 ซื้อเครื่องม้วนโลหะราคา 743,650 บาท กำหนดส่งมอบภายในวันที่ 28 มกราคม 2540 หากผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จะต้องชำระค่าปรับร้อยละ 0.2 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบ นับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดจนถึงวันส่งมอบหรือวันบอกเลิกสัญญา ในการทำสัญญาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มามอบแก่โจทก์เพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญารวม 4 ฉบับ เป็นเงิน 18,992,50 บาท 2,675 บาท 10,600 บาท และ 37,182.50 บาท ตามลำดับ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซึ่งต้องรับผิดชำระค่าปรับ โดยสัญญาฉบับแรกต้องเสียค่าปรับนับแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2539 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2540 เป็นเงิน 104,078.90 บาท ฉบับที่ 2 ต้องเสียค่าปรับนับแต่วันที่ 16 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 20 มีนาคม 2539 ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 6,955 บาท ฉบับที่ 3 ต้องเสียค่าปรับนับแต่วันที่ 30 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 7 สิงหาคม 2539 ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 80,560 บาท และฉบับที่ 4 ต้องเสียค่าปรับนับแต่วันที่ 28 มกราคม 2540 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2541 ซึ่งเป็นวันบอกเลิกสัญญาเป็นเงิน 562,199.40 บาท รวมเป็นค่าปรับทั้งสิ้น 753,793.30 บาท โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าปรับดังกล่าวแล้ว ครบกำหนดชำระตามหนังสือทวงถามเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2541 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องเสียดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 40,116.51 บาทรวมค่าปรับและดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 793,909.81 บาท และจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามหนังสือค้ำประกันด้วย ขอให้บังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 793,909.81 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 753,793.30 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันเป็นเงิน 76,092.16 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 69,450 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับสัญญาซื้อขายฉบับลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2538 และวันที่ 2 สิงหาคม 2538 ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดสัญญาซื้อขายทั้งสี่ฉบับ เนื่องจากได้ส่งมอบเตาอบชุบโลหะด้วยไฟฟ้า 2 เครื่อง และแท่นระดับตรงตามสัญญาแล้ว แต่คณะกรรมการตรวจรับไม่ยอมรับ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับ ค่าปรับที่โจทก์เรียกเป็นเวลานานและเป็นจำนวนที่สูงเกินไปจำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบเครื่องม้วนโลหะให้แก่วิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษกมหานคร ไม่ใช่กรณีส่งมอบสิ่งของไม่ครบถ้วน โจทก์ยังไม่มีสิทธิเรียกค่าปรับรายวัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบสิ่งของให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขายแล้ว จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 138,000 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระเงินดังกล่าวร่วมกับจำเลยที่ 1 แก่โจทก์จำนวน 69,450 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 193,488 บาท ให้แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จ โดยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ เป็นเงินจำนวน 76,092.16 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 69,450 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์ให้แก่โจทก์รวม 4 ฉบับ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6, จ.15, จ.27 และ จ.35 และจำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันของจำเลยที่ 2 มาเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญามอบให้แก่โจทก์รวม 4 ฉบับ ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.11, จ.16, จ.30 และ จ.36 ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายทั้งสี่ฉบับจึงต้องเสียค่าปรับให้แก่โจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดค่าปรับให้แก่โจทก์เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาว่า การกำหนดค่าปรับอัตราร้อยละ 0.2 ของจำนวนเงินค่าสินค้าเป็นรายวันในสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.6, จ.15, จ.27 และ จ.35 เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่ได้กำหนดให้ใช้แก่ทุกหน่วยราชการและโจทก์ก็ไม่ได้มีเจตนาบอกเลิกสัญญาล่าช้า ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิดค่าปรับ ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6, จ.27 และ จ.35 เป็นเงิน 38,160 บาท, 80,000 บาท และ 68,373 บาท ตามลำดับ เป็นการลดค่าปรับที่สูงเกินส่วนอย่างมาก ส่วนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.15 ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้ 6,955 บาท ตามฟ้องโจทก์เห็นพ้องด้วย นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระค่าปรับเพราะผิดสัญญาซื้อขายรวม 4 ฉบับ โดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายรายฉบับรวม 4 ฉบับหากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับและหลักประกันสัญญาตามรายสัญญา แม้โจทก์ฟ้องบังคับตามสัญญาซื้อขายรวมกันมาทั้งสี่ฉบับ การกำหนดค่าปรับก็ต้องพิจารณาภายในวงเงินตามสัญญาซื้อขายแต่ละฉบับ จำนวนทุนทรัพย์แห่งคดีจึงต้องคำนวณแยกตามสัญญาซื้อขายและหนังสือค้ำประกันนั้นเป็นรายสัญญา ดังนั้น สัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 โจทก์เรียกร้องค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 84,846.45 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,425.23 บาท รวมเป็นเงิน 97,271.68 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้ 38,160 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 59,111.68 บาทซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 และสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.35 โจทก์เรียกร้องค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 109,618.91 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 21,201.36 บาท รวมเป็นเงิน 130,820.27 บาท ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้ 68,373 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเพียง 62,447.27 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นฎีกาของสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.35 คดีโจทก์ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.6 และ จ.35 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาในแต่ละสัญญาไม่เกินสองแสนบาท ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ที่เกี่ยวกับดุลพินิจในการกำหนดค่าปรับเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย ส่วนสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.15 โจทก์เรียกค่าปรับรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 7,325.37 บาท และหลักประกันสัญญารวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 3,212.57 บาท รวมเป็นเงิน 10,537.94 บาท ศาลชั้นต้นกำหนดค่าปรับให้ 3,000 บาท คงเหลือจำนวนค่าปรับที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เพียง 7,537.94 บาท ซึ่งถือเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ของสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.15 คดีโจทก์ตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.15 จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกินห้าหมื่นบาท ซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ของโจทก์ที่เกี่ยวกับปัญหาในการกำหนดค่าปรับเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้จึงไม่ชอบ แม้โจทก์จะเห็นพ้องกับการกำหนดค่าปรับของศาลอุทธรณ์ในส่วนนี้และไม่ฎีกาค่าปรับในส่วนนี้ ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) (โดยแก้ไขค่าปรับให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ซึ่งกำหนดค่าปรับให้โจทก์สำหรับสัญญาเอกสารหมาย จ.15 เพียง 3,000 บาท) สำหรับค่าปรับตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.27 ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดนั้น โจทก์อ้างว่า การกำหนดค่าปรับอัตราร้อยละ 0.2 ของจำนวนเงินค่าสินค้าคิดเป็นรายวันในสัญญาซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.27 เป็นไปตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ที่กำหนดให้ใช้แก่ทุกหน่วยราชการ เห็นว่า การที่ระเบียบดังกล่าวมีการกำหนดอัตราค่าปรับให้หน่วยราชการใช้และถือปฏิบัติเป็นหลักทั่วไป เพื่อให้เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรม หากให้แต่ละหน่วยราชการต่างกำหนดค่าปรับเองกรณีผิดสัญญาก็จะทำให้เกิดความลักลั่นไม่เป็นธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าอัตราค่าปรับที่กำหนดในระเบียบดังกล่าวจะเหมาะสมแก่ทุกกรณี เมื่อค่าปรับดังกล่าวเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าจึงเป็นเบี้ยปรับ หากเบี้ยปรับนั้นสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง โจทก์สั่งซื้อเครื่องม้วนโลหะตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.27 จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบสินค้าให้โจทก์ แต่ได้ความจากนายประดิษฐ์ อดีตผู้รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคกาญจนาภิเษก พยานโจทก์ว่า วิทยาลัยไม่ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา แต่ต้องคืนงบประมาณให้แก่โจทก์แสดงว่าการที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบเครื่องม้วนโลหะในขณะนั้นน่าจะมีผลกระทบต่อการเรียนการสอนไม่มากนัก ทั้งหากทางวิทยาลัยยังมีความต้องการและเป็นประโยชน์ต่อราชการของวิทยาลัยก็ยังสามารถที่จะขอตั้งงบประมาณจัดซื้อต่อไปได้ตามวิธีงบประมาณดังเช่นที่หน่วยราชการปฏิบัติกันทั่วไป นอกจากนี้โจทก์บอกเลิกสัญญาหลังจากสัญญาครบกำหนดแล้วถึง 378 วัน นับว่าเป็นเวลานานมากโจทก์ไม่สามารถนำพยานมาสืบให้เห็นว่าโจทก์เสียหายเพียงใด ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าปรับให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.27 เป็นเงิน 80,000 บาท ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าปรับตามสัญญาซื้อขายทั้งสี่ฉบับเป็นเงิน 38,160 บาท, 3,000 บาท, 80,000 บาท และ 68,373 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 189,533 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ในลักษณะร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่โดยโจทก์ฎีกาว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายจึงต้องรับผิดตามสัญญาซื้อขาย ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันอีกส่วนหนึ่ง ความรับผิดของจำเลยทั้งสองแยกเป็นเอกเทศต่อกัน หาใช่ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วยนั้น เห็นว่า ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ต่อโจทก์ตามหนังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.11, จ.16, จ.30 และ จ.36 เป็นความรับผิดที่เกิดจากการปฏิบัติผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ต้องเสียค่าปรับตามสัญญาซื้อขายแก่โจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเป็นความเสียหายจากการผิดสัญญาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น เงินที่ระบุในหนังสือค้ำประกันเป็นแต่เพียงหลักประกันเบื้องต้นเพื่อให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 จะปฏิบัติตามสัญญา หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโจทก์จะได้รับชดใช้ค่าเสียหายอย่างน้อยก็คือเงินที่เป็นหลักประกันนั่นเองในฐานเป็นจำนวนน้อยที่สุดแห่งค่าเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 วรรคสอง ประกอบกับตามหลังสือค้ำประกันเอกสารหมาย จ.11, จ.16, จ.30 และ จ.36 ระบุได้ความว่า ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนโดยไม่มีเงื่อนไขที่จะค้ำประกันชนิดเพิกถอนไม่ได้เช่นเดียวกับลูกหนี้ชั้นต้น นอกจากนี้ยังยินยอมให้โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 2 ได้ทันทีโดยไม่ต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนซึ่งก็มีลักษณะต้องร่วมรับผิดอยู่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 189,533 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 25 มีนาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share